รู้จัก‘ไต้หวัน’ มีทุกอย่างแต่ไม่ได้เป็นรัฐเอกราช

รู้จัก‘ไต้หวัน’ มีทุกอย่างแต่ไม่ได้เป็นรัฐเอกราช

ไต้หวันกำลังเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่และสมาชิกรัฐสภา ที่ทั่วโลกจับตาอย่างใกล้ชิด ผู้ชนะจะนำพาประชาธิปไตยของประชาชน 23 ล้านคนท่ามกลางภัยคุกคามจากจีนที่อ้างว่าเกาะแห่งนี้เป็นของตน

ไต้หวัน มีสกุลเงิน ธง กองทัพ รัฐบาลเป็นของตนเอง แต่สหประชาชาติและประเทศส่วนใหญ่ไม่ยอมรับในฐานะรัฐเอกราช สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับไต้หวันไว้ดังนี้

 

ย้อนรอยสงครามกลางเมือง จีน-ไต้หวัน

ความขัดแย้งของจีนกับไต้หวันย้อนไปได้ถึงสงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นในปี 1927 ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับชาตินิยม พรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็กพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง ต้องหนีไปเกาะไต้หวัน แล้วอ้างการปกครองจีนทั้งหมดเช่นเดียวกับที่จีนอ้างกับไต้หวัน

ไต้หวันยังคงใช้ชื่อทางการว่า สาธารณรัฐจีน ส่วนแผ่นดินใหญ่ใช้ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลอำนาจนิยมมาหลายสิบปี ไต้หวันเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในทศวรรษ 1990 อัตลักษณ์อันโดดเด่นของไต้หวันได้บังเกิด

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนี้นำโดย ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน มองว่า ไต้หวันเป็นชาติเอกราชโดยพฤตินัยไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีน

แต่รัฐบาลปักกิ่งยืนยันว่า วันหนึ่งเกาะแห่งนี้จะต้องรวมเข้ากับแผ่นดินใหญ่ สุนทรพจน์วันสิ้นปี 2566 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศชัด “จีนจะต้องรวมกันเป็นหนึ่งอย่างแน่นอน”

กลับไม่ได้ ไปไม่ถึงบนเวทีโลก

สหประชาชาติ จากที่เคยยอมรับไต้หวันหันมายอมรับปักกิ่งในปี 1971 ไม่นานประเทศอื่นและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เจริญรอยตาม

รัฐบาลวอชิงตันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1979 ถึงวันนี้มีไม่ถึง 15 รัฐส่วนใหญ่เป็นรัฐเล็กๆ ในละตินอเมริกาและแคริบเบียนที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบ

ปักกิ่งกีดกันไต้หวันออกจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก และใช้ความพยายามอย่างหนักหยุดยั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ให้ยอมรับไต้หวัน

หลังจากลิทัวเนียอนุญาตให้ไทเปเปิดสถานทูตโดยพฤตินัยในกรุงวิลนิอุส เมื่อปี 2564 โดยใช้ชื่อไต้หวัน จีนก็ออกมาตรการควบคุมการค้ากับลิทัวเนีย เพิ่งยกเลิกไปบางส่วนเมื่อปีก่อน

แต่ไต้หวันอาศัยกับดักความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบคบหากับสหรัฐอย่างสบายใจ และรัฐบาลวอชิงตันเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของคองเกรสจัดหาอาวุธให้ไต้หวันได้ป้องกันตนเอง

ส่วนจีนอ่อนไหวกับการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่ชี้ว่าเป็นการยอมรับไต้หวันอย่างเป็นทางการ การเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ส.ค.2565 สร้างความเดือดดาลให้ปักกิ่ง จนต้องตอบโต้ด้วยการซ้อมรบครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีส่งเรือรบ ขีปนาวุธ และเครื่องบินรบไปรอบเกาะ

มหาอำนาจเซมิคอนดักเตอร์

สถานะทางการทูตที่คลุมเครือไม่อาจหยุดยั้งไต้หวันให้ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจจนใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียแม้ด้อยกว่าจีนก็ตาม

บริษัทใหญ่ตั้งอยู่ในไต้หวัน เช่น ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้รับจ้างผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่สุดของโลก ประกอบผลิตภัณฑ์ให้แบรนด์ดังอย่างแอปเปิ้ลและหัวเว่ย

ส่วนไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คัมพะนี (TSMC) ผลิตไมโครชิปกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตโลก ไมโครชิปเป็นเส้นเลือดของเศรษฐกิจโลก ใช้ในทุกอย่างตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์และขีปนาวุธ

 

ผู้บุกเบิกแห่งเอเชีย

ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจไต้หวันยังเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านความเสมอภาคทางเพศและ LGBTQ

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2020 ส.ส.ที่ได้รับเลือกเข้าไปกว่า 40% เป็นผู้หญิง สูงสุดในเอเชีย

ปี 2019 ไต้หวันเป็นที่แรกในเอเชียที่อนุญาตการสมรสเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย และจัดการแต่งงานเพศเดียวกันงานแรกภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น