‘รัสเซีย-จีน’ ฉวยวิกฤติตะวันออกกลางพลิกกระแสโดดเดี่ยวสหรัฐ

‘รัสเซีย-จีน’ ฉวยวิกฤติตะวันออกกลางพลิกกระแสโดดเดี่ยวสหรัฐ

นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน สหรัฐพยายามโดดเดี่ยวรัฐบาลมอสโกพร้อมกดดันจีนให้ตีตัวออกห่าง เมื่อเกิดสงครามในตะวันออกกลาง รัสเซียและจีนพยายามพลิกเกม

 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) สหรัฐฉายภาพรัสเซียเป็นตัวป่วนระเบียบโลก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำมั่นกับ UNSC ว่า วอชิงตันจะใช้สิทธิยับยั้ง (วีโต้) ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น แต่สัปดาห์ก่อนสหรัฐวีโต้ร่างข้อมติที่ดูแล้วน่าจะได้เสียงสนับสนุนจากพันธมิตรไม่เพียงพอ

ในการแสดงความเห็นที่จงใจสื่อไปถึงโลกอิสลาม รัสเซียกล่าวหาสหรัฐทำให้วิกฤติบานปลายด้วยการเสริมกำลังทหาร ขณะเดียวกันจีนประณามการวีโต้ของสหรัฐและการกระทำของอิสราเอล

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากจีนและรัสเซียนับว่าสะเทือนขวัญทางการสหรัฐพอสมควร ด้วยเคลือบแคลงว่าระหว่างที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเดินสายเยือนประเทศโน้นประเทศนี้ในตะวันออกกลางมหาอำนาจคู่แข่งทั้งสองรายอาจดำเนินความพยายามทางการทูตคู่ขนานไปด้วยก็ได้

ในอดีตสหรัฐเคยถูกโดดเดี่ยวกับการแนบชิดอิสราเอลมาแล้ว แม้ว่าขณะนี้พันธมิตรยุโรปส่วนใหญ่สนับสนุนอิสราเอลเช่นเดียวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็ตาม

ตอนไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเขามีเป้าหมายหันเหความสนใจจากความยุ่งยากของตะวันออกกลางโดยมองจีนว่าเป็นความท้าทายใหญ่สุดในระยะยาวของสหรัฐ

“นี่ไม่ใช่ภูมิภาคที่สหรัฐต้องการเข้าไปยุ่งมากและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในเวลาเดียวกันโดยเฉพาะประธานาธิบดีคนนี้ก็มุ่งมั่นลึกซึ้งกับอิสราเอล จีนค่อนข้างยินดีที่ได้เห็นสหรัฐลดความสำคัญของภูมิภาคที่จีนไม่เคยสนใจแต่ตอนนี้สนใจแล้ว” เลสลี วินจามูรี ผู้อำนวยการโครงการสหรัฐและอเมริกาจากชาตัมเฮาส์ให้ความเห็น

หันเหความสนใจจากรัสเซีย

กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกเข้าไปในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. สังหารประชาชนอย่างน้อย1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนทั้งในบ้านและในเทศกาลดนตรี ทั้งยังจับตัวประกันไปกว่า 200 คน ขณะที่อิสราเอลตอบโต้ด้วยการถล่มฉนวนกาซาทางอากาศ คร่าชีวิตประชาชนกว่า 5,700 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

การจู่โจมของฮามาสเกิดขึ้น 50 ปีหลังอียิปต์และซีเรียถล่มอิสราเอลในวันยมคิปปูร์ สองเหตุการณ์นี้แม้เหมือนกันแต่ก็มีความต่าง ตอนนั้นรัสเซียเป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐอาหรับ

รัสเซียส่งกองกำลังกลับเข้ามายังซีเรียในปี 2015 เพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด แม้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยังคงมีความสัมพันธ์กับอิสราเอลก็ตาม

“ไม่มีใครคาดหวังว่ารัสเซียจะก่อประโยชน์โพดผลอะไรที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดยิงหรือความพยายามต่อรองปล่อยตัวประกัน ตั้งแต่ปี 2022 มีแต่เรื่องของยูเครน ดังนั้นเมื่อโศกนาฏกรรมนี้เกิดขึ้นกลายเป็นของขวัญให้กับปูติน เพราะความสนใจเปลี่ยนทิศทางทันที” ยูจีน รูเมอร์ ผู้อำนวยการโครงการรัสเซียและยูเรเซีย มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศกล่าว

ไบเดนนั้นพยายามเชื่อมโยงปูตินกับฮามาส ในการแถลงข่าวที่ห้องทำงานรูปไข่เมื่อสัปดาห์ก่อน ไบเดนกล่าวว่า ทั้งสองคือ “ทรราชย์” ที่พยายาม “ทำลายล้างประชาธิปไตยของเพื่อนบ้านลงอย่างสิ้นเชิง” รัสเซียประณามถ้อยแถลงดังกล่าว ในการประชุม UNSC เมื่อวันอังคาร (24 ต.ค.) วาสซิลี เนเบนเซีย ทูตรัสเซียกล่าวหาสหรัฐไม่ยอมตอบสนองความต้องการของโลกให้หยุดยิงทั้งหมด

จีนเก็บแต้มเพิ่ม

ทั้งจีนและสหรัฐต่างแสวงหาข้อได้เปรียบจากวิกฤติครั้งนี้ รวมถึงการโทรศัพท์หากันของบลิงเคนกับหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน

สหรัฐกดดันมาตลอดให้จีนแสดงบทบาทในตะวันออกกลางให้มากกว่านี้ตามที่จีนหมายมาดเอาไว้ และขอให้จีนใช้อิทธิพลที่มีต่อผู้นำศาสนาของอิหร่านที่สนับสนุนฮามาส 

รัฐบาลปักกิ่งส่งทูตคนหนึ่งเข้ามาตะวันออกกลางเพื่อตอกย้ำการสนับสนุนปาเลสไตน์

โจนาธาน ฟุลตัน ผู้เชี่ยวชาญจากสภาแอตแลนติกว่าด้วยบทบาทจีนในตะวันออกกลาง กล่าวว่า ปักกิ่งมองวิกฤตินี้ “เป็นโอกาสที่จะทำแต้มเพิ่มเหนือสหรัฐ” จีนน่าจะหวังได้รับแรงสนับสนุนจากอาหรับและโลกอิสลามไม่ให้สนใจไต้หวัน และปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐที่ว่า ปักกิ่งกำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมอุยกูร์ แต่ฟุลตันกล่าวว่า สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของปักกิ่งมากที่สุดในตะวันออกกลางยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เพราะจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกพึ่งพาน้ำมันนำเข้าอย่างมาก

ด้วยทรัพยากรทางการทูตและความมั่นคงที่มีอยู่อย่างจำกัดในตะวันออกกลาง จีนมีผลประโยชน์สองเด้งในการทำให้สหรัฐหมกมุ่นอยู่กับวิกฤตินี้

“เห็นได้ชัดว่าสำหรับจีนย่อมเป็นการดีกว่าหากสหรัฐติดอยู่กับตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เซีย แต่ถ้าสหรัฐจัดหาโครงสร้างด้านความมั่นคงที่ดูแลตะวันออกกลางได้ต่อไป จีนก็ไม่ต้องทำงานหนักด้วยตนเอง” ฟุลตันสรุป