‘บ้านร้าง’ ในญี่ปุ่น คนท้องถิ่นไม่ต้องการ แต่เป็นขุมทรัพย์ของชาวต่างชาติ

‘บ้านร้าง’ ในญี่ปุ่น คนท้องถิ่นไม่ต้องการ แต่เป็นขุมทรัพย์ของชาวต่างชาติ

“อะกิยะ” หรือ “บ้านร้าง” ในชนบทของญี่ปุ่นกำลังเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติรุ่นใหม่ที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีเงินมากนัก เนื่องจากมีราคาถูกราคาไม่ถึงล้านบาท และมีให้เลือกมากมาย ขณะที่คนในพื้นที่กลับไม่ต้องการ ย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง และชอบบ้านใหม่มากกว่า

ราคาอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกมีราคาสูงขึ้น จนคนรุ่นใหม่ไม่สามารถทำความฝัน ซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ ส่งผลให้พวกเขาชะลอการสร้างครอบครัวออกไป และปักหลักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่ถ้าหากใครกำลังมองหาบ้านราคาถูก ที่ “ญี่ปุ่น” ยังมี “อะกิยะ” (Akiya) หรือ “บ้านร้าง” กำลังรอให้ชาวต่างชาติจับจองเป็นเจ้าของในราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท

 

  • คนทิ้งบ้าน ย้ายเข้าเมือง

ด้วยสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ผลักให้ผู้คนต้องอพยพจากพื้นที่ชนบทเข้าไปทำงานในเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ และในปัจจุบันจำนวนประชากรที่ลดลงเรื่อยๆ โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นลดลงเหลือ 1.26 คนต่อผู้หญิง 1 คน อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าจำนวนเด็กแรกเกิด ทำให้เกิดปัญหาบ้านร้างในเขตชานเมืองของญี่ปุ่น

ตามข้อมูลการสำรวจที่อยู่อาศัยและที่ดินในปี 2561 ของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า มีบ้านร้าง หรือ “อะกิยะ” ประมาณ 8.5 ล้านหลังทั่วประเทศ คิดเป็นประมาณ 14% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมด โดยสถาบันวิจัยโนมูระ หรือ NRI คาดการณ์ว่าภายในปี 2576 สัดส่วนของบ้านร้างอาจเกิน 30% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น

โดยริชาร์ด คู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ NRI ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อะกิยะเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990

ขณะที่ คริส แม็คมอร์แรน รองศาสตราจารย์ในภาควิชาภาษาญี่ปุ่นศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวไว้ว่า ปัญหาบ้านร้างในญี่ปุ่นจะแย่ลงไปอีก เพราะประชากรกำลังลดลงเรื่อยๆ 

อะกิยะจึงเป็นขุมทรัพย์ของชาวต่างชาติที่กำลังอยากเป็นเจ้าของบ้านสักหลังในต่างประเทศในราคาถูก 

  • คนญี่ปุ่นไม่ชอบบ้านมือสอง

คูชี้ให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นชอบซื้อบ้านที่เพิ่งสร้างใหม่มากกว่า และไม่ชอบการ “รีโนเวท” หรือปรับปรุงบ้านใหม่ นอกจากนี้ ปัญหาด้านความแข็งแรงของโครงสร้างยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล (ในสายตาคนญี่ปุ่น) เนื่องจากอะกิยะส่วนใหญ่ถูกสร้างมาก่อนการออกกฎหมายมาตรฐานอาคาร ซึ่งจำเป็นต้องสามารถต้านทานแผ่นดินไหวเมื่อ ปี 1981 

อีกทั้งเจ้าของบางคนลังเลที่จะรื้อถอนบ้านที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ญาติบางคนก็ไม่อยากได้มรดกจากบรรพบุรุษเนื่องจากมองว่าเป็นภาระ ต้องเสียทั้งค่าใช้จ่าย และมีความยุ่งยากในการรีโนเวท และบำรุงรักษาบ้าน

ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการอาศัยอยู่ในชนบท เพราะไม่มีอาชีพให้ทำ ไม่เกิดโอกาสในชีวิต อีกทั้งแม็คมอร์แรน กล่าวเสริมว่า อะกิยะทำลายภูมิทัศน์โดยรอบ “ไม่มีใครอยากอยู่หมู่บ้านที่มองไปทางไหนก็เจอแต่บ้านร้างหรอก

นาตาชา ดูรี นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ลงพื้นที่สำรวจในเมืองกิฟุ ในญี่ปุ่น กล่าวว่า แม้ว่าเธอจะรู้จักคนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นที่ซื้อ และปรับปรุงอะกิยะอยู่บ้าง แต่คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะใช้ชีวิตในบ้านร้างเหล่านั้น

ขณะเดียวกันกฎหมายสิทธิในทรัพย์สินของญี่ปุ่นทำให้รัฐบาลไม่มีสิทธิแทรกแซงหรือสั่งให้เจ้าของบ้านร้างจัดการสิ่งก่อสร้างก่อนปี 2558 ได้ อีกทั้งอะกิยะหลายหลังถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานานแล้ว ทำให้ไม่สามารถตามหาเจ้าของบ้านได้

“รัฐบาลทำได้แค่ตามหาเจ้าของบ้านเหล่านี้ และก็ไม่รู้ว่าเจ้าของที่แท้จริงเป็นใคร พอไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่ก็ทำอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องทิ้งให้บ้านร้างอยู่แบบนั้น” คูกล่าว

 

  • บ้านร้าง สวรรค์ชาวต่างชาติ

เอริค แม็คแอสกิล เจ้าของอะกิยะชาวแคนาดา กล่าวว่า เงินที่เขาลงทุนซื้อ และปรับปรุงบ้านร้างในญี่ปุ่น ถูกกว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในแคนาดาหลายเท่า เขาจึงไม่อยากพลาดโอกาสนี้ไป

จากข้อมูลของสมาคมอสังหาริมทรัพย์แห่งแคนาดา ระบุว่า ราคากลางของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในย่านเมืองแวนคูเวอร์ เมื่อเดือนธ.ค.2566 ประเทศแคนาดาอยู่ที่ 866,620 ดอลลาร์ หรือราว 30 ล้านบาท 

เมื่อเดือนก.ย.2566 แม็คแอสกิลซื้ออะกิยะขนาด 5 ห้องนอนในราคา 23,600 ดอลลาร์ หรือราว 785,000 บาท จังหวัดนากาโนะ และได้ใช้เงิน 7,400 ดอลลาร์ สำหรับปรับปรุงบ้าน หรือประมาณ 260,000 บาท

ขณะที่คู่รัก จายา และ ชิฮิโระ เธอร์สฟิลด์ ที่ย้ายจากอังกฤษไปญี่ปุ่น ได้ซื้ออะกิยะในจังหวัดอิบารากิด้วยราคา 30,000 ดอลลาร์ และใช้เงินซ่อมแซมไปประมาณ 150,000 ดอลลาร์ แต่ก็ยังมองว่าเป็นตัวเลือกที่ประหยัดกว่าการซื้อบ้านในลอนดอนอยู่ดี

ส่วนเทค คุโรซาวา และ โจอี สต็อกเกอร์แมนส์ ไม่มีกำลังซื้อบ้านในสหรัฐที่มีราคาสูง แต่เขาสามารถซื้อบ้านร้างในเมืองคิวชูได้ในราคา 42,000 ดอลลาร์ เมื่อเดือนมิ.ย.2023 ที่ผ่านมา โดยวางแผนที่จะใช้เป็นบ้านพักตากอากาศและเปิดให้เช่าในช่วงสั้นๆ อีกทั้งยังเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจด้วยการเปิด Akiyamart เว็บไซต์ค้นหาอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติ

ปาร์กเกอร์ อัลเลน ซีอีโอ Akiya and Inaka บริษัทจัดหาอะกิยะให้แก่ชาวต่างชาติกล่าวว่า คนต่างชาติไม่ได้สนใจว่าบ้านร้างจะมีประวัติอะไร มักจะชอบบ้านที่ใกล้กับทะเลหรือภูเขา และยิ่งเก่ายิ่งดี

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บ้านร้างจะเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก แต่ทัศนคติของคนในท้องถิ่นที่มีต่ออะกิยะก็ยังไม่เปลี่ยนจากเดิมนัก ดูรีกล่าว

“คนในพื้นที่จำนวนมากที่ฉันคุยด้วยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชาวต่างชาติกำลังให้ความสนใจกับอะกิยะ และพวกเขาแปลกใจที่เป็นเช่นนั้น” ดูรี กล่าว

 

ที่มา: AsahiBusiness InsiderSouth China Morning Post