SK GROUP ‘หย่า’ เขย่าเศรษฐกิจ

SK GROUP  ‘หย่า’ เขย่าเศรษฐกิจ

มนุษย์ชอบเรื่องเล่ากันทุกวัย ละคร นิยาย ภาพยนตร์ และการเล่าข่าวในโทรทัศน์ขายดีก็เพราะสัญชาตญาณนี้ของมนุษย์ เรื่องที่ชอบเป็นพิเศษก็คือเรื่องของครอบครัวคนอื่น โดยเฉพาะเกี่ยวกับความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้ง ถ้าตีกันจะยิ่งสนใจเป็นทวีคูณ

วันนี้ลองมาฟังเรื่อง “สนุก” แนวนี้ที่มีสาระ เพราะเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการล่มสลายของการครองอำนาจมายาวนานในเศรษฐกิจ จนอาจมีผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อประชาชนได้ 

ประเทศนี้คือเกาหลีใต้ ตัวละครเอกคือ “คู่แต่งงานแห่งศตวรรษ” เมื่อ 30 ปีก่อน ในปี 2532 Chey Tae-won ลูกชายคนโตของประธานกรรมการกลุ่มบริษัท Sunkyung (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น SK Group) ซึ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Chaebol (กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมที่มีอำนาจเศรษฐกิจมหาศาล) แต่งงานกับ Roh Soh-yeong ลูกของประธานาธิบดี Roh Tae-woo 

ทั้งคู่เรียนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก เมื่อพื้นฐานเป็นอย่างนี้จะไม่เป็นคู่แต่งงานดังแห่งศตวรรษไปได้อย่างไร ตลอดเวลา 30 กว่าปีของการแต่งงาน บริษัทก็เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่ง

จากธุรกิจกลั่นน้ำมัน ก็ขยายไปยังกิจการโทรคมนาคมและอื่นๆ จนเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สองของประเทศ มีมูลค่า 113,000 ล้านดอลลาร์ (4.1 ล้านล้านบาท) หนึ่งในบริษัทของกลุ่ม คือ SK Telecom ประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่สุดของประเทศ และ SK Hynix บริษัทผลิตชิปใหญ่ที่สองของโลก

ชีวิตน่าจะราบรื่นไปด้วยดี ทั้งเก่งทั้งสวยทั้งหล่อและสุดรวย ครอบครัวมีลูกน่ารัก 3 คน ตัวสามีก็ใหญ่โตขึ้นมาเป็นประธานกรรมการ SK Group แทนพ่อ ตัวแม่ก็ช่วยกิจการสามีและดูแลครอบครัว แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ในปี 2558 Chey ยอมรับว่าแอบมีลูกนอกสมรสกับหญิงอื่น และไม่สามารถจะมีสองครอบครัวพร้อมกันได้ จึงขอฟ้องหย่าภรรยา ดร.ทางเศรษฐศาสตร์ ผู้มีบุคลิกอันแข็งแกร่ง

คดีนี้สื่อและประชาชนเกาหลีใต้ “สนุก” กันมาก เพราะเป็นเรื่อง “ใต้เตียง” ของคนสุดรวยที่นานๆ ทีจะมีหลุดเล็ดลอดออกมา อย่างไรก็ดี ในเวลาไม่นานก็เริ่มมีคนกังวลว่าจะเปรียบเสมือนแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ 

Chaebol สำคัญอย่างไรหรือจึงทำให้เกิดความหวาดหวั่นกัน Chaebol หมายถึง กลุ่มของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ (Hyundai/Hanwha/GS Group/ฯลฯ) ที่มีครอบครัวต่างๆ ควบคุมการบริหาร และเป็นเจ้าของ มันเป็นเครือข่ายขนาดยักษ์ที่มีรากงอกออกไปสู่แทบทุกอณูของเศรษฐกิจ 

เพราะแต่ละกลุ่มบริษัทก็แตกลูกออกเป็นบริษัทลูกอีกมากมายในหลากหลายธุรกิจ มีอิทธิพลต่อการจ้างงาน รายได้ ความกินดีอยู่ดีของผู้คนจำนวนมหาศาล และทั้งหมดอยู่ภายใต้การครอบงำของครอบครัวอภิมหาเศรษฐีจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เกาหลีใต้ได้เลือกเส้นทางการพัฒนาประเทศตามโมเดลนี้สู่ความร่ำรวย (คนเกาหลีใต้โดยเฉลี่ยมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าคนไทยประมาณ 4.5 เท่า) 

เมื่อ 50 ปีก่อนในสมัยของประธานาธิบดี Park Chung Hee ผู้ได้อำนาจมาจากการปฏิวัติและเป็นประธานาธิบดีอยู่ 18 ปี (2504-2522) เกาหลีใต้ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ความมั่งคั่งขึ้นเป็นลำดับ โดยมี “ราคา” ที่ต้องจ่ายไม่น้อย

โมเดลของ Park ก็คือ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ โดยต้องการให้เป็นหัวรถจักรฉุดเศรษฐกิจ รัฐบาลให้เงินกู้ยืมขนาดใหญ่แก่บริษัทอุตสาหกรรมที่เลือกแล้ว โดยค้ำประกันให้ด้วย สนับสนุนทุกวิถีทางทั้งนโยบายและมาตรการภาษี

โครงสร้างพื้นฐานและความสามารถในการประกอบการของเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรม ที่รับทอดมาจากญี่ปุ่นผู้ยึดครองระหว่างปี 2453-2488 สามารถตอบรับนโยบายนี้ได้เป็นอย่างดี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องโดยทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจและการเมืองมิได้แยกขาดจากกัน เมื่อบริษัทเหล่านี้ใหญ่โตและร่ำรวยขึ้นก็มีอิทธิพลต่อการเมืองอย่างมหาศาล คอร์รัปชันเกิดขึ้นดาษดื่นในทุกระดับ

มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการผูกขาด เอาเปรียบผู้บริโภค ฯลฯ บริษัทเหล่านี้รวมพลังกันพยายามรักษาให้รูปแบบเศรษฐกิจนี้ดำรงอยู่ต่อไป นักวิชาการเรียกกลุ่มบริษัทยักษ์เหล่านี้ว่า Chaebol อย่างที่เคยเรียกปรากฏการณ์ใกล้เคียงกันของบริษัทยักษ์ในญี่ปุ่นว่า Keiretsu

ขอกลับมาเรื่อง “สนุก” ต่อ ในที่สุดศาลตัดสินเมื่อปลายปี 2565 ให้ Roh ได้รับเงินสด 50 ล้านดอลลาร์และไม่ให้หุ้นใน SK Group เลย ทั้งๆ ที่เธอขอไปครึ่งหนึ่งของ 17.5% ที่สามีเธอมีอยู่ใน SK Group

เธอต่อสู้อุทธรณ์คดีโดยบอกว่ายอดเงินนี้เป็นเพียง 1.2% ของความมั่งคั่งทั้งหมดของสามี และน้อยกว่า 5% ของที่เธอขอไป เธอเลี้ยงลูกให้เขา 3 คน ยืนเคียงข้างสามีตลอดเวลากว่า 30 ปี และเธอบอกใบ้ว่าจะให้การในศาลว่าพ่อเธอเคยช่วยเหลือ SK Group อย่างไรในการได้รับใบอนุญาตสำหรับประกอบการโทรศัพท์มือถือ

เรื่องนี้วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าไม่เป็นธรรม เพราะปกติศาลเกาหลียอมรับสิ่งที่เรียกว่า “home labor” หรือคุณค่าของงานให้แก่ครอบครัว ในคดีแพ่งลักษณะนี้ศาลเคยให้ภรรยาถึง 30% ของความมั่งคั่งของสามี Roh ได้รับความเห็นใจจากคนเกาหลีเพราะเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างเพศกำลังเป็นประเด็น

ผู้รู้ในเกาหลีใต้บอกว่า ผู้พิพากษาพบความกดดันอย่างมากในคดีนี้ เพราะคำตัดสินแบ่งสมบัติหุ้นอาจมีผลต่ออนาคตของ Chaebol ได้ คดีทะเลาะเบาะแว้งแย่งหุ้น แย่งชิงความเป็นใหญ่ในครอบครัวปรากฏให้เห็นในหลายคดีของครอบครัว Chaebol

เช่น LG/Samsung/Lotte ฯลฯ การตัดสินแบ่งหุ้นโดยกระจายออกไปสู่หลายคน ไม่ตกอยู่ในมือคนเดียว หรือกลุ่มเดียวดังที่เคยเป็นมา อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่ออนาคตของเศรษฐกิจและของประเทศก็เป็นได้

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่อง “ในมุ้ง” ของครอบครัวเดียวอาจนำไปสู่ปัญหาของอีกหลายล้านครอบครัวได้ในเวลาต่อไป ความเสี่ยงเช่นนี้คือ “ราคา” ที่เกาหลีใต้ต้องจ่ายแลกกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Chaebol ในโลกแห่งความไม่แน่นอนยิ่งขึ้นของโลกใบนี้ 

สิ่งพึงหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งก็คือ การสร้างความเสี่ยงขึ้นเสียเองโดยรัฐบาล เพราะจะทำให้ประเทศต้องประสบความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นโดยใช่เหตุ