'เศรษฐกิจพ่นพิษ-ค่าจ้างตกต่ำ' บริษัทซอมบี้ญี่ปุ่นเสี่ยงล้มละลาย

'เศรษฐกิจพ่นพิษ-ค่าจ้างตกต่ำ' บริษัทซอมบี้ญี่ปุ่นเสี่ยงล้มละลาย

'เศรษฐกิจพ่นพิษ-ค่าจ้างตกต่ำ' บริษัทซอมบี้ญี่ปุ่นเสี่ยงล้มละลาย โดยการไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นภายใต้โครงการสินเชื่อซีโร่-ซีโร่ ทำให้บริษัทซอมบี้แบกภาระหนี้สินมหาศาลและขณะนี้บริษัทไม่มีแม้แต่เงินสดที่จะจ่ายดอกเบี้ย

จำนวน “บริษัทซอมบี้” ที่มีความไม่มั่นคงทางการเงินของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 30% ในปีงบประมาณ 2565 หรือประมาณ 250,000 แห่ง เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี เนื่องจากบริษัทผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดโควิดมาได้โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ตอนนี้บริษัทเหล่านั้นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาแบกหนี้ก้อนโต

บริษัทวิจัยเตโกกุ ดาต้าแบงก์ เผยว่า สัดส่วนธุรกิจที่ตกอับสู่สถานะบริษัทซอมบี้ เป็นเพราะธุรกิจยังไม่สามารถชำระดอกเบี้ยของหนี้สินตนเองได้ โดยดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 3.6% สู่ระดับ 17.1% อัตราดอกเบี้ยนี้เพิ่มขึ้นกว่าในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ระดับ 10% และเริ่มเข้าใกล้ระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 19.8% ในยุคหลังวิกฤติทางการเงินในช่วงปีงบประมาณ 2552-2554

จำนวนบริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เกิดขึ้นหลังรัฐบาลญี่ปุ่นขยายเวลาสนับสนุนทางการเงินฉุกเฉิน เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในช่วงการแพร่ระบาดโควิด โดยโครงการสินเชื่อซีโร่-ซีโร่ เปิดตัวในฤดูใบไม้ผลิปี 2563 ที่อนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ กู้ยืมได้โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือหลักประกันต่าง ๆ ในทันที จึงได้ออกเงินกู้ราว 2.45 ล้านสัญญา จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2565 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 43 ล้านล้านเยน

โครงการดังกล่าวช่วยให้หลายบริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนและรอดพ้นจากการล้มละลาย แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเน้นออกเงินกู้เร็ว จึงทำให้การคัดกรองบริษัทหละหลวม และทำให้บริษัทที่ไม่มีคุณสมบัติชำระสินเชื่อยังคงอยู่ต่อไปได้

หลายบริษัทกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเงินสด และใช้ประโยชน์จากการไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นภายใต้โครงการสินเชื่อซีโร่ซีโร่เป็นระยะเวลาหนึ่ง บริษัทเหล่านั้นจึงเหลือภาระหนี้สินมหาศาล และทำให้ขณะนี้บริษัทไม่สามารถแม้แต่จะจ่ายดอกเบี้ยได้เลย

“นานา โอสึกิ” จากบริษัทจัดการด้านการลงทุน Pictet Asset Management คาดว่า “ในปี 2567 หลายบริษัทอาจเผชิญกับต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้น และภาระดอกเบี้ยที่มากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น และเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นเพราะมีความเสี่ยงล้มละลายสูง”

ไซซากุ คาเมดะ อดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ตอนนี้อยู่สถาบันคลังสมอง Sompo Institute Plus เผยว่า บริษัทล้มละลายมีมากขึ้น เพราะการสนับสนุนจากนโยบายในอดีต และไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินใหม่ได้อีก

บริษัทซอมบี้ที่เพิ่มขึ้นอาจบั่นทอนการเติบโตของธุรกิจใหม่ ๆ ทำให้ค่าจ้างลดลง และตัดโอกาสแรงงานไม่ให้ย้ายไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขณะที่รัฐบาลก็เปลี่ยนจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เป็นการส่งเสริมการฟื้นตัวให้กับธุรกิจแทน อย่างไรก็ดี ความร่วมมือจากผู้ให้กู้อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพังทลายภูเขาหนี้สินเหล่านั้นได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ หรือรีไฟแนนซ์ แต่ต้องมีมาตรการที่สุดโต่งมากกว่าเดิม เช่น การยกเลิกหนี้ และช่วยให้ธุรกิจหาเจ้าของใหม่หรือขายกิจการ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของบีโอเจ ระบุว่า สถาบันการเงินอาจยังไม่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเต็มที่ ธนาคารพาณิชย์ได้กำหนดเงินสดสำรองไว้สำหรับหนี้เสียทั้งสิ้น 3.6 ล้านล้านเยนในเดือน พ.ย. 2566 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าระดับที่เคยตั้งไว้ในช่วงบริษัทซอมบี้สูงสุดในปี 2554 ประมาณ 30% อาจทำให้บริษัทซอมบี้ที่ล้มละลายได้รับผลกระทบหนักมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นที่อาจทำให้ธุรกิจซอมบี้เสี่ยงล้มละลายมากขึ้น คงหนีไม่พ้นปัญหาทางเศรษฐกิจจากภาคครัวเรือน เพราะรายได้ที่แท้จริงลดลง กระทบต่อการบริโภคและการใช้จ่าย

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มลดลง แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่รายได้ที่แท้จริงไม่ขยับเพิ่มขึ้นตาม

ข้อมูลที่รวบรวมเมื่อเดือนธ.ค. 2566 ของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุ ในไตรมาส 3 ปี 2566 ค่าจ้างที่แท้จริงในสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าเยอรมนีที่เพิ่มขึ้น 0.6% แต่ต่ำกว่าสหราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้น 1.6% บ่งชี้ว่าอัตราค่าจ้างที่แท้จริงของทั้งสามประเทศเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ส่วนในไตรมาสที่ 2 ค่าจ้างที่แท้จริงของสหรัฐเติบโตเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส

แต่ค่าจ้างที่แท้จริงในญี่ปุ่นกลับดิ่ง 2.6% ในไตรมาส 3 ซึ่งลดลงเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันแล้ว

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงช่วยหนุนให้ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีอีไอ) ของสหรัฐเติบโตแตะระดับสูงสุดที่ 8.6% ในไตรมาส 2 ของปี 2565 และลดลงสู่ระดับ 3.5% ในไตรมาส 3 ของปี 2566 ขณะที่ซีพีไออังกฤษพุ่งสู่ระดับสูงสุด 9.4% ในไตรมาส 4 ปี 2565 ส่วนเยอรมนีก็ทะยานสูงสุดที่ 8.6% ในไตรมาสเดียวกัน จากนั้นการเติบโตของซีพีไอของทั้งสองประเทศก็ลดลงสู่ระดับประมาณ 6% ในไตรมาส 3 ปี 2566

ในแง่ของรายได้ที่เป็นตัวเงิน ค่าจ้างสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.3% ในไตรมาส 3 ของปีก่อน ขณะที่อังกฤษเพิ่มขึ้น 7.9% และเยอรมนีเพิ่มขึ้น 6.3% และรายได้ที่เป็นตัวเงินของแต่ละประเทศเติบโตเกินกว่าการเพิ่มขึ้นของซีพีไอในไตรมาสเดียวกัน

ต่างกับญี่ปุ่นที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดที่ 4.6% ในไตรมาส 4 ปี 2565 จากนั้นชอละตัวลงสู่ระดับ 3.7% ในไตรมาส 3 ของปี 2566 แต่ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% เท่านั้น

แม้อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นดูน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อีกสามประเทศข้างต้น แต่ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินเติบโตช้ามากในญี่ปุ่น บ่งชี้ถึงการเติบโตติดลบของค่าจ้างที่แท้จริง

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าค่าจ้างที่แท้จริงของญี่ปุ่นอาจเติบโตในปีงบประมาณ 2567 นี้ ซึ่งจะเริ่มนับในเดือน เม.ย. แต่ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์บางคนปรับคาดการณ์ว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของญี่ปุ่นอาจเลื่อนไปเติบโตในปีงบประมาณ 2568

เมื่อรายได้ที่แท้จริงไม่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะไม่สามารถคลายเข็มขัดการใช้จ่ายของตนเอง และจากมุมมองทางธุรกิจ สถานการณ์นี้อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่รายได้อันน่าหดหู่ทำให้ความต้องการลงทุนลดลง