ตั้งบริษัทมากับมือ แต่สุดท้ายคือถูกไล่ออก จาก 'สตีฟ จ็อบส์' สู่ซีอีโอ OpenAI

ตั้งบริษัทมากับมือ แต่สุดท้ายคือถูกไล่ออก จาก 'สตีฟ จ็อบส์' สู่ซีอีโอ OpenAI

เป็นอีกครั้งที่ ผู้ก่อตั้ง/ผู้ร่วมก่อตั้ง ถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง ซึ่ง 'แซม อัลท์แมน' คือซีอีโอรายล่าสุดที่ตามรอย 'สตีฟ จ็อบส์' ไปติดๆ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อื้ออึงว่า เหตุผลในการไล่ออกซีอีโอที่ทำผลงานโดดเด่นให้โลกได้รู้จัก ChatGPT คืออะไรกันแน่

Key Points

  • 'แซม อัลท์แมน' คือซีอีโอรายล่าสุดที่ถูกไล่ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง/ร่วมก่อตั้ง ตามรุ่นพี่อย่าง "สตีฟ จ็อบส์" "แจ๊ค ดอร์ซีย์" และ "เจอร์รี หยาง" 
  • เหตุผลการไล่ออกเรื่อง "ปัญหาในการสื่อสาร" สร้างความสงสัยให้หลายฝ่าย เพราะอัลท์แมนเป็นหน้าตาของบริษัทที่ไปพูดมาแล้วทุกเวที และยังเป็นคนหาเงินมือฉมังให้บริษัทมาตลอด
  • สื่อนอกระบุว่า เหตุผลอาจเป็นเพราะการเร่งเครื่องเดินหน้า AI ที่ "เร็วเกินไป" และไม่บาลานซ์ความเสี่ยงด้าน "จริยธรรม" ที่หลายฝ่ายกังวลมากพอ

 

ข่าวการไล่ออกฟ้าผ่า "แซม อัลท์แมน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) บริษัทมูลค่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์ผู้พัฒนาแชตบอตชื่อดังอย่าง CahtGPT กำลังเป็นข่าวใหญ่ในวงการเทคโนโลยีทั่วโลกกับหลายประเด็นคำถามรุมเร้า

หนึ่ง อัลท์แมนไม่ใช่แค่ซีอีโอ แต่ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งที่ช่วยกันสร้างบริษัทขึ้นมาในปี 2015 นี่จึงถือเป็นอีกครั้งที่เกิดการรัฐประหารในห้องประชุมบอร์ด และไล่ออกผู้ก่อตั้ง/ผู้ร่วมก่อตั้ง ออกจากบริษัทไป เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับ "สตีฟ จ็อบส์" แห่งแอปเปิล และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐอีกหลายแห่ง 

ตั้งบริษัทมากับมือ แต่สุดท้ายคือถูกไล่ออก จาก \'สตีฟ จ็อบส์\' สู่ซีอีโอ OpenAI

สอง เหตุผลในการไล่ออกซึ่งที่ประชุมบอร์ดให้ไว้คือ "ปัญหาด้านการสื่อสาร ที่ไม่ตรงไปตรงมากับคณะกรรมการ" ดูไม่มีน้ำหนักมากพอเมื่อเทียบกับผลงานของอัลท์แมนที่สร้างผลงานชิ้วโบว์แดง ChatGPT จนทำให้โลกได้รู้จักและตื่นตัวกับ Generative AI อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน   

สาม มีรายงานข่าวว่าเหตุผลที่แท้จริงอาจเป็นเรื่องการเร่งผลักดันเจนไอเอในเชิงพาณิชย์เร็วเกินไป จนทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องการบาลานซ์ด้าน "จริยธรรมเอไอ" ซึ่งความกังวลนี้ยังมาจากภายในบอร์ดเอง กับกรรมการซึ่งเป็น 1 ใน 6 ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทด้วย

จาก 'สตีฟ จ็อบส์' ถึง 'แซม อัลท์แมน'

สตีฟ จ็อบส์ อาจไม่ใช่ผู้ก่อตั้งคนแรกที่ถูกบีบออกจากบริษัทที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แต่ก็เป็นเคสที่คนรู้จักมากที่สุดทั่วโลก จ็อบส์สร้างแอปเปิล อิงก์ขึ้นมาด้วยกันกับผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง สตีฟ วอสเนียก ที่โรงรถในบ้าน ก่อนจะประสบความสำเร็จจากเครื่องคอมพิวเตอร์ "Apple 2" ที่ทำให้แอปเปิลขึ้นแท่นเป็นบริษัทพันล้าน 

ตั้งบริษัทมากับมือ แต่สุดท้ายคือถูกไล่ออก จาก \'สตีฟ จ็อบส์\' สู่ซีอีโอ OpenAI

แต่การขยายบริษัทเพื่อให้ธุรกิจเติบโตนี่เองที่ทำให้ "ความเป็นเจ้าของ" ต้องหายไป เหลือเพียงบทบาทผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหาร ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จตามปกติของธุรกิจทั่วโลกที่เจ้าของจำเป็นต้องขายหุ้นเพื่อหาเงินมาขยายกิจการ โดยในช่วงที่แอปเปิลนำบริษัทเข้าตลาดเปิด IPO ในปี 1980 จ็อบส์มีหุ้นอยู่ประมาณ 11% และวอสเนียกมีหุ้นประมาณ 8% แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นขึ้นอยู่ความสามารถของผู้นำที่คิดค้นนวัตกรรมเป็นหลัก ไม่เหมือนธุรกิจหลายประเภทที่ต้องให้ครอบครัวมาถือหุ้น หรืออาจเรียกได้ว่าสินทรัพย์ที่แท้จริงคือตัวบุคคลนั่นเอง

ทว่าจุดนี้เองที่ทำให้จ็อบส์ ซึ่งไม่ใช่ทั้งเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ แพ้การโหวตในที่ประชุมบอร์ดและถูกบีบออกจากบริษัทในปี 1985 ไปในที่สุด โดยในช่วงนั้นจ็อบส์ไม่ได้เป็นซีอีโอแล้วเพราะดึงมือดีด้านการตลาดจากเป๊บซี่อย่าง จอห์น สกัลลี มานั่งซีอีโอแทน โดยที่เขาก็ยังรับผิดชอบหลายโปรเจกต์สำคัญในบริษัท แต่ได้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนักจนต้องงัดกันในที่ประชุมบอร์ดด้วยการเปิดโหวตว่า คณะกรรมการจะเลือกใคร 

วิลเลียม ไซมอน ผู้ร่วมเขียนหนังสืออัตถชีวประวัติของจ็อบส์เรื่อง “iCon: Steve Jobs, the Greatest Second Act in the History of Business" เปิดเผยกับบิซเนสทูเดย์ว่า แม้จ็อบส์จะเป็นคนที่เก่งและยอดเยี่ยมมาก แต่สไตล์การทำงานที่เอาแต่ใจและเรียกร้องจากคนรอบข้างมากเกินไป ก็เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้คนทำงานด้วยยาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แพ้โหวตในที่ประชุมบอร์ด 

แม้แต่จ็อบส์เองก็ยอมรับภายหลังว่าตัวเขาในช่วงนั้นเกินจะควบคุมได้จริงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ถึงการเป็นสินทรัพย์ในตัวเองก็คือ หลังจากที่ถูกบีบออกเขาได้ทำงานหลายอย่างโดยได้ก่อตั้ง เน็กซ์ คอมพิวเตอร์ ที่แอปเปิลเข้าซื้อกิจการในเวลาต่อมา และพิกซาร์ สตูดิโอ ขึ้นมา และสุดท้ายก็ได้กลับมากุมบังเหียนช่วยแอปเปิลที่เสี่ยงใกล้ล้มละลายในปี 1997 อีกครั้ง  

วงการเทคโนโลยีสหรัฐยังเกิดเคสในทำนองนี้อีกหลายบริษัท เช่น "แจ๊ค ดอว์ซีย์" ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งถูกไล่ออกในปี 2008 ด้วยเหตุผลที่เอาเวลาไปทำเรื่องอื่นๆ มากกว่าเรื่องงาน เช่น โยคะและแฟชั่นดีไซน์ ก่อนจะกลับเข้ามาอีกครั้งในปี 2011 ขณะที่ "เจอร์รี หยาง" ผู้ร่วมก่อตั้งยาฮูดอตคอม (Yahoo) ก็ถูกบีบให้ลาออกจากซีอีโอในปี 2009 แต่ยังอยู่เป็นกรรมการจนถึงปี 2012 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ "แซม อัลท์แมน" แห่ง OpenAI ก็มีความคล้ายกันในบางจุด และต่างกันอยู่หลายจุดเมื่อเทียบกับเคสของจ็อบส์

ตั้งบริษัทมากับมือ แต่สุดท้ายคือถูกไล่ออก จาก \'สตีฟ จ็อบส์\' สู่ซีอีโอ OpenAI

อัลท์แมนเป็นนักศึกษาดรอปเรียนเหมือนกับจ็อบส์ ทว่าเขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้งหลักเหมือนกับจ็อบส์ที่สร้างแอปเปิลขึ้นมาเองกับมือ แต่เป็น 1 ใน 6 คณะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่รวมถึง "อีลอน มัสก์" ซีอีโอคนดังของเทสลาและสเปซเอ็กซ์ จึงอาจจะไม่มีภาพของความเป็นเจ้าของที่ชัดเจนเท่ากับจ็อบส์ แม้ว่าในระยะหลังโดยเฉพาะหลังเปิดตัวแชตบอต ChatGPT อัลท์แมนจะกลายเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทโอเพ่นเอไอและเจนเอไอไปแล้วก็ตาม 

สิ่งสำคัญที่ต่างกันก็คือ โครงสร้างของบริษัทโอเพ่นเอไอ ที่ไม่เหมือนแอปเปิลและไม่เหมือนบริษัททั่วไป

เดิมทีนั้นโอเพ่นเอไอก่อตั้งขึ้นในปี 2015 จากผู้ร่วมก่อตั้ง 6 คน ในฐานะองค์กรที่ไม่แสวงกำไร (non-profit) เพื่อมุ่งพัฒนาเอไอและไม่ให้เทคโนโลยีนี้ถูกผูกขาดจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมา อีลอน มัสก์ ได้ถอนตัวไปเพราะแนวคิดไม่ตรงกัน

ในภายหลังได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทไปเป็นรูปแบบของ "capped-profit" ในปี 2019  หรือการเปิดทางให้แสวงกำไรได้ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ โดยเป็นปีเดียวกันกับที่ "ไมโครซอฟต์" เข้ามาลงทุนในโอเพ่นเอไอวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ ก่อนจะเพิ่มทุนอีกครั้งในปี 2021 และในปี 2023 ไมโครซอฟต์ได้ลงทุนก้อนใหญ่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์กับโอเพ่นเอไอ ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่าเป็นการเข้าถือหุ้นมากถึง 49% 

ทว่าแซม อัลท์แมน ไม่มีหุ้นในบริษัทโอเพ่นเอไอเลยแม้แต่หุ้นเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกแม้แต่ในวงการเทคฯ ด้วยกัน อัลท์แมนเคยระบุถึงเรื่องนี้ไว้สั้นๆ ว่า เขาไม่จำเป็นต้องถือหุ้นในโอเพ่นเอไอ และเขาก็มีทรัพย์สินมากพออยู่แล้วในการลงทุนอื่นๆ 

รายงานข่าวระบุว่า สิ่งที่อัลท์แมนโดดเด่นก็คือ ความสามารถในการระดมทุนซึ่งรู้จักคนอย่างกว้างขวาง และการผลักดันเจนเนอเรทีฟ เอไอ ในเชิงพาณิชย์ให้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถจับต้องได้ ซึ่งการคลอด ChatGPT ออกมาเป็นเหมือนการเปิดศักราชของเจนเอไออย่างแท้จริง และทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ต่างรีบพัฒนาเจนเอไอของตนเองออกมา อัลท์แมนยังเป็นนักลงทุนอิสระในหลายบริษัทและตั้งบริษัทอื่นๆ ของตนเองขึ้นมา ซึ่งทำให้เขามีทรัพย์สินราว 500 ล้านดอลลาร์

ส่วนไมโครซอฟต์ที่คาดว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในโอเพ่นเอไอและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับอัลท์แมนนั้น ก็ไม่สามารถยับยั้งการไล่ออกซีอีโอรายนี้ได้ เพราะทราบเรื่องก่อนที่จะเกิดเหตุเพียงแค่ "1 นาที" เท่านั้นจากการรายงานอ้างแหล่งข่าวของเว็บไซต์อาซิออส

ตั้งบริษัทมากับมือ แต่สุดท้ายคือถูกไล่ออก จาก \'สตีฟ จ็อบส์\' สู่ซีอีโอ OpenAI

ส่วนการ "ก่อกบฎ" ในบอร์ดบริษัทโอเพ่นไอเอที่นำไปสู่การไล่ออกครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างการประชุมบอร์ดของผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน และคณะผู้เชี่ยวชาญเอไอจำนวนหนึ่ง โดยผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนนั้นไม่มีอัลท์แมน และเกร็ก บร็อคแมน ประธานกรรมการรวมอยู่ด้วย  
 
ไฟแนนเชียลไทมส์และวอลสตรีทเจอร์นัลระบุว่า ก่อนการไล่ออกมีคลื่นความขัดแย้งเกิดขึ้นในบอร์ดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ระหว่างฝ่ายของอัลท์แมนที่พัฒนาเจนเอไออย่างรวดเร็ว และกำลังเร่งเดินหน้าใช้งานในเชิงพาณิชย์มากขึ้น กับฝ่ายที่ต้องการเบรกเพราะเป็นห่วงเรื่องจริยธรรมเอไอ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งานเจนเอไอ โดยที่ยังไม่มีการวางมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยร่วมกัน ซึ่งฝ่ายหลังนี้นำโดย "อิลยา ซัตสกีเวอร์" 1 ใน 6 ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของโอเพ่นเอไอ ร่วมด้วยกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง 

สุดท้ายแล้วที่ประชุมได้แจ้งอัลท์แมนเรื่องการไล่ออกผ่านทาง "กูเกิลมีท" โดยให้เหตุผลว่าเขามักไม่ตรงไปตรงมา หรือไม่มีความชัดเจนในด้านการสื่อสาร ขณะที่เกร็ก บร็อคแมน ประกาศลาออกตามในเวลาต่อมาเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย 

"ผมภูมิใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่เราได้สร้างขึ้นมาด้วยกันตั้งแต่เริ่มต้นในอพาร์ตเมนต์ของผมเมื่อ 8 ปีที่แล้ว" บร็อคแมนเขียนตอบโพสต์ของอัลท์แมนที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

"เราได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและยิ่งใหญ่มาด้วยกัน ประสบความสำเร็จมากมายแม้เผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายต่าง ๆ ก็ตาม แต่จากข่าวในวันนี้ ผมขอลาออก และขออวยพรให้พวกคุณประสบแต่สิ่งที่ดีที่สุดอย่างแท้จริง ผมยังคงเชื่อมั่นในภารกิจการสร้างปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) ที่ปลอดภัยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ"