ล้วงเบื้องลึก ‘อิหร่าน’ ปะทะ ‘ปากีสถาน‘ มากกว่า สุมไฟขัดแย้งตะวันออกกลาง

ล้วงเบื้องลึก ‘อิหร่าน’ ปะทะ ‘ปากีสถาน‘ มากกว่า สุมไฟขัดแย้งตะวันออกกลาง

อิหร่านกับปากีสถาน แลกเปลี่ยนโจมตีระหว่างกัน ได้จุดความสนใจคนทั่วโลก เกี่ยวกับสาเหตุความขัดแย้งแท้จริง จุดหักมุม และจะบานปลาย ลุกลามทั่วตะวันออกกลาง หรือไม่

Key Pionts 

  • อิหร่านและปากีสถาน มีศัตรูร่วมกันคือ “กลุ่มแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติมาก ที่สองประเทศต่างโจมตีกลุ่มติดอาวุธที่ฝั่งตัวอยู่บนดินแดนของกันและกัน
  • เหตุการณ์นี้  ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และทำลายจิตวิญญาณของความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานและอิหร่าน
  • มีสิ่งผิดปกติอย่างมากตรงที่ อิหร่าน และปากีสถานต่างโจมตีเป้าหมายข้ามพรมแดนกันและกันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ท่ามกลางอิสราเอลทิ้งระเบิดในฉนวนกาซา ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง
  • อิหร่านได้รับประโยชน์จากความไม่มั่นคงในตะวันออกกลาง และกำลังเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจ หรือไม่ 

เหตุการณ์อิหร่าน ยิงขีปนาวุธโจมตีปากีสถาน ทางตะวันตกใกล้ภูมิภาคโค-อี-ซับซ์ (Koh-e-Sabz) เมื่อวันอังคาร (16 ม.ค.) จากนั้นในวันพฤหัสบดี (18 ม.ค.) ปากีสถานโจมตีทางอากาศ ใกล้เมืองซาราวัน (Saravan) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน  กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังเพิ่มความตึงเครียดให้ตะวันออกกลางอย่างรวดเร็ว

สองประเทศมีพรมแดนติดกัน ทอดยาวประมาณ 900 กิโลเมตร ซึ่งฝั่งหนึ่งเป็น จ.บาลอชิสถาน (Balochistan) ของปากีสถาน อยู่ตรงข้ามกับ จ.ซิสถาน (Sistan) และ จ.บาลูจิสถาน (Baluchestan) ของอิหร่าน

  • ใครเป็นใคร บนความขัดแย้งอิหร่าน-ปากีสถาน

ทั้งอิหร่านและปากีสถาน ได้ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดน ในภูมิภาคบาลอซ มาอย่างยาวนาน โดยที่สองประเทศนี้มีศัตรูร่วมกัน เป็น “กลุ่มแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมากที่ทั้งสองประเทศ ต่างโจมตีกลุ่มติดอาวุธที่ฝั่งตัวอยู่บนดินแดนของกันและกัน

การโจมตีครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในขณะที่พันธมิตรกลุ่มกองกำลังผสมที่ใช้ชื่อว่า Axis of Resistance หรือ "กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน" ที่อิหร่านให้การสนับสนุนอยู่นั้น กำลังเคลื่อนไหวโจมตีกองกำลังอิสราเอล และพันธมิตรชาติตะวันตก ท่ามกลางฉากหลังเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา

นี่เป็นสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและปากีสถาน

การระดมยิงได้เปิดฉากในวันอังคารที่ผ่านมา   โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เหตุการณ์ปะทะระหว่างกันเกิดขึ้นเร็วมาก หลังอิหร่านเป็นผู้เริ่มลงมือก่อน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 2 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบราย ตามรายงานของทางการปากีสถาน

ขณะที่อิหร่านอ้างการกระทำ “มุ่งเป้าไปที่ผู้ก่อการร้ายชาวอิหร่าน บนดินแดนในปากีสถานเท่านั้น” โดยไม่มุ่งทำร้ายชาวปากีสถาน

แต่การโจมตีดังกล่าว จุดชนวนความโกรธแค้นในปากีสถาน ชี้ว่า เป็น “การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และทำลายจิตวิญญาณของความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานและอิหร่าน

สำนักข่าว Tasnim ของทางการอิหร่านรายงานว่า อิหร่านมุ่งเป้าโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธซุนนี จาอิช อัล-อัดล์ หรือที่รู้จักในอิหร่านชื่อ จาอิช อัล-ดุลม์ หรือ “กองทัพแห่งความยุติธรรม”

กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนกลุ่มนี้ ได้ปฏิบัติการทั้งในอิหร่านและปากีสถาน โดยก่อนหน้านี้เคยออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์โจมตีเป้าหมายในอิหร่าน หวังปลดปล่อยดินแดนใน จ.ซิสถาน และ จ.บาลูจิสถาน

ล้วงเบื้องลึก ‘อิหร่าน’ ปะทะ ‘ปากีสถาน‘ มากกว่า สุมไฟขัดแย้งตะวันออกกลาง

ประชากรส่วนใหญ่ในปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีนิวเคลียร์ส่วนใหญ่เป็นซุนนี ขณะที่อิหร่าน และกลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน ส่วนใหญ่เป็นชีอะห์

  • กดดัน - ตึงเครียดเพิ่ม จนไม่อาจต้านทาน

ปากีสถานโต้กลับสองวันต่อมา ซึ่งเรียกว่า “ปฏิบัติการทางทหารที่มีการประสานงานกันมาแล้วเป็นอย่างดี และกำหนดเป้าหมายที่แม่นยำ” ไปยังแหล่งกบดานของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายแห่ง ใน จ.ซิสถาน และ จ.บาลูจิสถาน

ในการประกาศโจมตีกลับเมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานระบุว่า ได้สังหารกลุ่มติดอาวุธจำนวนหนึ่ง และในเหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย ซึ่งเป็นชาวปากีสถานทั้งหมด  ขณะที่สำนักข่าว Tasnim รายงานอ้างผู้ว่าการ จ.ซิสถาน และบาลูจิสถาน ว่า เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสืบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จว่า กลุ่มคนเหล่านี้ “ตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้าน” ได้อย่างไร

ทางการปากีสถานย้ำว่า มีความสงสัยมานานหลายปีว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดน มีที่หลบภัยในอิหร่าน นี่เป็นสาเหตุการโจมตีเมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย

  • ทำไม เหตุการณ์ต้องเกิดขึ้นตอนนี้

การต่อสู้ของปากีสถานกับอิหร่าน กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในบริเวณชายแดนทั้งสองประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตามรายงานสำนักข่าว Tasnim ระบุว่า ตามแนวชายแดนได้มีเหตุก่อกวน และปะทะร้ายแรงเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนที่แล้ว อิหร่านกล่าวหาว่า กลุ่มติดอาวุธจาอิช อัล-อัดล์ บุกโจมตีสถานีตำรวจใน จ.ซิสถาน และบาลูจิสถาน ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่อิหร่านเสียชีวิต 11 นาย

ถึงอย่างไรนั้น มีสิ่งผิดปกติอย่างมากตรงที่ อิหร่าน และปากีสถานต่างโจมตีเป้าหมายข้ามพรมแดนกันและกันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ท่ามกลางอิสราเอลทิ้งระเบิดในฉนวนกาซา ส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่ขยายใหญ่ขึ้น อาจทำให้อิหร่านลุกขึ้นไล่ล่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่อยู่นอกประเทศตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่สหรัฐ พยายามเคลื่อนไหวให้อิหร่านหยุดการสู้รบที่รุนแรง และลดใช้กำลังทหารเพิ่มขึ้น

  • อิหร่าน หนุนหลายกลุ่มต้านอิสราเอล - สหรัฐ

ถ้าหากฉายภาพความขัดแย้งในตะวันออกลาง จะเห็นว่า หนึ่งวันก่อนการโจมตีในปากีสถาน อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธใส่อิรักและซีเรีย โดยอ้างว่า มุ่งเป้าไปที่ฐานลับของกองกำลังอิสราเอล และ “กลุ่มก่อการร้ายต่อต้านอิหร่าน”

ขณะเดียวกัน กองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ทรงอิทธิพลและได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ก็ยังคงสู้รบกันอย่างหนักและดำเนินต่อไป

ส่วนสหรัฐกำลังต่อสู้กับกบฏฮูตีในเยเมน ซึ่งเป็นกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งได้โจมตีเรือขนส่งในทะเลแดง อ้างเพื่อแก้แค้นอิสราเอล โจมตีฉนวนกาซา

“คาริม ซัดจัดด์ปูร์” นักวิชาการอาวุโส มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพสากล มองว่า ตำแหน่งที่อิหร่านยืนอยู่ ดูเหมือนสถานการณ์จะตรงกันข้ามกับประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เช่น เยเมน และซีเรีย นั่นหมายความว่า “อิหร่านได้รับประโยชน์จากความไม่มั่นคงในตะวันออกกลาง และกำลังเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจ หรือไม่"  

โดยเฉพาะจะเห็นว่า การเคลื่อนไหวของอิหร่านในเวลานี้ จะช่วยส่งเสริมเป้าหมายหลักหลายประการ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพให้ชาวปาเลสไตน์ และต่อต้านอิทธิพลสหรัฐ ในตะวันออกกลาง

  • จับจ้อง อิหร่าน บทบาทในตะวันออกลาง

“เวสลีย์ คลาร์ก” อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐ และอดีตผู้บัญชาการสูงสุดพันธมิตรนาโต กล่าวว่า สงครามต่างๆ ในตะวันออกกลาง สะท้อนให้เห็นว่า อิหร่านมุ่งมั่นจะมีบทบาทเป็นประเทศผู้ประสานสิบทิศ และชูความเป็นผู้นำภูมิภาค

“อิหร่านกำลังแสวงหาอำนาจความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค”     คลาร์กกล่าวกับซีเอ็นเอ็น ตราบใดได้เห็นสหรัฐและอิสราเอล ยังแสดงบทบาทในตะวันออกกลาง

โดยเฉพาะการที่อิสราเอล ยังคงโจมตีไล่ล่ากลุ่มฮามาส ยิ่งตอกย้ำอิหร่านให้รู้สึกว่า จำเป็นต้องตอบโต้กลับ และยืนหยัดประเทศตนเอง

  • อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

เหตุการณ์ปะทะระหว่างอิหร่านกับปากีสถาน ในสัปดาห์ที่แล้ว ได้ก่อความขัดแย้งทางการทูตของสองประเทศด้วย โดยปากีสถานเรียกเอกอัครราชทูตประจำกรุงเตหะราน กลับประเทศ และระงับการเยือนระดับสูงจากอิหร่านทั้งหมด

สำนักข่าว Tasnim รายงานว่า ทางการอิหร่านได้เรียกร้องให้ปากีสถานออกมาอธิบายทันที  เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีในวันพฤหัสบดี พร้อมกันนี้ กองทัพอิหร่านทั้งกองทัพบก เรือ อากาศ และกองกำลังภาคพื้นดินได้ฝึกซ้อมรบครั้งใหญ่ นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

ประเทศใกล้เคียงอย่างตุรกีไม่อาจนิ่งนอนใจได้  โดยรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีได้ยกหูพูดคุยกับรัฐมนตรีของสองประเทศ โดยเขาได้เผยภายหลังว่า ไม่มีประเทศใดอยากเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นอีก

ด้านอินเดียบอกว่า ตนเองจะอดทนต่อการก่อการร้ายหมดสิ้นไป และการโจมตีดังกล่าวเป็นเรื่องอิหร่านกับปากีสถาน ขณะที่จีน เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศใช้ความอดทนอดกลั้น ท่ามกลางการแสดงความกังวลของสหภาพยุโรปว่า ความรุนแรงจะทวีเพิ่มขึ้น และขยายวงกว้างในตะวันออกกลาง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ยังเรียกร้องทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น ส่วนตัวเขาไม่คิดว่า การปะทะกันครั้งนี้ จะลุกลามจนเชื่อมกับเหตุการณ์ในฉนวนกาซา เพราะเมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดในภูมิภาค เสี่ยงจะขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามหลีกเลี่ยง

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า อิหร่านหรือปากีสถานต้องการเดินไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ เหนือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ทั้งสองประเทศมองว่า “เป็นศัตรูตัวจริง”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จำเป็นต้องเชื่อมั่นท่าทีของทั้งสองฝ่าย ล่าสุดอิหร่านและปากีสถาน ต่างออกแถลงการณ์บอกเป็นนัยถึงความปรารถนาที่ไม่อยากเห็นเหตุการณ์บานปลายต่อไป

ที่มา : CNN