‘เศรษฐกิจญี่ปุ่น’ หดตัวมากกว่าคาดการณ์ ผลจากเงินเฟ้อ - ดีมานด์ลดลง

‘เศรษฐกิจญี่ปุ่น’ หดตัวมากกว่าคาดการณ์ ผลจากเงินเฟ้อ - ดีมานด์ลดลง

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาส 3 หดตัวรวดเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มสูง ความต้องการผู้บริโภคลดลง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานเมื่อวันอังคาร (14 พ.ย.66) ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาส 3 หดตัวรวดเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ฉุดความต้องการบริโภค และการส่งออกก็ประสบปัญหาความต้องการสินค้าลดลง

ความต้องการบริโภค และความต้องการสินค้าลดลง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 ที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวสลับกับหดตัว

ข้อมูลจากรัฐบาล ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 2.1% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังจากขยายตัว 4.8% ในไตรมาสเดือนเม.ย.- มิ.ย. ถือเป็นภาวะเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 และหดตัวมากกว่าที่โพลรอยเตอร์คาดไว้ 0.6%

เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกยังหดตัว 0.5% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขยายตัว 1.2% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกถือเป็นการหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ 0.1%

ตัวเลขจีดีพีที่ตกต่ำลงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้จ่ายด้านเงินทุนในประเทศน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยลดลงประมาณ 0.6% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบไตรมาส 2 ซึ่งตรงข้ามที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.3% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในญี่ปุ่นยังคงที่ในไตรมาสนี้ เนื่องจากความต้องการทั้งใน และต่างประเทศฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

ขณะที่ค่าเงินเยนมีการซื้อขายช่วงเช้าของวันนี้ อยู่ที่ประมาณ 150.6 เยนต่อดอลลาร์ สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี และใกล้สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี

การเติบโตของเศรษฐกิจล่าสุดนี้ ตอกย้ำความท้าทายด้านนโยบายที่นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ และผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นคาสุโอะ อูเอดะ ต้องเผชิญในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

อ้างอิง:CNBC

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์