ญี่ปุ่นวิกฤติ! อากาศร้อนขึ้น ทำภูเขาไฟฟูจิ ‘ไม่มีหิมะ’ สกีรีสอร์ท ต้องเลื่อนเปิด

ญี่ปุ่นวิกฤติ! อากาศร้อนขึ้น ทำภูเขาไฟฟูจิ ‘ไม่มีหิมะ’ สกีรีสอร์ท ต้องเลื่อนเปิด

ภูเขาไฟฟูจิไม่เหมือนเช่นเคย! ญี่ปุ่นเผชิญอากาศอบอุ่นขึ้น ทำหิมะบนภูเขาไฟฟูจิละลาย เกิดจากความกดอากาศสูง-เอลนีโญ คาด อนาคตฤดูหนาวจะอุ่นขึ้นอีก-กระทบสิ่งมีชีวิตทั่วโลก

ภาพหิมะสีขาวโพลนปกคลุมทั่วยอดภูเขาไฟฟูจิเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคนที่จะได้มีโอกาสไปเยือนสักครั้ง แต่ในปีนี้ฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นอาจแตกต่างไปจากครั้งไหนๆ โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าว “เอ็นเอชเค” (NHK) รายงานว่า ขณะนี้ “ญี่ปุ่น” กำลังเผชิญกับอากาศอบอุ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พบว่า หิมะที่เคยปกคลุมทั่วภูเขาไฟฟูจิละลายหมดแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นผิดปกติในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

“เอ็นเอชเค” ระบุว่า ทางด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากมีกระแสลมอุ่นพัดผ่าน ทั้งยังพบอีกว่า ใจกลางกรุงโตเกียวมีอุณหภูมิสูงที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติเมื่อปี 1923 ซึ่งภาวะที่อุณหภูมิปรับตัวสูงขึ้นเช่นนี้ยังแผ่ขยายมายังบริเวณภูเขาไฟฟูจิซึ่งอยู่ทางตะวันตกของญี่ปุ่น จากการบันทึกพบว่า ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภูเขาไฟฟูจิมีอุณหภูมิมากกว่า 0 องศา ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นเพียง 7 ครั้งนับตั้งแต่มีการจดบันทึกในปี 1932

เมื่อไม่มีหิมะปกคลุมเหมือนก่อน บริการ “สกีรีสอร์ท” จึงต้องเลื่อนเปิดออกไป โดยพบว่า สกีรีสอร์ทในจังหวัดนากาโนเผชิญกับภาวะขาดแคลนหิมะ ล่าสุดมีการเลื่อนวันเวลาเปิดทำการออกไปในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนแทนเนื่องจากหิมะเทียมในลานสกียังคงละลายต่อเนื่อง 

ไม่เพียง “หิมะ” เท่านั้น แต่ในฤดูกาลนี้ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม “ใบไม้เปลี่ยนสี” ย่านกรุงเกียวโตที่ได้ชื่อว่า มีสีสันของฤดูใบไม้เปลี่ยนที่สวยงามซึ่งในปีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานสวนอุเมะโคจิ เมืองเกียวโต ให้ข้อมูลว่า มีกิ่งต้นเมเปิ้ลร่วงตายมากมายเนื่องจากทนคลื่นความร้อนไม่ไหว แม้เจ้าหน้าที่จะคอยรดน้ำต้นไม้อย่างสม่ำเสมอแต่ก็ไม่อาจต้านทานคลื่นความร้อนที่ปรับตัวสูงกว่าปีก่อนๆ ได้

อย่างไรก็ตาม นักอุตุนิยมวิทยาวิเคราะห์ว่า สภาพอากาศอบอุ่นนอกฤดูกาลเช่นนี้มาจากปัจจัยสำคัญสองส่วนด้วยกัน ประการแรก ความกดอากาศที่สูงต่อเนื่องในแถบแปซิฟิกใต้ที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และจะยังส่งผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ และประการถัดมา เกิดจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” เป็นแรงหนุนสำคัญ แม้ว่าเอลนีโญจะเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติแต่ขณะเดียวกันก็พบว่า สถานการณ์เอลนีโญในปีนี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อุณหภูมิมีแนวโน้มปรับตัวสูงกว่าปกติค่อนข้างมาก

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รวดเร็วเช่นนี้อาจทำให้ในอนาคตญี่ปุ่นและทั่วโลกต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่จะไต่ระดับทำลายสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ฤดูหนาวอาจมีอากาศอบอุ่นขึ้นอีกซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

อ้างอิง: NHK