อีก 90 วินาทีถึงวันสิ้นโลก เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงทำเข็มนาฬิกา Doomsday ใกล้วิกฤต

อีก 90 วินาทีถึงวันสิ้นโลก เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงทำเข็มนาฬิกา Doomsday ใกล้วิกฤต

นักวิทยาศาสตร์คงเข็มเวลา 'Doomsday Clock' ปีนี้ระดับใกล้วิกฤตวันสิ้นโลก เข็มนาฬิกาอยู่ที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน บน 3 ปัจจัยเสี่ยงหลัก 'รัสเซีย-อิสราเอล-สภาพภูมิอากาศ'

ทุกๆ เดือนมกราคมของทุกปี ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านระเบิดปรมาณูในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า The Bulletin of the Atomic Scientists จะมีการประกาศเรื่องเข็มเวลาของ "นาฬิกาแห่งวันสิ้นโลก" หรือ Doomsday Clock เพื่อดูว่าโลกเหลือเวลาเท่าไรก่อนถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นวันสิ้นโลกในเชิงทฤษฎี

นาฬิกานี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1947 ในยุคสงครามเย็นที่มีการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์และเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูในสงคราม โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกที่มีส่วนร่วมในโครงการทดลองระเบิดปรมาณู หรือ "โปรเจกต์แมนฮัตตัน" ที่ต้องการให้นาฬิกานี้เป็นเครื่องเตือนให้โลกรับรู้ว่ามนุษยชาติกำลังเข้าใกล้สู่วันสิ้นโลกแค่ไหน

สำหรับในปีนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ "คงเข็มนาฬิกา" เอาไว้ในระดับวิกฤตมากที่สุดเหมือนในปีที่แล้ว คืออยู่ในระดับ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน โดยให้สาเหตุสำคัญ 3 เรื่องคือ ท่าทีของรัสเซียที่มีต่ออาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน สงครามในกาซากับอิสราเอลในฐานะรัฐนิวเคลียร์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความเสี่ยงวันสิ้นโลก

นักวิทยาศาสตร์จะประเมินการวางตำแหน่งเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกบน "ปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่จริง" ที่อาจส่งผลกระทบต่อโลกและมวลมนุษยชาติ ซึ่งได้แก่ ภัยคุกคามนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ๆ

"จุดเสี่ยงของความขัดแย้งทั่วโลกทำให้มีภัยคุกคามนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและความเสียหายเป็นวงกว้าง ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เช่น เอไอและการวิจัยทางชีววิทยาก็ก้าวหน้าไปเร็วกว่าการป้องกัน" ราเชล บรอนสัน ประธานและซีอีโอขององค์กร เดอะ บุลเลอตินฯ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม บรอนสันย้ำด้วยว่า การคงเข็มนาฬิกาที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าโลกมีเสถียรภาพ  

อีก 90 วินาทีถึงวันสิ้นโลก เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงทำเข็มนาฬิกา Doomsday ใกล้วิกฤต

ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า แนวโน้มที่เป็นสัญญาณร้ายยังคงบ่งชี้ไปสู่ความเสี่ยงหายนะ ซึ่งรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า "จีน รัสเซีย และสหรัฐ" ต่างทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อขยายหรือปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสงครามนิวเคลียร์จากความผิดพลาดหรือการคำนวณผิด 

บรอนสันกล่าวว่า การทำสงครามของรัสเซียในยูเครนที่กำลังจะครบรอบ 2 ปีในเดือนหน้า ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดกับชาติตะวันตกไปสู่ระดับที่อันตรายที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น 

"การยุติสงครามดูจะเป็นเรื่องที่ห่างไกล สวนทางกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยรัสเซียที่ยังคงมีความเป็นไปได้สูง โดยในปีที่ผ่านมา รัสเซียได้ส่งสัญญาณนิวเคลียร์ที่น่ากังวลมากมาย" บรอนสันกล่าว และอ้างถึงการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญาควบคุมนิวเคลียร์กับสหรัฐ หรือ New START เมื่อเดือนก.พ. ปีที่แล้ว ขณะที่ปัจจุบัน สหรัฐและรัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองมากที่สุดราว 90% ของทั้งหมดในโลก 

อีก 90 วินาทีถึงวันสิ้นโลก เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงทำเข็มนาฬิกา Doomsday ใกล้วิกฤต

ด้านสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในกาซา ก็เป็นอีกหนึ่งในความกังวลของทีมนักวิทยาศาสตร์เช่นกัน 

"ในฐานะรัฐนิวเคลียร์ ท่าทีของอิสราเอลมีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับการกล่าวถึงนาฬิกาวันสิ้นโลก ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ ความขัดแย้งอาจบานปลายเป็นวงกว้างมากขึ้นในภูมิภาค จนนำไปสู่สงครามอย่างเต็มรูปแบบขนาดใหญ่ และดึงดูดชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์หรือชาติที่กำลังเร่งสะสมให้เข้ามาร่วมมากขึ้น" บรอนสันกล่าว 

ขณะที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถูกเพิ่มเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงของนาฬิกาวันสิ้นโลกตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมานั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์มองว่า โลกในปี 2023 ได้ก้าวเข้าสู่ดินแดนที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน เนื่องจากเผชิญกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิพื้นผิวทะเลทั้งทั่วโลกและแอตแลนติกเหนือทำลายสถิติใหม่ และปริมาณน้ำแข็งในแอนตาร์กติกก็ลดลงแตะระดับต่ำสุดรายวันนับตั้งแต่มีข้อมูลดาวเทียม

บรอนสันกล่าวว่า แม้ปี 2023 จะเป็นปีที่ทำลายสถิติสำหรับพลังงานสะอาดด้วยการลงทุนใหม่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่การลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงมีมูลค่ารวมเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพออย่างมากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของโลก

ทั้งนี้ เดอะบุลเลอตินก่อตั้งขึ้นในปี 1945 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่รวมถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ เจ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์

ที่มา: Reuters