'2566' ปีแห่งการล้มละลาย 'ดอกเบี้ย' พุ่ง ฉุดบริษัทรายใหญ่-รายเล็กทั่วโลก

'2566' ปีแห่งการล้มละลาย 'ดอกเบี้ย' พุ่ง ฉุดบริษัทรายใหญ่-รายเล็กทั่วโลก

บรรยากาศการลงทุนโลกช่วงสิ้นปี 2566 ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง อาจช่วยให้บรรยากาศภาพรวมของธุรกิจสิ้นปีนี้ไม่หม่นหมองเกินไปนัก แต่หากย้อนประมวลสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2566 จะเห็นได้ว่าปีนี้ไม่ใช่ปีที่ดีของธุรกิจทั่วโลก

หากไม่นับรวมปี 2563 ที่เกิดวิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อาจกล่าวได้ว่าปี 2566 นี้ คือปีที่ธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก “ยื่นล้มละลายมากที่สุด” ในรอบกว่า 10 ปี หรือหลังช่วงวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในสหรัฐเป็นต้นมา และยังเป็นปีที่มี “บริษัทขนาดใหญ่” หลายแห่งทั่วโลกยื่นล้มละลายหรือต้องขายกิจการกันเป็นจำนวนมาก

สหรัฐหนักสุดในรอบ 3 ปี แบงก์รัฐล้ม-‘วีเวิร์ก’ ไม่เวิร์ก

จากข้อมูลของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ พบว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทในสหรัฐยื่นล้มละลายไปแล้วถึง 591 ราย โดยตามหลังชนิดหายใจรดต้นคอเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วงโควิด-19 ระบาดในปี 2563 ที่ 603 ราย และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับในปี 2564 และ 2565

ลอรา คอร์เดส ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้การยื่นล้มละลายในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะ “อัตราดอกเบี้ย” หรือต้นทุนกู้ยืมที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก และมาตรการกระตุ้นของภาครัฐหลังโควิดเริ่มหมดลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในช่วง 2 ปีก่อนที่ได้มาตรการกระตุ้นของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ

คอร์เดส กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจต่างๆ จะขอรีไฟแนนซ์หนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงโดยเฉพาะราคาพลังงาน ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันภาคธุรกิจด้วย

ภาคธุรกิจในสหรัฐเผชิญภาวะระทึกตั้งแต่ช่วงต้นปีกับการเกิดภาวะที่ประชาชนและธุรกิจพากันแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร หรือ Bank Run ซึ่งทำให้มีการสั่งปิดธนาคารรัฐไปถึง 3 แห่ง คือธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ (SVB) ธนาคารซิกเนเจอร์ และธนาคารซิลเวอร์เกต

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่รุนแรงและรวดเร็วในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน จาก 0.25% ไปที่ 4.75% ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมาเพื่อปราบเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนการเงินที่ภาคธุรกิจเคยแห่กู้ในช่วงดอกเบี้ยต่ำพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัปและธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) รวมไปถึงธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของแบงก์ขนาดกลางเหล่านี้

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกค้าที่เคยฝากเงินเป็นหลักปลี่ยนมาเป็นถอนเงินมากขึ้น กระทบต่อสภาพคล่องจนแบงก์ต้องยอมขาดทุนนำพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้ไปขายเพื่อหาเงินสดเพิ่ม ยิ่งมีข่าวออกมาก็ยิ่งทำให้ลูกค้าแห่กันไปถอนเงินจนเกิดภาวะ “แบงก์รัน” และเป็นลูกโซ่ลามต่อๆ กัน จนที่สุดแล้วสถาบันรับประกันเงินฝากสหรัฐ (FDIC) ต้องสั่งปิดธนาคารไปถึง 3 แห่ง ในช่วงเดือน มี.ค. ปีนี้

\'2566\' ปีแห่งการล้มละลาย \'ดอกเบี้ย\' พุ่ง ฉุดบริษัทรายใหญ่-รายเล็กทั่วโลก

ส่วนในภาคธุรกิจค้าปลีก “เบด บาธ แอนด์ บียอนด์” คือหนึ่งในธุรกิจชื่อดังที่สุดที่ต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้มาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐ ในเดือน เม.ย. ปีนี้ โดยหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มฟุ่มเฟือย เป็นธุรกิจย่อยในหมดค้าปลีกที่มีการยื่นล้มละลายมากที่สุด 76 ราย ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา

ทว่า การยื่นล้มละลายที่ใหญ่ที่สุดและเป็นข่าวดังที่สุดแห่งปีนี้ในสหรัฐ คือบริษัทสตาร์ตอัปที่เคยเป็นดาวรุ่งของโลกอย่าง “วีเวิร์ก” ซึ่งในช่วงที่พีกสุดปี 2562 บริษัทโคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งนี้เคยมีมูลค่าสูงถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์มาแล้ว โดยมีนักลงทุนรายใหญ่คือ ซอฟต์แบงก์ จากญี่ปุ่น แต่สุดท้ายกลับต้องยื่นขอปรับโครงสร้างในศาลล้มละลายกลางสหรัฐเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา

วีเวิร์กที่เคยเป็นแรงบันดาลใจของธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซทั่วโลกยอมรับว่า บริษัทไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงหลังโควิดได้ และไม่สามารถดำเนินการเข้าตลาดออกหุ้นไอพีโอได้ตามแผนการที่วางเอาไว้ จึงทำให้วีเวิร์กในสหรัฐและแคนาดาต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายในที่สุด พร้อมหนี้สินระหว่าง 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ และนับเป็นการล้มละลายที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

ครึ่งปีแรกธุรกิจญี่ปุ่นล้มสูงสุดในรอบ 5 ปี

ผลสำรวจของบริษัทโตเกียว โชโก รีเสิร์ช ระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทในญี่ปุ่นยื่นล้มละลายไปถึง 4,042 แห่ง หรือสูงที่สุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้าถึง 32.1% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการที่ภาคธุรกิจต้องกู้หนี้ยืมสินมากขึ้นหลังโควิด จนไม่สามารถแบกรับผลกระทบเมื่อดอกเบี้ยแพงขึ้นได้ โดยมีหลายบริษัทที่ไม่สามารถชำระหนี้มูลค่า 10 ล้านเยน (ราว 2.5 ล้านบาท) ได้

“โตชิบา คอร์ปอเรชัน” อดีตยักษ์ใหญ่แห่งวงการอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นกลายเป็นข่าวใหญ่ในปีนี้หลังประกาศขายกิจการให้กับกลุ่มทุนญี่ปุ่น เจแปน อินดัสเทรียล พาร์ตเนอร์ส (JIP) ในที่สุด โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านเยน (ราว 5 แสนล้านบาท)

โตชิบา เผชิญวิกฤติหนักมาเกือบ 10 ปีจากการตกแต่งบัญชีรายงานกำไรเกินจริง และการขาดทุนหนักในธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐ จนต้องนำไปสู่การขายกิจการในปีนี้ และล่าสุดในเดือน ธ.ค. โตชิบาภายใต้การกุมบังเหียนของกลุ่มทุนใหม่ก็ได้พ้นสภาพจากการเป็นบริษัทมหาชน โดยถอดชื่อออกจากตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตำนาน 74 ปีในกระดานเทรด ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ในกองทัพบรรษัทญี่ปุ่นลงในปีนี้

ธุรกิจยุโรปเจ็บสุดในรอบ 8 ปี

“ซิกนา โฮลดิง” ซึ่งเป็นอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในยุโรปจากประเทศออสเตรีย และเป็นเจ้าของตึกไครส์เลอร์ในนิวยอร์ก กลายเป็นข่าวร้ายส่งท้ายปีของยุโรปหลังประกาศยื่นล้มละลายเมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เมื่อความพยายามเพิ่มทุนไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้บริษัทต้องยื่นขอปรับโครงสร้างกิจการโดยมีหนี้ทั้งหมดราว 5,000 ล้านยูโร (ราว 1.91 แสนล้านบาท)

เว็บไซต์ยูโรสแตทรายงานว่า ภายในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ มีธุรกิจในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 หรือสูงที่สุดในรอบ 8 ปี โดยเพิ่มขึ้นถึง 8.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และตัวเลขการยื่นล้มละลายนี้ยังสูงขึ้นเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกันอีกด้วย