งบโฆษณาดิจิทัล กลับมาโตแรง 13% ‘สกินแคร์-ค้าปลีก’ เจ้าบุญทุ่ม

งบโฆษณาดิจิทัล กลับมาโตแรง 13%  ‘สกินแคร์-ค้าปลีก’ เจ้าบุญทุ่ม

ต้นปี 2566 สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT)ประเมินเงินสะพัดในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลจะโตเพียง 7% เท่านั้น แต่ผ่านครึ่งปี ต้องปรับประมาณการณ์ใหม่ขยับตัวเลขเพิ่มเป็น 13%

ปัจจัยบวกอะไรบ้างที่ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล “เติบโต” สมาคมโฆษณาดิจิทัล ฯ ผนึก บริษัท คันทาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำการสำรวจการใช้จ่ายงบของแบรนด์และสินค้าต่างๆผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 ใน 59 ประเภทอุตสาหกรรม และ 17 ประเภทสื่อดิจิทัล

รายงานระบุว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปี 2566 คาดการณ์มีมีมูลค่า 28,999 ล้านบาท เติบโต 13% จากปีก่อน และถือเป็นตัวเลขปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปีที่คาดการณ์เติบโตเพียง 7% เท่านั้น

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดโต เพราะทิศทางการเมืองครึ่งปีหลังมี “เสถียรภาพ” มากขึ้น การมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ นักธุรกิจมั่นใจมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต่างๆใช้จ่ายเงิน

งบโฆษณาดิจิทัล กลับมาโตแรง 13%  ‘สกินแคร์-ค้าปลีก’ เจ้าบุญทุ่ม

อย่างไรก็ตาม ผ่านครึ่งทางงบโฆษณาดิจิทัลสะพัด 15,789 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีหลังคาดการณ์สะพัดน้อยกว่าที่ 13,210 ล้านบาท

  • สกินแคร์-ค้าปลีก ทุ่มเงินเต็มที่

สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาสูงสุด เป็นดังนี้

 1.ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณหรือสกินแคร์ 3,268 ล้านบาท

2.อุตสาหกรรมยานยนต์ 2,520 ล้านบาท

3.เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,228 ล้านบาท

4.การสื่อสารและโทรคมนาคม 2,190 ล้านบาท

5.ห้างค้าปลีก ร้านค้าปลีกต่างๆ 1,682 ล้านบาท

งบโฆษณาดิจิทัล กลับมาโตแรง 13%  ‘สกินแคร์-ค้าปลีก’ เจ้าบุญทุ่ม

สกินแคร์เปย์งบดิจิทัลอันดับ 1 และค้าปลีกติดท็อป 5

ที่น่าสนใจคือ “สกินแคร์” นำโด่งใช้เงินมากเป็นอันดับ 1 จากปีก่อนรั้งอันดับ 2 หรือย้อนไปปี 2564 อยู่อันดับ 4 โดยคาดการณ์ปี 2566 สกินแคร์จะใช้จ่ายงบโฆษณ่านดิจิทัลเพิ่มกว่า 800 ล้านบาท ปัจจัยหนุนคือโควิดคลี่คลาย ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ต้องแต่งเสริมเติมสวยยิ่งขึ้น

ขณะที่ “ค้าปลีก” ห้างร้านต่างๆ กลับมาใช้จ่ายเงินติดท็อป 5 ในรอบ 4 ปีย้อนหลัง สาเหตุเพราะช่วงโควิดได้รับผลกระทบ จนต้องทำการตลาดออนไลน์ พอสถานการณ์คลี่คลาย ออฟไลน์ต้องลุยต่อดึงคนเข้าร้าน ยิ่งกว่านั้นการผสานทุกช่องทางสื่อสารการตลาดเป็น “ออมนิแชนแนล” ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายไทย และกำลังซื้อนักท่องเที่ยวต่างชาติ

  • “เมตา” ยืนหนึ่งโกยเงินสูงสุด

ท่ามกลางสื่อโฆษณา “ดิจิทัล” มีสารพัดแพลตฟอร์ม แต่ยืนหนึ่งโกยเงินมากสุด ยังคงเป็น “เมตา” หรือเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ที่ครองเม็ดเงิน 8,183 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 28% ตามด้วยยูทูป 4,751 ล้านบาท สัดส่วน 16% วิดีโอออนไลน์ 2,254 ล้านบาท สัดส่วน 8% โซเชียล 2,153 ล้านบาท สัดส่วน 7% และครีเอทีฟ 2,151 ล้านบาท สัดส่วน 7%

งบโฆษณาดิจิทัล กลับมาโตแรง 13%  ‘สกินแคร์-ค้าปลีก’ เจ้าบุญทุ่ม ทว่า ที่มาแรงยกให้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง “ติ๊กต๊อก”(TikTok) ครองเม็ดเงิน 2,048 ล้านบาท สัดส่วน 7% เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภครับชมวิดีโอสั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ต้องติดตามต่อ เมื่อฝั่งอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาดิจิทัลโตแรง แต่สื่อดั้งเดิมโตแผ่ว “ทีวี” ถูกแบ่งเม็ดเงินไปยังแพลตฟอร์มอื่นมากขึ้น และ “ยูทูป” คือแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การลงโฆษณาได้ใกล้เคียงกับทีวีมากสุด ทำให้การเติบโตของยูทูป กลุ่มสินค้าที่ใช้จ่ายเงินผ่านยูทูปสูงสุด เช่น สกินแคร์ 750 ล้านบาท เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 674 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์นม 473 ล้านบาท ยานยนต์ 285 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับเทรนด์การสื่อสารการตลาด เทคโนโลยีที่จะทรงอิทธิพล “AI” มาแรงมาก ทรงพลังต่อพฤติกรรมผู้บริโภค การเสพสื่อ ซึ่งนักการตลาดต้องเกาะติดและนำมาเป็นนักบินร่วมในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพรอบด้านทั้งความแม่นยำในการเจาะกลุ่มเป้าหมาย สร้างยอดขาย เป็นต้น