โอกาสของการล่มสลายในเมียนมา | สิชล ยืนยัง

โอกาสของการล่มสลายในเมียนมา | สิชล ยืนยัง

การรวมพลังของสามกลุ่มชาติพันธุ์ที่เปิดยุทธการ 1027 บุกทะลวงโจมตีเขตปกครองพิเศษที่ 1 ของเมียนมา ที่รัฐฉาน เข้าล้อมเมืองเล่าก์กายและเมืองบริวาร

ยึดฐานที่มั่นทหาร ทำลายระบอบบริหารปกครอง ตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเมียนมาได้เกือบสิ้นเชิงนั้น นำไปสู่การลุกฮือขึ้นของการสู้รบทั่วประเทศ  

ตอนนี้ไม่ว่าที่ยะไข่ ชิน สกาย หรือกะเหรี่ยง ทหารเมียนมาถ้าไม่พ่ายแพ้อย่างหนักก็สู้รบติดพัน โดยฝ่ายต่อต้านและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดูเหมือนว่าอาจจะคิดการใหญ่ รุกคืบเข้าตีเนปิดอร์ หรืออย่างน้อยก็ฉีกประเทศเป็นหลายเสี่ยงในเวลาอันใกล้ 

รัฐบาลทหารเมียนมาจะล่มสลายภายในปี 2567 จริงน่ะหรือ หากเป็นเช่นนั้นความวุ่นวายและผลกระทบใหญ่จะเกิดขึ้นกับไทยเป็นแน่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญนั้นคือ “จีน” ตัวแปรที่หนุนก่อให้เกิดการสู้รบในรัฐฉานและอาจเป็นตัวแปรที่หนุนจบสงครามก็เป็นได้

โอกาสของการล่มสลายในเมียนมา | สิชล ยืนยัง

มินท์อ่องไหล่

กองทัพเมียนมาพิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า นอกจากยุทโธปกรณ์ทางอากาศที่เหนือกว่าแล้ว ไม่มีอะไรที่สู้กับฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ได้ คงไม่ต้องบอกนะว่ากลุ่มใหญ่ๆ เช่น คะยา ว้าแดง ยะไข่หรือโกกั้งนั้นเอาอาวุธดีๆ มาจากไหน

พวกเขามีกำลังพลมาก ฝึกปรือเชี่ยวชาญ ประสานสอดคล้องดีเยี่ยม ยิ่งมีพวกฝ่ายต่อต้านนิยมประชาธิปไตยที่ตั้งฐานอยู่ทั่วประเทศเข้าร่วมตี ยิ่งแกร่งเข้าไปใหญ่ (เด็กหนุ่มพวกหลังนี่ก็ฝึกอาวุธมากว่าสองปี เก่งขึ้นแล้วเช่นกัน) 

ขณะที่ทหารเมียนมาต้องเปิดศึกหลายสมรภูมิ ไม่สามารถส่งกำลังบำรุงได้ ขวัญกำลังใจเสียจากการพ่ายแพ้ ทั้งยังเกิดความไม่ไว้วางใจกันขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ เช่น เพิ่งมีการปลดและจับกุมทหารระดับรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า “มินท์อ่องไหล่” ไว้ใจใครไม่ได้เต็มที่ ต้องวางชะตากรรมของตนเอาไว้ที่ ผบ.ทหารคนใหม่ วัยแค่ 52

หน้าฉากจีนสนับสนุนกองกำลังโกกั้ง ปะหล่อง และยะไข่ ให้ยึดอำนาจในเล่าก์กาย ก็คือเรื่องของการไม่พอใจจีนเทาที่สยายปีกธุรกิจของตนในรัฐฉานเหลือเกิน อันนี้เป็นความจริงส่วนหนึ่ง  

เพราะนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาตีโกกั้งแตกเมื่อสิบปีก่อน ก็ยินยอมให้พวกโกกั้งฝ่ายที่ยอมเข้าร่วมกับตัวเปิดอาณาจักรผิดศีลธรรมขึ้นที่นั่น ทำทุกอย่างเพื่อให้เมืองชายแดนเจริญรุ่งเรือง แม้จะเต็มไปด้วยบ่อนกาสิโน ค้ามนุษย์ ล่อลวงสารพัด แล้วแบ่งผลประโยชน์กัน 

โอกาสของการล่มสลายในเมียนมา | สิชล ยืนยัง

จีนเทาแห่กันเข้ามาจนเป็นภัยต่อเมืองชายแดนของจีนที่อยู่ติดกัน จีนไม่พอใจ "สิ่งที่ตนควบคุมไม่ได้” ที่กระทบต่อชาวจีนนี้นานแล้ว (แต่ถ้าหากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้นี้ไม่ค่อยกระทบต่อชาวจีนนัก เช่น ในสามเหลี่ยมทองคำ สีหนุวิลล์ หรือในไทย จีนก็เฉยๆ) ยิ่งมีหนังอย่าง No More Bet ออกฉายเมื่อ ส.ค.2566 ตีแผ่เรื่องโสมมนี้ให้ประชาชนกลัวอีก จีนจึงยิ่งยอมไม่ได้

แต่หลังฉากนั้นจีนไม่ค่อยพอใจกับรัฐบาลทหารเมียนมานานแล้วที่ค่อนข้างยึกยักกับตน จริงอยู่ที่มินท์อ่องไหล่ นักปฏิวัตินั้นเหลือพวกให้คบน้อยมากและจำต้องพึ่งจีนหลายอย่าง แต่เขาก็พยายามพึ่งรัสเซียมากขึ้นและใช่ว่าจะยอมตามจีนทุกเรื่อง เช่น ท่าเรือจ่อผิว ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยกันไปแล้วก็ยังล่าช้า 

คนเมียนมายังระแวงคนจีนกลืนชาติ ซึ่งก็มีประเด็น เพราะจีนมีความเหนือกว่าด้านประชากรศาสตร์ ไม่เพียงแต่แผ่อิทธิพลเหนือชนกลุ่มน้อย แต่มีคนจีนทะลักเข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของเมียนมาเป็นจำนวนมากด้วย

การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยอันเนื่องมาจากความเป็นเชื้อสายด้วยกันก็น่าจะมี เพราะเมียนมาอุตส่าห์ตีโกกั้งแตกไปแล้วเมื่อปี 2553 โกกั้งยังกลับมาได้ด้วยการดันหลังของจีน

หากสถานการณ์ในสนามยังเป็นเช่นนี้อยู่ เมียนมาคงเสียเมืองเล่าก์กาย และอีกหลายเมืองทางเหนือและตะวันตกให้กลุ่มชาติพันธุ์แบ่งกันไปปกครอง ส่วนทางตะวันออกที่ติดกับไทยคงจะยื้อได้นานกว่า

กลุ่มชาติพันธุ์พวกนี้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเอกราชเหมือนกลุ่มในยุโรป พวกเขาไม่ต้องการสถานะการยอมรับจากประชาคมโลก ขอให้มีอำนาจเหนือคนจ่ายส่วยก็พอแล้ว 

แล้วก็เป็นเช่นนี้ตลอดมาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมียนมาที่กองกำลังกลุ่มต่างๆ ปกครองพื้นที่ของตนโดยพฤตินัยอยู่แล้ว โดยกองทัพเมียนมาได้แต่หวังลมๆ แล้งๆ ว่าสักวันหนึ่งพวกนี้จะยอมแพ้แล้วมารวมชาติกัน อันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อเสียเลือดเนื้อเปล่า

แต่หากสถานการณ์สู้รบรุนแรงหนักกว่านี้ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กำลังถึงขั้นจะบุกยึดเนปิดอร์ หรือกลุ่มต่อต้าน PDF ที่ชาติตะวันตกหนุนหลังเข้มแข็งกว่านี้ จีนก็จะเสียประโยชน์เอง เพราะฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเราจะเห็นจีนเล่นบทตัวกลางทั้งขู่ทั้งปลอบทั้งฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ให้สงบศึกกันแบบเลิกรากันไป 

เล่าก์กายอาจเปลี่ยนมือคนบริหารปกครอง มีจีนเทากลุ่มใหม่เข้ามา เพราะพวกโกกั้งก็ไม่ได้รู้วิธีหาเงินแบบใสสะอาด แต่ตราบใดที่ไม่สร้างปัญหาให้เมืองชายแดนจีน จีนก็วางเฉย ส่วนรัฐบาลทหารเมียนมาอาจต้องเอื้อประโยชน์ให้จีนมากขึ้นเพื่อแลกกับราคาของสันติภาพ

การสู้รบนั้นกระทบต่อไทยไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว แต่ไม่ว่ารัฐบาลเมียนมาจะเป็นฝ่ายทหารหรือประชาธิปไตย ไทยก็ต้องรับมือกับปัญหาการสู้รบ ผู้อพยพ แรงงานและอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่น่าเปลี่ยนฉากทัศน์ไปจากนี้

ที่น่าสนใจคือสหรัฐจะแก้เกมนี้ของจีนอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อไรที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะกลับมาครองอำนาจ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF จะวางตัวอย่างไร ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องรบกับกลุ่มชาติพันธุ์สักวันหนึ่งไหม ทั้งหมดนี้ต้องติดตามกันต่อไป