เปิด 4 จุดเดือดโลก ปี 67 ‘ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์’

เปิด 4 จุดเดือดโลก ปี 67 ‘ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์’

ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งปีช็อกโลกด้วยสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ดูแววแล้วปี 2567 น่าจะเดือดต่อเนื่อง รวมไปถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ที่ดำเนินมาก่อนหน้านั้น

สงครามอิสราเอล-ฮามาส 

เริ่มต้นจากวันที่ 7 ต.ค. มือปืนฮามาสหลายร้อยคนข้ามพรมแดนจากกาซาบุกเข้ามาในอิสราเอล คร่าชีวิตประชาชนราว 1,140 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน จับเป็นตัวประกันอีกราว 250 คน ถือเป็นการโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล สร้างความรวดร้าวให้กับประเทศและช็อกโลก

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศ “ทำลายล้าง” ฮามาส ด้วยการโจมตีทางอากาศในกาซาตามด้วยการสู้รบทางบก  เจ็ดสัปดาห์ต่อมาทั้งสองฝ่ายเห็นชอบหยุดยิงหนึ่งสัปดาห์ โดยฮามาสปล่อยตัวประกัน 150 คนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก อิสราเอลปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ 240 คน

ด้วยเกรงว่าฮามาสจะตั้งตัวติด อิสราเอลกลับมาสู้รบอีกโดยหันไปเน้นพื้นที่ตอนใต้ของกาซา รวมถึงพื้นที่ที่เคยประกาศเป็น “เซฟโซน” ก่อนหน้านี้

สหรัฐพันธมิตรเหนียวแน่นของอิสราเอล ยับยั้งข้อมติเรียกร้องหยุดยิงในสหประชาชาติแต่ก็วิจารณ์อิสราเอลมากขึ้นทุกขณะที่ทิ้งระเบิดแบบ “ไม่เลือกหน้า” 

ข้อมูลจากทางการกาซา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. สงคราม 12 สัปดาห์ พลเมืองกาซาเสียชีวิตกว่า 21,000 คน บาดเจ็บ 55,000 คน พลัดถิ่น 1.9 ล้านคน ส่วนตัวประกันเหลืออยู่ในกาซาอีก 129 คน ตามข้อมูลของอิสราเอล เชื่อว่าเสียชีวิตราว 20 คน

 ล่วงเข้าปี 2567 เป้าหมายสงครามของเนทันยาฮูและยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำฮามาสแห่งกาซาไม่น่าจะสัมฤทธิ์ผล การต่อสู้ยิ่งทำให้ดินแดนปาเลสไตน์เสียหายมากขึ้นและอิสราเอลยึดครองอย่างไม่สิ้นสุด 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซินวาร์ต้องการแลกเปลี่ยนตัวประกันที่ฮามาสและพันธมิตรจับตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. กับนักโทษชาวปาเลสไตน์หลายพันคน, ยุติการปิดล้อมกาซาทั้งจากฝั่งอิสราเอลและอียิปต์ และผลักดันการตั้งรัฐปาเลสไตน์

ผู้บัญชาการกองทัพอิสราเอลคาดว่าสงครามจะยาวนานหลายเดือน แม้สงครามสิ้นสุดเร็วในปี 2567 อิสราเอลจะมีแนวโน้มคงกำลังทหารไว้ต่อไป สร้างความไม่พอใจในหมู่พันธมิตร ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ยังคงแออัดยัดเยียดกันบริเวณชายแดนอียิปต์

เนทันยาฮูยังไม่มีแผนการสำหรับกาซาหลังสงคราม แต่รัฐบาลของเขาบอกกับรัฐอาหรับหลายรัฐว่า ต้องการทำเขตกันชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีแบบวันที่ 7 ต.ค. ได้อีก

ดูเหมือนว่าไม่มีองค์กรปาเลสไตน์ที่อิสราเอลยอมรับได้จะเข้าครอบครองกาซาในเร็วๆ นี้ ฮามาสเองก็ไม่ยอมสูญเสียการควบคุม ชาติอาหรับส่วนใหญ่ไม่ปรารถนาเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นทำให้อิสราเอลยึดครองกาซาได้ต่อไปโดยยังไม่มีการฟื้นฟูบูรณะที่แท้จริง

เนทันยาฮูและอิสราเอลต้องเผชิญความเสี่ยงหากส่งทหารเข้าไปทำสงครามในเขตเมือง และโลกจะหันมาต่อต้านพวกเขา แต่ความเสี่ยงสำหรับซินวาร์นั้นอาจมากยิ่งกว่า

ถ้ารอดชีวิตมาได้ผู้นำฮามาสรายนี้ต้องอยู่กับดินแดนกาซาที่พังทลาย ฐานทัพถูกถล่มยับเยินและชาวปาเลสไตน์ที่หิวโหยไร้บ้าน

“ผมไม่คิดว่าจะมีใครกระหายยืนหยัดและยึดครองกาซามากไปกว่าอิสราเอล ดังนั้นหนทางที่เป็นจริงในวันข้างหน้าซึ่งผมไม่ได้สนับสนุนด้วยเลยแม้แต่น้อย คือการที่อิสราเอลกลับมายึดครองอีกครั้ง มันยากมากที่อิสราเอลจะถอนตัวออกจากกาซา”จูสต์ อาร์ ฮิลเตอร์แมน ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจากอินเตอร์เนชันแนลไครสิสกรุ๊ปให้ความเห็น

สงครามรัสเซียในยูเครน

เดือน ก.พ.2567 ความขัดแย้งในยูเครนจะเข้าสู่ปีที่ 3 ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาแนวรบเปลี่ยนแปลงไปมาก ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ยอมรับว่าการรุกรบในฤดูใบไม้ผลิไม่ประสบความสำเร็จอย่างใจหวัง รัสเซียยังคงควบคุมพื้นที่ราว 18% ของยูเครน

สำนักข่าวบีบีซีสอบถามความเห็นนักวิเคราะห์การทหารสามรายถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2567

บาร์บารา ซานเชตตา จากคณะสงครามศึกษา คิงส์คอลเลจลอนดอน ยังไม่เห็นวี่แววสงครามยุติ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน วลาดิมีร์ ปูติน แข็งแกร่งขึ้นทางการเมืองมากกว่าการทหาร

สถานการณ์ในสมรภูมิยังคงไม่แน่นอน เมื่อเร็วๆ นี้การรุกรบในฤดูหนาวของยูเครนดูเหมือนชะงักงัน แต่รัสเซียก็ทำอะไรไม่ได้มากเช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นผลของสงครามขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางการเมืองในวอชิงตันและบรัสเซลส์ ที่ห่างไกลออกไปจากศูนย์กลางความขัดแย้ง

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างน่าประทับใจของตะวันตกที่แสดงออกมาในปี 2565 ยาวนานต่อเนื่องตลอดปี 2566 เริ่มสั่นคลอน ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐถูกการเมืองภายในเล่นงาน ส่วนอนาคตความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ดูเหมือนถูกฮังการีขัดขวาง ยิ่งรัฐบาลชาติตะวันตกลังเล ดูเหมือนจะยิ่งเข้าทางปูติน

ไมเคิล คลาร์ก อดีตอธิบดี Royal United Services Institute มองว่า โดยพื้นฐานปี 2567 จะเป็นปีแห่งการรวบรวมพละกำลังของทั้งเคียฟและมอสโก 

รัสเซียนั้นขาดอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลที่ผ่านมาฝึกฝนเพื่อเปิดการสู้รบเชิงยุทธศาสตร์ จนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิ 2568 อย่างเร็วที่สุด ขณะเดียวกันยูเครนจำเป็นต้องได้ความช่วยเหลือทางการเงินและการทหารจากตะวันตก พร้อมๆ กับเสริมสร้างความแข็งแกร่งสำหรับเงื่อนไขการสู้รบเพื่อปลดปล่อยในอนาคต

นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า สงครามยุคอุตสาหกรรมคือการต่อสู้ระหว่างสังคม สะท้อนให้เห็นในสนามรบ ปฏิบัติการทางทหารของสงครามในปี 2567 จะถูกตัดสินในมอสโก เคียฟ วอชิงตัน บรัสเซลส์ ปักกิ่ง และเปียงยาง มากกว่าตัดสินกันในแนวหน้า

เบน ฮอดจ์ส อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐในยุโรป กล่าวว่า รัสเซียขาดความสามารถจะเอาชนะยูเครนได้อย่างเด็ดขาด จึงทำเท่าที่ทำได้ด้วยการยึดครองยูเครนต่อไปแล้วใช้เวลานี้สร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพ พร้อมกับหวังว่าชาติตะวันตกจะไม่อยากสนับสนุนยูเครนอีกต่อไป แต่ยูเครนจะไม่หยุด ต้องสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยทราบดีว่ารัสเซียจะทำอะไรถ้าตนหยุดสู้ ส่วนชาติยุโรปขณะนี้กำลังคุยกันมากขึ้นถึงความจำเป็นที่ต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้วยกังวลว่า การช่วยเหลือของสหรัฐกำลังอ่อนแรงลง

ช่องแคบไต้หวัน

สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันช่วงหลังดูเหมือนร้อนแรงขึ้นนับตั้งแต่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2565 กระตุ้นให้จีนซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันถี่ขึ้น ส่งเครื่องบินรบบินข้ามเส้นมัธยฐานในช่องแคบไต้หวันบ่อยขึ้น แม้ในภาพรวมนักวิเคราะห์มองว่า ทั้งจีน ไต้หวัน และสหรัฐ คงยังรักษาสถานภาพเดิมกันไว้เช่นนี้ แต่การที่รัสเซียบุกยูเครนทำให้ชาติตะวันตกกังวลกันมากว่า จีนอาจทำแบบนี้กับไต้หวันบ้างก็ได้

ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 31 ม.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แสดงสุนทรพจน์ปีใหม่ “การรวมมาตุภูมิเป็นหนึ่งเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้” แต่บทแปลภาษาอังกฤษที่สำนักข่าวซินหัวรายงานใช้ประโยคที่ง่ายขึ้น“จีนจะรวมกันเป็นหนึ่งอย่างแน่นอน ชาวจีนทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันควรผูกพันกันด้วยสำนึกแห่งจุดมุ่งหมาย และแบ่งปันความรุ่งโรจน์แห่งการฟื้นฟูชาติจีนด้วยกัน”

ถ้อยแถลงของสีถือว่าแข็งกร้าวขึ้นกว่าปีก่อน ร้อนถึงประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวันต้องออกมาแถลงตอบโต้ว่า หลักการสำคัญที่สุดในการมีความสัมพันธ์กับจีนคือประชาธิปไตย

“นี่คือการนำเจตนารมณ์ร่วมของประชาชนไต้หวันมาตัดสินใจ เหนือกว่าอะไรทั้งหมด เราคือประเทศประชาธิปไตย” ประธานาธิบดีไช่กล่าวและว่าจีนควรเคารพผลการเลือกตั้งของไต้หวัน และเป็นความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน

ทั้งนี้ ไต้หวันจะเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 13 ม.ค. ประธานาธิบดีไช่ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ดำรงตำแหน่งมาครบสองวาระแล้ว ลงสมัครต่อไม่ได้ รองประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ลงสมัครในนามพรรคดีพีพีโดยมีคะแนนนำมาในทุกโพล ซึ่งจีนมองว่าไล่เป็นนักแบ่งแยกดินแดนที่อันตรายเช่นเดียวกับไช่ และทั้งพรรคดีพีพีและก๊กมินตั๋งพรรคฝ่ายค้านใหญ่สุด ต่างพูดตรงกันว่า มีเพียงประชาชนไต้หวันเท่านั้นที่สามารถตัดสินใจอนาคตของตนเอง

สงครามกลางเมืองเมียนมา

สงครามกลางเมืองในเมียนมาเริ่มขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 รัฐบาลทหารปราบปรามการประท้วงต้านรัฐประหารอย่างเหี้ยมโหด กระตุ้นให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต้องต่อสู้กับกองทัพทั่วประเทศ เปิด 4 จุดเดือดโลก ปี 67 ‘ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์’

กองทัพเมียนมาถูกกล่าวหาว่าทิ้งระเบิดไม่เลือกหน้า ทั้งคณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติ (ไออาร์ซี) และองค์กร International Crisis Group (ไอซีจี) เกรงว่า ยุทธวิธีนี้จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในปี 2567 เมื่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมารุกคืบได้มากทางภาคเหนือของประเทศ

ปัจจุบันกองทัพเมียนมากำลังเผชิญความท้าทายจากพันธมิตรสามพี่น้องประกอบด้วยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง(TNLA),กองทัพอาระกัน (AA) และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA)ทางตอนเหนือของรัฐฉาน รวมถึงกองกำลังอื่นๆ ในภูมิภาคสะกายทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ, รัฐกะยา, รัฐยะไข่ และตามแนวชายแดนอินเดียทางภาคตะวันตก

“เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่กองทัพต้องสู้กับฝ่ายต่อต้านติดอาวุธอย่างดีผู้มุ่งมั่นจำนวนมากพร้อมๆ กันในหลายสนามรบ กองทัพอาจยิ่งทวีความโหดร้ายเพื่อพลิกกระแสในสนามรบ เช่น ใช้ยุทธวิธีเผาทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อตัดกำลังข้าศึกและทิ้งระเบิดอย่างไม่เลือกหน้าภายในไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้” รายงานจับตาวิกฤติฉบับล่าสุดของไอจีซีว่าไว้