พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม Quick Win ของไทย l กันต์ เอี่ยมอินทรา

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม Quick Win ของไทย l กันต์ เอี่ยมอินทรา

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หากบังคับใช้สำเร็จ อาจหนุนไทยมีภาพลักษณ์ทัดเทียมกับอีก 30 ประเทศที่มีกฎหมายนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ไทยอาจมีนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวเทศกาลต่าง ๆ มากขึ้น เม็ดเงินอาจสะพัดหลักร้อยล้านพันล้านบาท!

เสมือนข่าวดีต้อนรับปีใหม่ สำหรับผู้ที่รณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ กลุ่มเพศทางเลือก LGBTQ+ หลังจากสภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ

ถึงแม้ว่าเนื้อหารายละเอียดจะต่างกันบ้าง และในที่สุดแล้ว ผู้ที่มีเสียงข้างมากก็คงจะได้เสนอร่างของตนบรรจุเข้าเป็นกฎหมาย แต่โดยเนื้อหาและนัยสำคัญแล้ว ถือว่าเป็นก้าวแรกที่มั่นคงสำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อาทิ LGBTQ+ ทุกฝ่ายก็ต่างลุ้นให้ในที่สุดแล้วสามารถคลอดออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้จริง ตามที่หลายพรรคการเมืองใช้เป็นหนึ่งในเรือธงในการหาเสียง

การรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศนี้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะพูดเป็นการส่วนตัวแล้ว ตั้งแต่เขียนคอลัมน์นี้มา ผมก็หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเขียนทุกปี ชี้ให้เห็นประโยชน์ทั้งในเชิงตัวเลขหรือแม้กระทั่งเหตุผลในเชิงคุณภาพ แต่กฎหมายก็ไม่ไปถึงไหน ถูกต้องที่กรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จได้ภายในหนึ่งวัน และด้วยความหวังว่าปีนี้จะเป็นปีที่เรามีกฎหมายที่ก้าวหน้าออกมาใช้เสียที

ผลประโยชน์ที่รัฐบาลไทยจะได้รับในเชิงคุณภาพนั้นคือ เครดิตและภาพลักษณ์ของประเทศ ที่โดยจริตหรือโดยพฤตินัยของเรานั้นเป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกศาสนาอยู่แล้ว เพราะคนไทยใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใสมีน้ำใจที่ดี คนไทยไม่ได้รังเกียจหรือมีหลักศาสนาที่ไม่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ หรือแม้กระทั่งค่านิยมของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ยอมรับคนกลุ่มนี้มากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งการออกมาแสดงตัวตนของผู้มีชื่อเสียงในสังคม

แต่ถึงไทยเราจะมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรมากกับกลุ่ม LGBTQ+ และยังเป็นประเทศที่คนกลุ่มนี้ที่มีกำลังซื้อสูง (มีเงินมาก) เข้ามาเที่ยว แต่กฎหมายของเรายังไม่เอื้อเท่าไรนัก หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกที่มีกฎหมายที่ก้าวหน้า ยอมรับตัวตนของคนกลุ่มนี้

ยกตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดก็คือ “ไต้หวัน” ที่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ หรือแม้กระทั่งประเทศในยุโรปที่หลักศาสนาคริสต์มีความเข้มงวดอย่าง “โปรตุเกส” ก็ยังมีกฎหมายคุ้มครอง

ดังนั้น หากสภาคลอดและบังคับใช้กฎหมายนี้ได้สำเร็จ สำหรับผมจะถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของสภาชุดนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับอีก 30 กว่าประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายคุ้มครองความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศ และจะเป็นแห่งที่ 2 ในเอเชียต่อจากไต้หวัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในเชิงการตลาด และจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ผลประโยชน์ที่รัฐบาลและคนไทย จะได้รับในเชิงเศรษฐกิจนั้นคือ “เม็ดเงิน” ที่จะพรั่งพรูเข้าประเทศ จากเดิมที่ไทยก็เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ด้วยเพราะความสวยงามของประเทศ ความอิสระเสรี เทศกาลงานรื่นเริงที่มากมายที่ถือเป็นทุนเดิม กับการพัฒนาโปรโมตของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคเอกชน ที่ตั้งใจจะให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงาน White Party หรือเทศกาลสงกรานต์ ที่ตอนนี้ติดลมบนเป็นที่นิยมทั่วโลกแล้ว

การมีกฎหมายที่ก้าวหน้านี้จะตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นมิตรต่อคนกลุ่มนี้ให้เกิดความชัดเจนโดดเด่นยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน เม็ดเงินของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่มีหลักฐานทางสถิติชัดเจนว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เพราะใช้เงินมากกว่านักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ย ก็จะเข้ามาเพิ่มสภาพคล่องให้ประเทศของเรา เรียกว่าเพิ่มทั้งจำนวนและคุณภาพของนักท่องเที่ยว เพราะเม็ดเงินใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวนั้นเพิ่มขึ้น

ผมเคยเขียนถึงการจัดงาน Pride parade ในต่างประเทศและเม็ดเงินรายได้จำนวนมหาศาลที่เข้ามาหมุนในระบบในช่วงการจัดงานสั้นๆ อาทิ Pride Parade ที่ไบรท์ตัน เมืองตากอากาศเล็กๆ ริมทะเลของอังกฤษ ที่มีเม็ดเงินหมุนถึง 900 ล้านบาท หรือที่นครลอสแองเจอลิสของสหรัฐ ที่มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 2,600 ล้านบาท

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือผลประโยชน์ที่ชัดเจนเห็นเป็นตัวเลข เกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็น Quick win ที่ใช้ทรัพยากรน้อย แต่เมื่อทำแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ดีมาก ยังไม่นับผลประโยชน์ที่วัดได้ยาก อย่างการหลั่งไหลเข้ามาพำนักถาวร หรือการเพิ่มโอกาสให้ไทยเป็นทางเลือกหลังวัยเกษียณของคนกลุ่มนี้