'ปฏิรูปโครงสร้างเปลี่ยนประเทศ' ปลดปล่อยพลังเศรษฐกิจไทย

'ปฏิรูปโครงสร้างเปลี่ยนประเทศ' ปลดปล่อยพลังเศรษฐกิจไทย

“ถ้าเราไปเอาเงินของอนาคตมาใช้ตอนนี้เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวได้แต่จะเป็นภาระของลูกหลาน เป็นภาระของงบประมาณและการขยายตัวอย่างยั่งยืน เพราะในที่่สุดการเป็นหนี้ก็ต้องมีดอกเบี้ยซึ่งต้องนำงบประมาณมาจ่ายหนี้และดอกเบี้ย

ประเทศไทยช่วงเก้าปีที่ผ่านมาหลายคนมองว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย" หลังการรัฐประหารปี 2557 เศรษฐกิจไทยไม่เติบโตมากเท่าที่ควรจะเป็น ครั้นได้รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จึงน่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ประเทศไทยจะเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหนหากวิธีการยังคงเหมือนเดิม

ศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ประเทศไทยเคยรุ่งเรืองสูงสุดเมื่อ 20 ปีที่แล้วหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4-5% นับว่ามีศักยภาพสูง

นอกจากนั้นยังมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างระบบราชการ กระทรวง ทบวง กรม จาก 14 กระทรวงเป็น 20 กระทรวง พยายามแยกให้เป็นสายงานที่เฉพาะตัวมากขึ้น มียุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเน้นอุตสาหกรรมหลัก เช่น อาหาร ท่องเที่ยว เมดิคอล สาธารณสุข การแทพย์ ยานยนต์ แฟชั่นซิตี

“จังหวะนั้นคือ peak Thailand สูงสุดแล้ว เป็นจังหวะที่ประเทศไทยมีการถูกจับตามองว่าเป็นผู้นำในภูมิภาค หลังจากนั้นก็ล้มลุกคลุกคลาน มีประท้วงปี 48 พอปี 49 ก็ยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งปี 50 จากนั้นก็มีการประท้วงอีกจากฝั่งเสื้อเหลือง จนกระทั่งยุบพรรคอีกในเดือนธันวาคม ปี 51 มีแล้วก็มีรัฐบาลจากอีกขั้วหนึ่ง ปี 52-53 มีการใช้ความรุนแรงกับคนเสื้อแดง” \'ปฏิรูปโครงสร้างเปลี่ยนประเทศ\' ปลดปล่อยพลังเศรษฐกิจไทย
 

รัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2554 พยายามกลับเข้ามาหาแนวการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ฐิตินันท์มองว่าควรเปลี่ยนรูปแบบได้แล้ว แต่รัฐบาลยังใช้แนวเดิมคือประชานิยม ลด แลก แจก แถม รับประกันราคา รับประกันเงินเดือน รับประกันค่าจ้างรายวัน รับประกันราคาข้าว ซึ่งเรียกความเชื่อมั่นมาได้ระดับหนึ่งจากการยึดอำนาจที่ต้องใช้ต้นทุนสูงทำให้สูญเสียความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ได้ไม่นาน ปี57 ก็มีการยึดอำนาจอีกรอบหนึ่งที่สร้างความเสียหายไว้มากเพราะอยู่นานถึง 9 ปี (5+4)

“9 ปีนี้เศรษฐกิจไทยลุ่มๆ ดอนๆ สังเกตจากตอนแรกๆ มีเทคโนแครต มีทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาช่วยวางแนวยุทธศาสตร์ เช่น EEC, Thailand 4.0, S-curve industries แต่เมื่อผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่เข้าใจโลกสมัยใหม่ ไม่มีมุมมองในเรื่องอนาคต ทำให้ประเทศไม่ค่อยเดินหน้า ในที่สุดแล้วทีมเศรษฐกิจเหล่านั้นก็ถอยออกมา โครงการตามยุทธศาสตร์เดินหน้าเศรษฐกิจก็เลยเคว้ง ไร้การขับเคลื่อน”

ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์แม้เศรษฐกิจขยายตัวอยู่บ้างในลักษณะเนือยๆ ไม่ได้ก้าวกระโดดและก็ไม่ได้หดตัวยกเว้นช่วงโควิด แต่เป็นการขยายตัวที่มีต้นทุนสูงเพราะหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นทุกปีกว่า 3 ล้านล้านบาท

“ถ้าเราไปเอาเงินของอนาคตมาใช้ตอนนี้เศรษฐกิจก็ขยายตัวได้แต่จะเป็นภาระของลูกหลาน เป็นภาระของงบประมาณและการขยายตัวอย่างยั่งยืน เพราะในที่่สุดการเป็นหนี้ก็ต้องมีดอกเบี้ยซึ่งต้องนำงบประมาณมาจ่ายหนี้และดอกเบี้ย ถึงจุดหนึ่งงบประมาณจะมีไม่พอมาลงทุน สังเกตได้ว่าการลงทุนพร่องไปมาก”

ถึงวันนี้ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ที่หน้าตาคล้ายรัฐบาลเดิม แต่นักวิชาการรายนี้มองว่า ผู้นำใหม่อย่างไรเสียก็ยังดีกว่าผู้นำเดิมหลายเท่าตัว การเปลี่ยนหัวนั้นสำคัญมาก

“หัวเดิมตามยุคสมัยไม่ทัน ทำให้เราอยู่ในภาวะทรุดมากกว่าทรง ผู้นำใหม่ก็มีข้อจำกัด แม้ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์กว่า แต่ไม่ได้มีฐานเสียงในพรรคมากมาย และพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีอำนาจต่อรองสักเท่าไหร่ในรัฐบาลนี้ ทำให้การบริหารจัดการบ้านเมืองและเศรษฐกิจกระจัดกระจาย กระทรวงใครกระทรวงมัน ไม่เกิดการบูรณาการ”

และเมื่อรัฐบาลใหม่บูรณาการกระทรวงเศรษฐกิจไม่ได้ เป้าหมายการเติบโตที่ 5% จะเป็นไปได้หรือไม่ ฐิตินันท์มองว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนเคยชินกับ

ของเก่าๆ ที่ต้องใช้ประชาชนนิยมเข้าหา เช่น รับประกันราคา รับประกันค่าจ้างรายวัน รับประกันเงินเดือนปริญญาตรี คล้ายๆ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่แทนที่จะเป็นจำนำข้าวรอบนี้เป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งใช้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น

“ถามว่าเศรษฐกิจจะโต 5% มั้ย ยาก ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในรูปแบบนี้ แต่ถ้าจะเอาเงินในอนาคต สร้างหนี้เพิ่มแก้กฎหมายให้ทะลุเพดานเป็น 70% เอาเงินส่วนนั้นมาจับจ่ายใช้สอยซื้อเวลา การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเกิน 3% แต่ไม่แน่ใจว่าจะถึง 5% มั้ย เพราะอัตราหนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 100% ต่อ GDP แต่ปัญหาจะกลับมาที่เดิมคือเรื่องงบประมาณ เขาต้องกันงบประมาณไปจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นๆ ถ้าเอาแบบนั้นซึ่งจะไม่เหลืองบลงทุน ประเทศไทยตอนนี้ขาดงบลงทุน”

ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้ยังใช้แนวทางเดิมๆ แบบประชานิยม ฐิตินันท์เสนอแนวทางใหม่ที่ไทยควรเดินหน้า ด้วยการปฏิรูปปลดปล่อยพลวัตทางเศรษฐกิจไทยเช่น ลดการผูกขาด เพิ่มการแข่งขันโดยเฉพาะกับบริษัทเล็ก บริษัทขนาดกลาง เอสเอ็มอี ต้องเข้าถึงทุนได้ ต้องลดทุนเจ้าสัว ต้องมีการแข่งขันกันมากขึ้น

“ผมไม่สนใจว่าเป็นนโยบายพรรคไหน ใครเสนอก็ได้ แต่สิ่งที่จะต้องเกิดคือการแข่งขัน การปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจไทย พรรคไหนเสนอก็จะได้คะแนนเพราะนี่คือสิ่งที่จำเป็นในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจมันจะมากกว่าประชานิยม”

นอกจากปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจแล้วการปฏิรูประบบราชการเป็นสิ่งที่สุกงอมมากตอนนี้ ไทยปฏิรูประบบราชการครั้งล่าสุดเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนี้ต้องปฏิรูปให้กระทรวงเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน

“ยกตัวอย่างญี่ปุ่นเขามีมาตั้งแต่สมัยเป็นกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MITI หรือ Ministry of International Trade and Industry) ตอนนี้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI หรือ Ministry of Economy, Trade and Industry) สิงคโปร์ก็มีการบูรณาการคล้ายกัน คือกระทรวงทางเศรษฐกิจเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เราควรบูรณาการโครงสร้างราชการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ คำตอบคือโครงสร้าง เพราะประชานิยมกระตุ้นระยะสั้นได้ระดับหนึ่ง

แต่ถ้าจะไปพึ่งตรงนี้ผมว่าเป็นอะไรที่มักง่าย เหมือนกับว่าเคยทำอย่างนี้มาก็ทำอย่างนี้ต่อ จริงๆ แล้วมันอยู่ที่โครงสร้าง”

อีกหนึ่งเรื่องที่ไทยต้องปฏิรูปคือการศึกษาทั้งด้านคุณภาพ การเข้าหาความเป็นครู ห้องเรียน หลักสูตรการเรียนการสอน เทคโนโลยีประกอบการเรียน นักวิชาการอย่างฐิตินันท์มองว่า ทุกประเทศล้วนมีปัญหาการศึกษาไม่มากก็น้อย แต่ไทยขยับช้าขณะที่เทคโนโลยีก้าวกระโดด การศึกษาไทยจึงตามไม่ทัน ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการปรับตัวได้ทันท่วงทีกว่า

นักวิชาการรายนี้ย้ำมากเรื่องการปรับโครงสร้างเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ปัจจุบันมีประเด็น decoupling, de-risking, ความตึงเครียดสหรัฐ-จีนและซัพพลายเชนที่ไทยต้องพยายามเข้าไปเสียบ

“ไทยต้องขยับขึ้นไปใน global value chain แต่เหมือนกับเราค่อยๆ ถอยลง แทนที่จะเป็นไต่ระดับขึ้น กลับเลื่อนไหลลง” ในที่นี้หมายถึงรัฐบาลชูเรื่องท่องเที่ยววีซ่าฟรี ซึ่งไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นห่วงโซ่ที่มีมูลค่าน้อย การประกาศวีซ่าฟรีคือการบอกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นอันดับหนึ่ง แต่ควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้การท่องเที่ยวด้วย เช่น เน้น medical tourism การให้วีซ่าฟรีอย่างเดียวกับนักท่องเที่ยวทั่วไปให้เขามาจับจ่ายใช้สอยก็เหมือนเพิ่มผู้บริโภคในเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าทำไปพร้อมกันมา medical tourism, cooking tourism มาเรียนรู้อาหารไทย มาเรียนหนังสือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไม่ใช่แค่มากิน มานวดเท้า มาตีกอล์ฟ

อีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องเน้นและสำคัญมากคืออุตสาหกรรมยุคใหม่ ยุคดิจิทัล S curve, robotic, ไบโอเทค, ไอโอที, อีวี, แบตเตอรี ที่ยังไม่ได้ยินรัฐบาลพูดถึง ได้ยินแต่ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท, ท่องเที่ยววีซ่าฟรี

"ถ้าเขามียุทธศาสตร์มาตั้งแต่เริ่มเราจะได้ยินสิ่งพวกนี้แล้ว เราจำเป็นต้องปรับฐานการผลิต-ประกอบยานยนต์ ซึ่ง 11% ของเศรษฐกิจไทยคือยานยนต์ต้องปรับฐานมาเป็นอีวีให้ได้ และนี่เป็นโจทย์ใหญ่ การบ้านใหญ่มาก ญี่ปุ่นก็เป็นการบ้านของเขาและเราอิงกับญี่ปุ่นมาก ซึ่งเรายังไม่ได้ยินเรื่องพวกนี้”

แม้กระทั่งเซมิคอนดักเตอร์ ฐิตินันท์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ “ประกาศตูมเลยครับ เราจะตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรืออย่างน้อยก็เรื่อง Packaging ของเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อเราจะเสียบเข้ากับ global supply chain ตามโครงสร้างของ geopolitics ตามความแตกแยกขัดแย้งของจีนกับสหรัฐ แล้วเราควรจะเอาทั้งสองอย่าง เราจะไปทั้งทางสหรัฐด้วย ทางจีนด้วย”

ไม่ใช่แค่ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยต้องเร่งสปีด แต่บทบาทในเวทีระหว่างประเทศเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ไทยจะกลับไปเป็นหัวขบวนของอาเซียนได้หรือไม่ เป็นเรื่องน่าจับตา

“สมัยก่อนเขาให้เครดิตไทย เพราะว่าไทยเก่งมากเรื่องการทูต ผมคิดว่าไทยมาตกต่ำมากในช่วงสิบปีนี้ และเป็นปมด้อยที่มาจากการรัฐประหาร พอยึดอำนาจแล้วก็เข้าหน้ากับประชาคมโลกทั่วไปไม่ได้ ทางฝั่งตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อียู สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แม้กระทั่งญี่ปุ่นเขาก็มีข้อกังขา ทำให้รัฐบาลไทยสมัยพลเอกประยุทธ์ต้องเข้าหาจีน”

ทั้งนี้ การเข้าหาจีนในมุมมองของฐิตินันท์ถือเป็นเรื่องธรรมดาต้องเข้าหาอยู่แล้วเพราะจีนเป็นขาใหญ่ แต่ไทยไม่น่าจะต้องเข้าหาจีนเพราะคนอื่นเขาเมิน กลายเป็นปมด้อยของเผด็จการที่คบหาสมาคมทำมาค้าขายกับใครเขาไม่ได้เพราะยึดอำนาจมา ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น อาเซียนเองก็รอให้ไทยกลับไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมียนมา ทะเลจีนใต้ หรือความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

“อาเซียนรอไทยมานานแล้ว แต่ไทยพร้อมหรือเปล่า ผมคิดว่าจังหวะนี้เป็นโอกาสที่ทำให้เรากลับเข้าไปมีบทบาทในอาเซียนได้มากขึ้น และจะทำให้อาเซียนมีบทบาทในภูมิภาคนี้ได้มากขึ้นด้วย”

ท้ายที่สุดหากต้องเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็นอะไรสักอย่าง  ฐิตินันท์เปรียบเหมือนกับร่างกายของคนที่ชราลง เสื่อมลง ต้องผ่าตัดใหญ่ ปรับโครงสร้าง ไม่ใช่ศัลยกรรม ตบแต่งลูบหน้าปะจมูก ผักชีโรยหน้า แก้ไขประปรายแบบขอไปทีแต่ต้องปรับโครงสร้าง ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อปลดปล่อยพลังออกมา และเพื่อที่จะกลับมากระฉับกระเฉง เยาว์วัย แข่งขันกับคนอื่นๆได้อีกครั้ง

"หรืออาจะเรียกว่าเป็นการตกยุคก็ได้ครับ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยก็ยังทันสมัย ยังต่อกรแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่เดี๋ยวนี้เราจะเห็นว่าเวียดนามก็จะแซงหน้าแล้ว อินโดนีเซียก็น่าสนใจกว่า”

20 ปีที่ผ่านมาของความล้มลุกคลุกคลาน ความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ไทยเสียต้นทุน ราคาและโอกาสไปมาก เพราะฉะนั้นความทันสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ ตอนนี้ก็ได้ตกรุ่นไปแล้ว

“เปรียบเทียบว่า Iphone เรากำลังใช้รุ่นแรกๆอยู่ แต่ตอนนี้ Iphone 15 แล้ว เราก็ต้องปรับตัว เพราะรุ่นแรกๆไม่ทันสมัย ไม่ทันคู่แข่งหรือโจทย์ปัจจุบันครับ"