หนุ่มเอเชียเริ่มใช้ 'สกินแคร์' ดันยอดขายสินค้าความงามโตเกิน 5 พันล้านดอลล์

หนุ่มเอเชียเริ่มใช้ 'สกินแคร์'  ดันยอดขายสินค้าความงามโตเกิน 5 พันล้านดอลล์

อุตสาหกรรมสกินแคร์ของผู้ชายทั่วโลกอาจมีมูลค่าแตะ 5,290 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 เนื่องจากผู้ชายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเริ่มหันไปใช้สกินแคร์ดูแลผิวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชายในจีน

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ เผยผลการศึกษาของยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนล ระบุ อุตสาหกรรมสกินแคร์ของผู้ชายทั่วโลกอาจมีมูลค่าแตะ 5,290 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 เพิ่มขึ้นจาก 4,320 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 แซงหน้าการเติบโตของอุตสาหกรรมสกินแคร์โดยรวมที่ 15.8% สู่ระดับ 175,500 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน และยอดการใช้จ่ายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของผู้ชาย 3,360 ล้านดอลลาร์จะมาจากผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

วินเซนต์ ล็อก จากสิงคโปร์ และตันแซง ลี จากกรุงโซล เกาหลีใต้ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชายเอเชียที่ซื้อสกินแคร์เพิ่มขึ้น

ล็อก นักเขียนวัย 32 ปี ซื้อสกินแคร์ดูแลผิวเช้าเย็น เช่น โฟมล้างหน้า, เซรั่ม, มอยส์เจอร์ไรเซอร์ และครีมกันแดด 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน (ราว 780 บาท)  ขณะที่ลี ตัวแทนฝ่ายขายวัย 35 ปี ใช้จ่ายไปกับสกินแคร์ 20 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 690 บาท) อาทิ โทนเนอร์, มอยส์เจอร์ไรเซอร์, โลชั่น และบีบีครีมผสมสารป้องกันแดด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกแทนการใช้รองพื้น

ลีบอกว่า ตนจะซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นหรือลดเลือนริ้วรอย  คำพูดของลี ตอกย้ำถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ชายเอเชียต่อผลิตภัณฑ์ดูแลผิว  ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดสกินแคร์ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unserved Market) หรือไม่ค่อยมีธุรกิจคำนึงถึง เนื่องจากแบรนด์สกินแคร์มักให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยงามของผู้หญิง

หยาง หู ผู้จัดการข้อมูลเชิงลึก ฝ่ายสุขภาพและความงามในเอเชียของยูโรมอนิเตอร์ บอกว่า เบื้องหลังการเติบโตของตลาดสกินแคร์ชายระหว่างตลาดเติบโตเต็มที่และตลาดเกิดใหม่แตกต่างกันไป

“ตลาดที่ผู้ชายค่อนข้างตระหนักถึงการใช้สกินแคร์มาก ได้แก่ เกาหลีใต้และสหรัฐ และความต้องการใช้สกินแคร์ของผู้ชายกำลังพัฒนาไปสู่ระดับที่ก้าวหน้าขึ้น ส่วนประเทศที่ผู้ชายเพิ่งเริ่มต้องการใช้สกินแคร์  ได้แก่ อินโดนีเซีย, อินเดีย และบางพื้นที่ในประเทศจีน  ยังมีผู้ชายที่ยังไม่ได้ใช้สกินแคร์พื้นฐานเช่น โฟมล้างหน้าและมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ถือเป็นโอกาสที่จะเติบโตได้อีก” หู กล่าว

โดยเฉพาะตลาดสกินแคร์ของจีน ที่มีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมสกินแคร์และเครื่องสำอาง ด้วยสัดส่วนผู้บริโภคชาย 30% อายุระหว่าง 20-34 ปี ใช้บีบีครีมและซีซีครีมมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และผู้บริโภคชาย 14% ใช้สกินแคร์ทุกวัน

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของยูโรมอนิเตอร์ สำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์มากกว่า 20,000 คน ในตลาดเกิดใหม่และตลาดกำลังพัฒนา 20 แห่ง ในปี 2565 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามหญิง 70% และชาย 30% อายุระหว่าง 15-65 ปี

เทรนด์การใช้สกินแคร์ของผู้ชายดังกล่าว อาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับแบรนด์ต่าง ๆ รวมทั้ง DearBOYfriend แบรนด์สกินแคร์ชายสัญชาติจีน ที่ผลิตสินค้าทั้งน้ำหอมและโคโลญจน์

DearBOYfriend เจาะฐานกลุ่มลูกค้าชายเจนมิลเลนเนียลในจีน ด้วยการร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ BAYC คอลเล็กชันเอ็นเอฟทีดิจิทัลที่มีชื่อเสียง เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุด ลายเอ็นเอฟที BAYC

นอกจากนี้จีนยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่น้ำหอมผู้ชายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพการเติบโตมากที่สุด ขณะที่ตลาดสกินแคร์ของจีนก็เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตของตลาดเช่นกัน

“เอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีศักยภาพต่อการเติบโตของตลาดน้ำหอมพรีเมียมผู้ชาย ในเดือน มิ.ย. แบรนด์ Kering เข้าซื้อกิจการ Creed ที่โด่งดังจากผลิตภัณฑ์น้ำหอม Aventus แสดงให้เห็นถึงเจตนาของบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตลาดที่กำลังเติบโตอย่างจีน และธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยว” รายงานระบุ

นอกจากนี้ ในแง่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย คาดว่า เอเชียแปซิฟิกมีศักยภาพเติบโตมากที่สุดในระหว่างปี 2565-2570 ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนมาจากประเทศจีน