วิกฤติร้ายแรง : โลก อาร์เจนตินา และประชานิยม

วิกฤติร้ายแรง : โลก อาร์เจนตินา และประชานิยม

นอกจากสงครามในยูเครนและในฉนวนกาซาแล้ว โลกยังมีวิกฤติร้ายแรงอยู่ในอีกหลายประเทศ รวมทั้งในอาร์เจนตินาและในสหรัฐอเมริกา

ชาวไทยพูดถึงอาร์เจนตินามากว่า 2 ทศวรรษ เนื่องจากประวัติอันยาวนานของการใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งรัฐบาลไทยลอกเลียนมาใช้ในปี 2544 อาร์เจนตินาเริ่มใช้ประชานิยมเมื่อปี 2459 เวลาผ่านไป 40 ปี ก่อนที่อาร์เจนตินาจะล้มละลาย ตามด้วยวิกฤติร้ายแรงซ้ำซากมาจนถึงปัจจุบัน 

อาร์เจนตินาเพิ่งเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าปฏิรูปประเทศแบบถอนรากถอนโคน เหตุผลของเขาเป็นเช่นเดียวกับเมื่อปี 2459 กล่าวคือ ขับไล่ผู้ครองอำนาจซึ่งอาจเรียกว่า “อำมาตย์” ในระบอบประชาธิปไตย การต่อต้าน และขับไล่อำมาตย์เช่นนั้นรวมอยู่ในกรอบของประชานิยมด้วย

เป็นเวลานานก่อนแนวคิดประชานิยมจะถูกนำเข้าไปใช้ในอาร์เจนตินา รัฐบาลอยู่ในการควบคุมของกลุ่มเศรษฐีที่ดิน ซึ่งไม่ใส่ใจในความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพ นักการเมืองผู้ชนะการเลือกตั้งปี 2459 ให้คำมั่นสัญญาว่าจะล้มล้างการครอบงำของคนกลุ่มนั้นและยกฐานะความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพ 

เขาทำได้เพราะในตอนนั้นอาร์เจนตินาร่ำรวยและมีเงินสำรองกองใหญ่นับได้ถึง 70% ของเงินสำรองของประเทศละตินอเมริกา

การทุ่มเงินเข้าไปสนับสนุนมาตรการลดแลกแจกแถมส่งผลให้ชาวอาร์เจนตินาเสพติดประชานิยมทันที รัฐบาลต่อๆ มาจึงต้องทำตาม รวมทั้งรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจเข้ามาด้วย

เมืองไทยใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการเลือกตั้งปี 2544 ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้นมิได้แสดงการต่อต้านอำมาตย์ผู้ครองอำนาจอยู่โดยตรง แต่เขาไม่จำเป็นต้องทำ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ทำให้แล้ว

จากการเป็นรัฐธรรมนูญที่มิได้ร่างขึ้นบนฐานของการจะให้กลุ่มใดได้เปรียบในการเลือกตั้งดังหลายฉบับก่อนนั้น เฉกเช่นในอาร์เจนตินา มาตรการลดแลกแจกแถมทำให้คนไทยเสพติดทันที รัฐบาลต่อๆ มาจึงมองว่าต้องทำตามความเรียกร้องของผู้ที่เสพติดแล้วและผู้อยากจะเสพบ้าง

ในสหรัฐอเมริกา ความเหลื่อมล้ำและความไม่สมหวังที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต่อต้านชนชั้นที่ผลัดกันปกครองมานาน และเลือก “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีเมื่อ 7 ปีก่อน ทั้งที่เขามีข้อบกพร่องมากมายเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งความไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ทรัมป์มีโอกาสกลับมาครองอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากชาวอเมริกันนับร้อยล้านคนมองว่า ชนชั้นอำมาตย์ที่ครองอำนาจอยู่ไม่สามารถสนองความคาดหวังของพวกเขาได้

ความคาดหวังพื้นฐานของชาวอเมริกันโดยทั่วไป ได้แก่ พวกเขาต้องมีกินมีใช้เพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่อง การต่อสู้กันอย่างเข้มข้นระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายนายทรัมป์ในขณะนี้ มีลักษณะของความขัดแย้งร้ายแรงถึงขั้นวิกฤติ

มิใช่เฉพาะในอาร์เจนตินาและสหรัฐเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์ขับไล่อำมาตย์ผู้กำอำนาจอยู่ให้ออกไป ในอีกหลายประเทศก็เช่นกัน 

นักการเมืองผู้ต่อต้านการปกครองของผู้กำอำนาจเพิ่งชนะการเลือกตั้งแบบคาดไม่ถึงในเนเธอร์แลนด์ ชาวฟิลิปปินส์ ชาวบราซิลและชาวโปแลนด์ เลือกผู้นำคนก่อนเนื่องจากความไม่สมหวังจากการปกครองของผู้กำอำนาจอยู่ในตอนก่อนนั้น

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้มีอุดมการณ์ในแนวเดียวกันกับพวกนั้นอาจจะชนะอีกครั้ง ทั้งนี้เพราะมันเป็นไปได้ยาก ที่รัฐบาลปัจจุบันจะสนองความคาดหวังของประชาชนได้ ในเมื่อพวกเขาหวังจะมีกินมีใช้เพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับชาวอเมริกัน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจมองว่า ระบอบประชาธิปไตยนำไปสู่การกุมอำนาจของชนชั้นอำมาตย์ ผู้ไม่สามารถจะตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ประวัติศาสตร์บ่งว่าการขับไล่อำมาตย์อาจนำไปสู่การใช้ประชานิยมแบบเลวร้ายจนเกิดความหายนะ หรืออาจนำไปสู่เผด็จการ ซึ่งอาจสร้างปัญหาร้ายแรงมากจากการลุแก่อำนาจและการคดโกงอย่างหนัก เมื่อปราศจากการถ่วงดุลอำนาจ

มองต่อไปน่าจะพบว่า ไม่มีระบบใดจะสนองความคาดหวังของประชาชนได้หากความคาดหวังนั้นคือการกินและใช้ที่เพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ เพราะความคาดหวังเช่นนั้นขัดหลักธรรม กล่าวคือ ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด 

อย่างไรก็ดี โลกมีทางออกซึ่งเราชาวไทยน่าจะรู้อยู่แล้ว เพราะวันอังคารที่ผ่านมาเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพ่อหลวง ร.9 ผู้พระราชทานแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ชาวโลก.