ชำแหละ 'เทคฯ หัวเว่ย' สะท้อนสหรัฐคว่ำบาตร หนุนจีนพัฒนาชิป ล้ำก้าวกระโดด

ชำแหละ 'เทคฯ หัวเว่ย' สะท้อนสหรัฐคว่ำบาตร หนุนจีนพัฒนาชิป ล้ำก้าวกระโดด

เทคอินไซด์ ชำแหละโน้ตบุ๊กหัวเว่ย พบใช้ชิปไต้หวัน ไม่ใช่ชิปล้ำสมัยของจีนตามที่หลายคนคาดการณ์ แต่ชิป 7 นาโนเมตร ในหัวเว่ย Mate 60 สะท้อนการคว่ำบาตรด้านเทคฯของสหรัฐ หนุนจีนพัฒนาชิปล้ำก้าวกระโดด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า หลังชำแหละแล็ปท็อปรุ่นล่าสุดของหัวเว่ย พบว่า ใช้ชิปที่ผลิตโดยไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง โค หรือทีเอสเอ็มซี (TSMC) ขัดแย้งกับข่าวลือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน

เทคอินไซด์ ธุรกิจวิจัยในแคนาดา รื้อชิ้นส่วนโน้ตบุ๊ก Qingyun L540 พบว่า ชิปประมวลผล Kirin 9006C เป็นชิปล้ำสมัย 5 นาโนเมตร ที่ผลิตโดยทีเอสเอ็มซีในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐคว่ำบาตร ตัดขาดการเข้าถึงผู้ผลิตชิปของหัวเว่ย และเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า พาร์ตเนอร์หัวเว่ยไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านการผลิตชิปได้อย่างรวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้

ด้านโฆษกของหัวเว่ย และทีเอสเอ็มซียังไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อข่าวนี้

  • จีนจ่อพัฒนาชิปล้ำก้าวกระโดด

หัวเว่ยได้สร้างความปั่นป่วนในสหรัฐ และจีนเมื่อเดือนส.ค.2566 เมื่อบริษัทเปิดตัวสมาร์ตโฟนพร้อมชิปประมวลผล 7 นาโนเมตร ที่ผลิตโดยเอสเอ็มไอซี (SMIC) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้สร้างความปิติยินดีทั่วทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีน และแสดงถึงศักยภาพของการคว่ำบาตรสหรัฐที่กลับหนุนให้จีนผลิตชิปล้ำได้เอง

อย่างไรก็ตาม การรื้อชิ้นส่วนโทรศัพท์โดยเทคอินไซด์ แสดงให้เห็นว่า ชิปของหัวเว่ย Mate 60 Pro เป็นชิปที่ล้าหลังกว่าชิปล้ำสมัยไม่กี่ปีเท่านั้น และความล้ำหน้าที่รวมอยู่ในสมาร์ตโฟน Mate 60 ในปี 2565 ตอกย้ำบทบาทของหัวเว่ยในฐานะผู้นำตลาดที่พยายามลดการพึ่งพาเทคโนโลยีตะวันตก และสร้างทางเลือกในประเทศเอง

ขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนก็แห่ซื้อสมาร์ตโฟนหัวเว่ยในไตรมาสสุดท้าย ช่วยฟื้นรายได้บริษัทสู่ระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์ และแย่งส่วนแบ่งตลาดไอโฟนไปด้วย

 

นอกจากนี้ การใช้ชิป 5 นาโนเมตรในแล็ปท็อปรุ่นใหม่ บ่งบอกได้ถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดของหัวเว่ยเช่นกัน และแสดงให้เห็นความก้าวหน้าของบริษัทที่เข้าใกล้การผลิตชิปประมวลผลล้ำสมัยที่สุดที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ขนาด 3 นาโนเมตร

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าหัวเว่ยจัดซื้อชิปประมวลดังกล่าวอย่างไร แต่บริษัทกักตุนเซมิคอนดักเตอร์ตั้งแต่สหรัฐเริ่มตัดขาดการเข้าถึงชิ้นส่วนประกอบและอุปกรณ์ทั่วโลก และขณะที่หัวเว่ยอยู่ในบัญชีดำของรัฐบาลวอชิงตันตั้งแต่ปี 2562 บริษัทก็กลายเป็นธุรกิจเพียงแห่งเดียวที่ทีเอสเอ็มซีเลิกรับออเดอร์ เพื่อดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ

นับแต่นั้น หัวเว่ยก็ทุ่มทุนวิจัยชิปมหาศาล และกักตุนชิปตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็สร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ และพาร์ตเนอร์การผลิตในประเทศ บางกรณีก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์