เปิดหมายประชุมเอเปค นายกฯต่อยอด 'ศก.บีซีจี' ชูพลังงานกรีนดึงดูดนักลงทุน

เปิดหมายประชุมเอเปค นายกฯต่อยอด 'ศก.บีซีจี' ชูพลังงานกรีนดึงดูดนักลงทุน

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า คอนเซปต์การประชุมในปีนี้ เป็นการต่อยอดจากประเด็นต่าง ๆ ที่ไทยเสนอเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงทั้งแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี และเตรียมนำเสนอการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่ม

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกำหนดการของการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) ระหว่างวันที่ 11-17 พ.ย. ณ ประเทศสหรัฐ ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามคำเชิญประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า คอนเซปต์การประชุมในปีนี้ เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จที่ไทยนำเสนอประเด็นต่าง ๆ เมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก

เมื่อปีก่อนไทยประกาศเอกสารแบงค็อกโกลส์ Bio-Circular-GreenEconomy หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นประเด็นหลักในการหารือของเอเปค และสหรัฐก็สานต่อในปีนี้

อธิบดีเผยว่า เอเปคจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี 2 รายการ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรีคลัง ซึ่งนายกฯ และรมช.คลังจะเป็นผู้เข้าร่วมประชุม ขณะที่การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเปค  รมว.กต. และรมว.พาณิชย์จะเป็นผู้เข้าร่วมประชุม

ในช่วงสัปดาห์ผู้นำเอเปค จะแบ่งการประชุมออกเป็น 4 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย. ส่วนที่ 2 และ 3 เป็นการประชุมของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการประชุมการคลังและพาณิชย์ ช่วงวันที่ 14-15 พ.ย. ส่วนที่ 4 เป็นการประชุมผู้นำ ซึ่งเชิดชายคาดว่าประเทศสมาชิกเอเปคทั้งหมดจะเข้าร่วมประชุม

สำหรับกำหนดการประชุมของนายกฯ อธิบดีเชิดชายสรุปไว้ดังนี้

1.นายกฯเข้าร่วมประชุม CEO Summit วันที่ 15 พ.ย. และกล่าวปาฐกถาประมาณ 20 นาที

2.นายกฯเข้าร่วม Exclusive Dinner ในช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ย. กับบรรดาผู้บริหารสหรัฐ โดยมีประธานบริษัทเจนสตาร์แคปิตอล บริษัทระดมทุน เป็นประธานของงาน และมีซีอีโอบริษัทขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมดินเนอร์ด้วย

3.นายกฯเข้าร่วม APEC Leaders Dialogue วันที่ 16 พ.ย. โดยมีแขกของเจ้าภาพ 3-4 ประเทศ รวมถึงอินเดียด้วย ขณะที่ฟิจิและโคลัมเบียยังไม่ยืนยันเข้าร่วม ต้องรอสหรัฐแถลงต่อไป

4.นายกฯเข้าร่วมประชุมสภาที่ปรึกษธุรกิจเอเปค หรือ เอแบค (ABAC) โดยช่วงแรกของการประชุม “โดมินิก อึ้ง” ประธานอีสต์เวสต์แบงก์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้รับการแต่งตั้งจากปธน.ไบเดน ให้เป็นประธานจัดประชุมเอแบค จะกล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคเอกชนและภาครัฐ จากนั้นไบเดนจะขึ้นกล่าวในฐานะประธานเอเปคต่อไป

ช่วงที่ 2 จะเป็นการแบ่งกลุ่ม โดยนายกฯเศรษฐาจะอยู่กลุ่มเดียวกับผู้นำจีน เวียดนาม และปาปัวนิวกินี ซึ่งนายกฯจะกล่าวเกี่ยวกับมุมมองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภูมิภาคโดยสังเขป

ช่วงสุดท้ายเป็นการประชุม Leader's retreat ซึ่งเชิดชายบอกว่า ถือเป็นสุดยอดของการประชุมเอเปคในปีนี้ โดยผู้นำทุกคนจะมาร่วมพูดคุยถึงประเด็นที่แต่ละคนให้ความสำคัญ

ประเด็นสำคัญที่ไทยอยากผลักดันในการร่วมประชุมเอเปคมี 5 ประเด็น ได้แก่

1.การลงทุน 

เชิดชายเผยว่า นายกฯเศรษฐาเน้นให้ความสำคัญกับการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มาก ทั้งเอฟทีเอในภูมิภาคและในระดับทวิภาคี และรัฐบาลจะดำเนินการผลักดันเอฟทีเออย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากปีที่แล้วไทยได้รือฟื้นเอฟทีเอของภูมิภาค หรือ FTAAP ดังนั้นเอฟแทปจะมีบทบาทในการสนทนาในปีนี้ด้วย

2.ความเชื่อมโยง 

รัฐบาลไทยจะเน้นย้ำถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งในบริบทของเอเปค โครงการนี้ไม่ได้เพียงเชื่อมโยงอ่าวไทยและอันดามันเท่านั้น แต่รวมถึงจุดเชื่อมต่อระหว่างเอเชียแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการค้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ 

3.ความยั่งยืน 

ประเทศไทยคาดว่าจะนำประเด็นพลังงานสีเขียวที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการทำธุรกิจไปนำเสนอ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเชิดชายเสริมว่าการนำเข้าพลังงานของไทยแบ่งเป็นพลังงานสะอาด 75% กับพลังงานฟอสซิล 25% และกำลังลดการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง

4.เศรษฐกิจดิจิทัล 

แต่เดิมเวทีเอเปคมักพูดถึงความสะดวกของการโอนเงินตราต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเอไอเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว และยังสร้างผลกระทบกับคนในสังคมอยู่ ไทยและการประชุมใหญ่ ๆ ที่ผ่านมา ต่างเล็งเห็นว่าโลกควรมีธรรมาภิบาลด้านเอไอ และไทยอยากให้เอเปคเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้น

5.ความครอบคลุมและความเท่าเทียม 

ภูมิภาคจะร่วมกันผลักดันบทบาทของสตรีและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการประชุมเอเปคแล้ว นายกฯยังมีกำหนดการอื่น ๆ อีก เช่น การพบปะภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนสหรัฐ การจัดโต๊ะกลม และการหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำประเทศที่สำคัญต่อไทยเท่าที่เป็นไปได้และ 

ยังได้รับเชิญพิเศษ ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในฟอร์รัมความยั่งยืน โดยจะเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน (บีซีจี) ประมาณ 20-30 นาที ในวันที่ 14 พ.ย.

นอกจากนี้ ไอเดียมอบรางวัลบีซีจี เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเอสเอ็มอี วิสาหกิจที่ขับเคลื่อนโดยสตรีและวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนโดยเยาวชนของไทย ที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกเมื่อปีก่อน ส่งผลให้เอเปคในปีนี้จะมอบรางวัลให้แต่ละวิสาหกิจ 2 รางวัล ในวันที่ 14 พ.ย. และมีสปอนเซอร์มาจากหลายเขตเศรษฐกิจ เช่น จีน แคนาดา ฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งมีวิสาหกิจไทยร่วมชิงรางวัลด้วย