ควบรวม = ผูกขาด? ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม l กันต์ เอี่ยมอินทรา

ควบรวม = ผูกขาด?  ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่ม l กันต์ เอี่ยมอินทรา

หลังสองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ "ดีแทค" และ "ทรู" ควบรวมกิจการ ก็เกิดเสียงลือกระหึ่มว่าสัญญาณโทรศัพท์ช้า ค่าบริการแพงขึ้น แม้ถูกมองว่าเป็นเสียงบ่นของคนจำนวนไม่มาก แต่ทว่าความเห็นเหล่านั้น ตรงกับรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI

เสียงบ่นเรื่องของการผูกขาดทางการค้าจากการควบรวมกิจกรรม ระหว่าง DTAC (ดีแทค) และ TRUE (ทรู) สองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ และผลพวงต่อการควบรวมนี้เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

เสียงบ่นจากชาวบ้านคนเดินดินถึงราคาที่ต้องจ่ายแพงขึ้น สัญญาณความแรงของอินเทอร์เน็ตที่ลดลง ตลอดจนการดูแลลูกค้าที่ดูเหมือนว่าจะแย่ลงนั้นอาจเป็นเพียง “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” หรือก็อาจจะถูกมองว่าเป็นแค่เสียงของคนจำนวนไม่มากที่ได้รับผลกระทบ หากแต่เสียงบ่นเหล่านั้นกลับสอดรับตรงกันกับรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI

TDRI เป็นองค์กรวิชาการที่น่าเชื่อถือเพราะมีทั้งหลักการและมันสมอง เรียกว่าเป็นสถาบันที่อ่านเกมขาดและหลายครั้งก็ออกมากระตุกเตือนภาครัฐและประชาสังคมถึงผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และจากกรณีการควบรวมสองค่ายสัญญาณมือถือยักษ์ใหญ่นี้ TDRI ก็ได้ออกโรงมากระตุกเตือนสังคมมานานแล้ว ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในเชิงทฤษฎีและทางปฎิบัติซึ่งในปัจจุบันก็ได้เกิดขึ้นจริง ตรงตามที่ TDRI เคยออกมาเตือน

ในต่างประเทศนั้น จะมีกฎหมายป้องกันการผูกขาด มีดัชนีการการจุกตัว (Herfindahl-Hirschman Index: HHI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความผูกขาดในเชิงโครงสร้าง ซึ่งค่าสูงสุดคือ 10,000 จุด ซึ่ง TDRI ชี้ว่าเมื่อเกิดการควบรวมแล้วดัชนีนี้เพิ่มขึ้นจาก 3,659 มาอยู่ที่ 5,012 หรือแปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า ส่วนแบ่งการตลาดเมื่อรวมกันแล้วคือ 52% กลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาดโดยอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นระดับที่อันตราย

เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยที่มีระบบตลาดแบบเสรีแน่นอน เพราะถึงแม้ระบบตลาดเสรีจะปล่อยให้กลไกตลาดดำเนินไปโดยเสรี แต่ก็ยังต้องมีการกำกับจากรัฐ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยคือ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือในกรณีการโทรคมนาคมนี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

แล้วความไร้สามารถในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดของหน่วยงานเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างไร? สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วก็คือ ค่าบริการมือถือ/เน็ตที่แพงขึ้น ความเร็วเน็ตที่ช้าลง การบริการที่แย่ลง หรือแม้กระทั่งอาจจะกลับไปสู่ยุคที่มีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย เช่น การล็อก IMEI เครื่องโทรศัพท์ทำให้เกิดการบังคับขายพ่วง ทั้งยังไม่ต้องพูดถึงความหวังในการสร้างสภาพแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรม เพราะในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว ความจำเป็นในการแข่งขันก็ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จาก TDRI ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญและถือเป็นผู้จับตาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้ประมาณการว่า หากการควบรวมนี้สำเร็จจนเหลือผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 รายแล้ว ค่าบริการอาจจะปรับสูงขึ้นถึง 33% ซึ่งนักวิชาการอื่นๆ อีกหลายท่านต่างเห็นตรงกัน ซึ่งก็จะกลายเป็นภาระของประชาชน ที่จะต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ถือเป็นยุคข้าวยากหมากแพงอย่างแท้จริง

ยังไม่ต้องพูดถึงท่าทีของการรวมกันของอีกฟาก ระหว่าง AIS และ 3BB ที่แต่เดิมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านนั้นมีอยู่4 ราย คือ AIS ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 14% และ 3BB มี 29.4% และ True มี 37% และ NT 15.9% และอื่นๆ 3.1% ดังนั้น หากเกิดการควบรวมกันจะทำให้ AIS+3BB (เดิม) ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 43.4% กลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด และเหลือผู้เล่นที่มีนัยสำคัญเพียง 3 ราย โดยในราย NT หรือชื่อเดิมคือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันก็มีบทบาทน้อยเหลือเกินอยู่แล้ว

จนแทบจะเรียกได้ว่าตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน อาจจะถูกกำหนดโดยสองผู้เล่นรายใหญ่อย่าง TRUE และ AIS แบบเดียวกับสัญญาณมือถือ ถึงแม้ว่าในทางเทคนิคแล้วยังมีผู้ให้บริการรายอื่นอยู่ ซึ่งผู้จะได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ “ประชาชน”

เป็นเรื่องปกติที่บริษัทเอกชนจะหาหนทางวิธีในการทำรายได้และกำไรเพิ่ม นี่คือกลไกตลาดในโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน แต่การทำกำไรเหล่านั้นก็ไม่ควรเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป จึงเกิดเป็นที่มาของการควบคุมจากรัฐ รัฐมีหน้าที่ในการรักษากติกา ทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรม และเมื่อรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้แล้ว ประชาชนจึงสมควรออกมาปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง