“เศรษฐา”บินสหรัฐร่วมเอเปค2023 รับปฏิญญาผู้นำ“เปลี่ยนผ่าน”อย่างยั่งยืน

“เศรษฐา”บินสหรัฐร่วมเอเปค2023  รับปฏิญญาผู้นำ“เปลี่ยนผ่าน”อย่างยั่งยืน

คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับรอง เอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีและการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2023 จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2023 (ร่างปฏิญญาฯ)และร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2023(ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ)

oเศรษฐา ร่วมประชุมผู้นำเอเปคที่สหรัฐ

oรมช.พาณิชย์ ถกสมาชิกเอเปคสร้างการค้ายืดหยุ่น-ยั่งยืน

oเปิดรายละเอียด เอกสารผลลัพธ์การประชุมเอเปค2023

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีการต่างประเทศเอเปค ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ย. 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) โดยการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะกล่าวถ้อยแถลงของไทยในวาระการประชุมเรื่อง “การสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (Interconnected) ที่ส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” ก่อนสรุปผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ เสนอที่ประชุมผู้นำเอเปค วันที่ 16-17 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ สหรัฐตั้งเป้าหมายให้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ถ้อยแถลงรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2566 และ 2) ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ “Golden Gate Declaration” โดยมีประเด็นการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการสานต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยเมื่อปี 2565 เช่น การขับเคลื่อนนโยบายทางการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีกับการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) และการค้ากับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

“เศรษฐา”บินสหรัฐร่วมเอเปค2023  รับปฏิญญาผู้นำ“เปลี่ยนผ่าน”อย่างยั่งยืน

 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะจะร่วมการประชุมเอเปคที่จะมีขึ้น11-17 พ.ย. 2566 ประกอบด้วยการประชุมรัฐมนตรีคลัง, การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีการค้า ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับทุกคน”  ซึ่งระหว่างการประชุมจะมีการรับรองเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างถ้อยแถลงรวมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับรัฐมนตรีมีสาระสำคัญเพื่อทบทวนการทำงานของเอเปคในปีที่ผ่านมา และให้แนวทางสำหรับการดำเนินการต่อไป 

สำหรับ“ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ”  คือเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับรัฐมนตรี มีสาระสำคัญเพื่อทบทวนการทำงานของเอเปคในปีที่ผ่านมาและให้แนวทางสำหรับการดำเนินการต่อไป โดยเน้น 1. การเสริมสร้างความเชื่อมโยง โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุนและห่วงโซ่ อุปทาน สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง และสานต่องานเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกการเดินทางและเสริมสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต

2.การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเน้นการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ผลักดันการเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน การปฏิรูปโครงสร้าง การขจัดคอร์รัปชัน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว 

3.การเสริมสร้างความครอบคลุม ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสตรี วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม

สำหรับร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2023 คือ เอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับผู้นำ ที่ย้ำความมุ่งมั่นได้แก่ 1. การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เสรี และการมีห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นพร้อมรับแรงเสียดทาน 2.การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ 3. การสนับสนุนแรงงานและการเสริมสร้างความครอบคลุมและความเท่าเทียมสำหรับสตรี เยาวชนและกลุ่มอื่นๆ ที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และ4.การเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม

“การดำเนินการตามร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคและร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุมของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคและของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในภาพรวม”

ทั้งนี้การประชุมเอเปค ปีนี้ มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของไทย และเป็นการสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยเมื่อปี 2022 และสะท้อนบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับความท้าทายและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)  หรือ Asia -Pacific Economic Cooperation : APEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมซึ่งปัจจุบันมี 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก (รวมไทย)