วิกฤติ ‘บ้านร้าง’ ในญี่ปุ่น เมื่อคนรุ่นใหม่เมินดูแล ‘มรดกรุ่นพ่อแม่’ อาจสูญเปล่า

วิกฤติ ‘บ้านร้าง’ ในญี่ปุ่น เมื่อคนรุ่นใหม่เมินดูแล ‘มรดกรุ่นพ่อแม่’ อาจสูญเปล่า

ส่องวิธีแก้ปัญหาวิกฤติ “บ้านร้าง” หรือ “อะกิยะ” (Akiya) ของญี่ปุ่น ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ หลังคนรุ่นใหม่ไม่สนใจบ้านมรดกของพ่อแม่ปล่อยเสื่อมโทรม ด้วยการให้เงินสนับสนุนและช่วยขายต่อ

Key Points:

  • สถาบันวิจัยโนมูระ ระบุว่า ตอนนี้มี “อะกิยะ” หรือ บ้านร้างทั่วประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 11 ล้านหลัง
  • สาเหตุที่คนรุ่นหลังปล่อยให้บ้านถูกทิ้งร้าง เพราะ มองว่าเป็นภาระและไม่รู้ต้องทำอย่างไร
  • ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันหาทางลดจำนวนอะกิยะ ด้วยการให้เงินสนับสนุน และเปิดช่องทางซื้อขายบ้าน เพื่อรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นเอาไว้
  • นักลงทุนบางส่วน ซื้อบ้านร้างเหล่านี้มาปรับปรุงใหม่และเปิดเป็นบ้านพักให้แก่นักท่องเที่ยว

 

จำนวนประชากรญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ตามมาด้วยคืออสังหาริมทรัพย์จำนวนมากไม่มีผู้ครอบครอง ถูกทิ้งร้างไปตามกาลเวลา ตามข้อมูลการสำรวจที่อยู่อาศัยและที่ดินในปี 2561 ของรัฐบาลญี่ปุ่น พบว่า มีบ้านร้าง หรือ “อะกิยะ” (Akiya) ประมาณ 8.5 ล้านหลังทั่วประเทศ คิดเป็นประมาณ 14% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในประเทศ เมื่อรวมพื้นที่ของอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นแล้ว มีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ของที่ดินบนเกาะคิวชูเสียอีก

แต่ในปัจจุบันมีมากกว่านั้น โดยสถาบันวิจัยโนมูระ ระบุว่า ตอนนี้มีอะกิยะมากกว่า 11 ล้านหลัง และคาดการณ์ว่าภายในปี 2576 สัดส่วนของบ้านร้างอาจเกิน 30% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น

บ้านส่วนใหญ่ที่ถูกทิ้งร้างในญี่ปุ่น ถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชนบท เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ จึงไม่ต้องการรับมรดกอสังหาริมทรัพย์จากบรรพบุรุษ โดยมองว่า “เป็นภาระ” ทำให้บ้านเหล่านี้ถูกทิ้งร้าง หรือในบางครั้งคนรุ่นลูกก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับบ้านที่เป็นมรดกของพ่อแม่

“หลายครั้งที่พ่อแม่เสียชีวิต หรือมีภาวะสมองเสื่อม โดยที่ไม่ได้สั่งเสียกับลูก ๆ ว่าจะให้ทำอย่างไรกับบ้านดี ซึ่งทำให้ลูก ๆ อาจรู้สึกผิดที่ต้องทำลายบ้านของครอบครัว และเลือกที่จะปล่อยให้มันรกร้างว่างเปล่า” ทาคามิตสึ วาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Akiya Katsuyo บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นเปิดเผย

บริษัทของวาดะจึงมีบริการให้คำปรึกษาฟรีกับผู้ที่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรกับทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อลดการเพิ่มจำนวนของอากิยะ

  • มาตรการรับมือ “อะกิยะ”

เมื่อกลายเป็นอะกิยะแล้ว มูลค่าของบ้านเหล่านี้ย่อมลดลงตามกาลเวลา จนกระทั่งไม่เหลือมูลค่า ราวกับว่าซื้อที่ดินแถมบ้านเก่า ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้คนไม่สนใจดูแลบ้านเข้าไปอีก ทั้งที่บ้านร้างเหล่านี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานแฝงอยู่ในตัวบ้านและที่ดิน ทำให้ภาคองค์กรท้องถิ่นออกมาตรการสำหรับการดูแลอะกิยะเหล่านี้

“อะกิยะที่ได้รับการบำรุงรักษาไม่ดีอาจทำให้ทัศนียภาพเสียหายได้ แต่ที่สำคัญที่สุดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยได้ หากบ้านพังถล่มลงมา โดยเราจะแจ้งต่อเจ้าของบ้านและมอบเงินให้บางส่วนสำหรับการรื้อถอน” คาซูฮิโระ นากาโอะ เจ้าหน้าที่เมืองในซากาตะกล่าว

ขณะที่ อากิระ ไดโดะ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยโนมูระ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน ทางการได้แก้ไขกฎหมายเมื่อเดือน เม.ย. 2564 อนุญาตให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถปรับขึ้นภาษีบ้านร้างเหล่านั้น หากเจ้าของบ้านไม่เพิกเฉยต่อคำขอของเทศบาลในการบำรุงรักษาหรือรื้อถอน โดยเริ่มจากเมืองเกียวโตที่มีอะกิยะมากถึง 15,000 หลัง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่มีกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ เทศบาลทั่วประเทศญี่ปุ่นได้ก่อตั้ง “ธนาคารอะกิยะ” (Akiya Bank) สำหรับรวบรวมบ้านร้างสำหรับขายหรือเช่าในราคาถูก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาครัฐในการฟื้นฟูพื้นที่ชนบทของประเทศและกำจัดอะกิยะ โดยมักจะเป็นเว็บไซต์ง่าย ๆ และมีรูปถ่ายบ้านในหลายมุมมอง อีกทั้งเทศบาลบางแห่งยังได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนให้เข้ามาช่วยกันบริหารธนาคารอะกิยะ

“ส่วนมากธนาคารอะกิยะจะดำเนินงานโดยเทศบาล ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์เลย ทำให้การทำงานของพวกเขาไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ-ผู้ขายในยุคใหม่ บริษัทของเราจึงเข้าร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อช่วยประสานงานกับลูกค้าให้ได้บ้านที่พวกเขาต้องการ” แมทธิว เคตชัม ผู้ร่วมก่อตั้ง Akiya & Inaka บริษัทจัดหาบ้านตามที่ลูกค้าต้องการ

ปัจจุบัน บริษัทของเคตชัมมีลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติทั้ง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นชาวอเมริกัน เนื่องจากค่าที่อยู่อาศัยในสหรัฐมีราคาพุ่งสูงและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พวกเขาหันมามองหาบ้านในฝันในชนบทของญี่ปุ่นที่เงียบสงบ

ขณะที่ “Minna no Zero-en Bukken” หรือ ทรัพย์สินศูนย์เยนของทุกคน เป็นบริการหาบ้านให้สำหรับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยแต่ไม่มีเงินสำหรับซื้อบ้าน ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยประมาณ 120,000 เยนต่อปี (ราว 30,000 บาท) โดยเรียว นากามุระ ผู้ก่อตั้งบริการดังกล่าว ระบุว่า ในปัจจุบันญี่ปุ่นต้องคิดถึงวิธีการนำที่ดินและอาคารกลับมาใช้ใหม่ เขาจึงต้องการเสนอโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสครอบครองสินทรัพย์อย่างเท่าเทียม

 

  • อะกิยะกลายเป็นทรัพย์สินทำกำไร

อสังหาริมทรัพย์ในชนบทของญี่ปุ่นถูกประเมินค่าต่ำไปมาก ทั้งที่สามารถสร้างมูลค่าและเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ “อเล็กซ์ เคอร์” นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น ยอมรับว่า อะกิยะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเขา แม้ว่าจะต้องใช้เงินในการบำรุงรักษาราว 700,000 ดอลลาร์ (ราว 23.7 ล้านบาท) โดยเกือบครึ่งหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ

ปัจจุบัน เคอร์เป็นเจ้าของ “โคมินกะ” บ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมถึง 40 หลัง และเปิดเป็นเกสต์เฮาส์ให้เช่าทั้งหมด และเขายังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการฟื้นฟูชนบทให้กับเจ้าของบ้านที่อาจไม่รู้ว่าบ้านเหล่านี้มีความสำคัญในแง่ความงดงามของสถาปัตยกรรม ประกอบกับธรรมชาติรอบข้างที่งดงาม ยิ่งทำให้บ้านมีราคาสูง แต่กลับถูกทิ้งร้างทั่วญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เห็นคุณค่าของบ้านเหล่านี้กลับเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ซื้ออะกิยะแล้วนำมาปรับปรุงใหม่ให้สวยงามหรูหราและอยู่อาศัยได้จริง พร้อมนำมาขายให้กับชาวต่างชาติรุ่นใหม่ หรือเปิดให้เช่าเป็นที่พักผ่าน Airbnb

ชาวต่างกับชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับบ้านเก่า และมักจบลงด้วยการทุบทิ้งและขายที่ดิน ทำให้คนรุ่นเก่าเป็นห่วงว่าวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นจะสูญหายไปพร้อมกับบ้านที่ถูกทำลาย 

“มีอสังหาริมทรัพย์ที่ยอดเยี่ยมมากมายในพื้นที่ชนบทของญี่ปุ่น เราต้องหาผู้ซื้อที่ต้องการใช้ประโยชน์จากอะกิยะเหล่านี้ และทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะ อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัฒนธรรมและธรรมชาติด้วย เป็นคุณค่าที่เราต้องการมอบให้กับลูกหลาน” วาดะกล่าวสรุป


ที่มา: Business TimesInsiderJapan Times