เศรษฐกิจไม่ดี แต่ทำไม 'เยอรมนี' จ่อขึ้นเบอร์ 3 โลกแทนที่ 'ญี่ปุ่น'

เศรษฐกิจไม่ดี แต่ทำไม 'เยอรมนี' จ่อขึ้นเบอร์ 3 โลกแทนที่ 'ญี่ปุ่น'

เศรษฐกิจก็แย่ จีดีพีก็ถดถอย แต่ทำไม 'เยอรมนี' กำลังจะแซง 'ญี่ปุ่น' ขึ้นเป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลกในปีนี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการตัวเลขล่าสุดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (nominal GDP) ของประเทศเยอรมนีในปีนี้ จะอยู่ที่ 4.43 ล้านล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่าญี่ปุ่นซึ่งจะอยู่ที่ 4.23 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าเยอรมนีกำลังจะแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแค่สหรัฐและจีนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การแซงญี่ปุ่นในครั้งนี้ไม่ได้มาจากเศรษฐกิจเยอรมนีที่แข็งแกร่งขึ้น แต่เป็นเพราะเรื่อง "ค่าเงิน" ที่การอ่อนค่าลงอย่างหนักของค่าเงินเยน กำลังทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดลง 

ในปี 2566 นี้ ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงไปแล้วมากกว่า 12% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ โดยอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 33 ปี และยังอ่อนค่าลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับเงินยูโรเช่นกัน

จากที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 140.6 เยนต่อยูโร ณ สิ้นปี 2565 ปัจจุบันค่าเงินเยนอ่อนค่าลงไปใกล้แตะ 160 เยนต่อยูโรแล้ว ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เงินเยนเคยอ่อนค่าจนถึงระดับดังกล่าวก็คือ ช่วงวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในเดือน ส.ค. 2008

เศรษฐกิจไม่ดี แต่ทำไม \'เยอรมนี\' จ่อขึ้นเบอร์ 3 โลกแทนที่ \'ญี่ปุ่น\'

ทั้งนี้ ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างหนักมาจากปัจจัยพื้นฐานเรื่องนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากเกิดภาวะเงินฝืดมานานในขณะที่ฝั่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต่างปรับนโยบายจากการเงินผ่อนคลายไปเป็นการเงินตึงตัวด้วยการขึ้นดอกเบี้ยกันหมดแล้ว  

ขณะที่การส่งสัญญาณเรื่องทิศทางดอกเบี้ยสูงขึ้นและนานขึ้น (Higher-for-longer) จากเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางค่าเงินเยนอีกด้วย ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าการประชุมของบีโอเจในสัปดาห์หน้า อาจมีการหารือเรื่องการควบคุมบอนด์ยีลด์ แต่การยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้นคาดว่าอาจมีขึ้นในปีหน้า 2567

"เป็นเรื่องจริงที่ศักยภาพการเติบโตของญี่ปุ่นถูกแซงและกำลังโตอย่างช้าๆ เราต้องการกลับมาแข็งแกร่งเหมือนที่เคยเป็นเมื่อ 20 หรือ 30 ปีก่อน ซึ่งเรากำลังจะออกมาตรการต่างๆ มากระตุ้นเพื่อให้บรรลุผลให้ได้ " ยาสึโทชิ นิชิมุระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกล่าว 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเพิ่งประกาศมาตรการขยายการอุดหนุนราคาพลังงานออกไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. ปีหน้า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน และยังเตรียมเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษบกิจต่างๆ ออกมาในเร็วๆ นี้ด้วย   

สำหรับเศรษฐกิจของเยอรมนีที่กำลังจะขึ้นมาแซงหน้าญี่ปุ่นเป็นเบอร์ 3 ของโลกนั้น ยังอยู่ในภาวะที่ไม่สู้ดีเท่าใดนักโดยเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ หลังจากที่รายงานตัวเลขจีดีพีหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และหดตัวต่อเนื่องสามไตรมาสมาจนถึงปีนี้ โดยจีดีพีของเยอรมนีหดตัว 0.5%, 0.3% และ 0.2% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จีดีพีต่อหัวประชากรของเยอรมนียังคงอยู่ในระดับสูง โดยอยู่ที่ 52,824 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่ 33,950 ดอลลาร์