เปิดมุมมอง‘จอห์น แวกเนอร์’ ในฐานะหุ้นส่วน BCG ในไทย

เปิดมุมมอง‘จอห์น แวกเนอร์’ ในฐานะหุ้นส่วน BCG ในไทย

เปิดมุมมอง‘จอห์น แวกเนอร์’ ในฐานะหุ้นส่วน BCG ในไทย โดยผู้บริหาร BCG บอกว่าอยากนำความรู้และมุมมองใหม่ๆ จากผู้นำในอุตสาหกรรมเทคฯ มาช่วยพัฒนาองค์กรในไทยในการกำหนดและลงมือปฏิบัติตามกลยุทธ์ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล

'จอห์น แวกเนอร์' มีประสบการณ์ทำงานที่เมตา(เฟซบุ๊ก)ยาวนานกว่า6 ปี ในปี 2559 เขาถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเฟซบุ๊ก ประจำประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและระบบปฏิบัติการ และระหว่างปี 2563-2565 ได้ย้ายไปที่สำนักงานของเมตาที่นิวยอร์ก เพื่อนำการขับเคลื่อนกลยุทธ์และปฏิบัติการเข้าสู่ตลาดของเมตาทั่วโลก ในปี 2566 แวกเนอร์ได้กลับมาร่วมงานกับบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG) ที่กรุงเทพอีกครั้งในฐานะพาร์ทเนอร์

กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสพูดคุยกับจอห์นเพื่อเรียนรู้บทบาทใหม่และประสบการณ์ในการทำงานตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศสหรัฐอเมริกา และมุมมองที่เขาต่อมีต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของด้านดิจิทัลในประเทศไทย

  • ในฐานะที่เคยทำงานอยู่ในประเทศไทยมาก่อนและได้กลับมาทำงานในประเทศนี้อีกครั้ง อยากให้ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ทั้งในด้านส่วนตัวและการทำงาน

 ผมมาประเทศไทยครั้งแรกในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนคณะสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการปฏิบัติธรรมพุทธในวัดในป่าและวัดในเมืองตอนภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งทำให้ผมยังได้เรียนรู้การอ่าน เขียน และพูดภาษาไทยจนเชี่ยวชาญ ผมรู้สึกรักและผูกพันกับประเทศไทยในทันทีทันใด ราวกับว่าในชาติที่แล้วผมคงต้องเป็นคนไทยแน่ ๆ
 

จุดสำคัญในช่วงต้นการทำงานของผม คือได้ทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการทางบัญชีและการเงินของซิตี้แบงก์ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมมีโอกาสได้รู้จักกับผู้นำในระดับโลกของซิตี้ในเวลานั้น ประสบการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อเป้าหมายและความฝันในชีวิตของผม

 หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจในสหรัฐอเมริกา (MBA) ผมได้เข้าทำงานกับบอสตัน คอนซัลติ้ง กร๊ป (BCG) ในกรุงเทพฯ และขึ้นเป็นพาร์ทเนอร์ เมื่อปี 2551 ก่อนจะย้ายไปร่วมงานกับเฟซบุ๊กประเทศไทยในปี 2559 ในตำแหน่งผู้อำนวยกาคนแรกของประเทศไทย ในปี 2563 ผมย้ายไปทำงานกับเฟซบุ๊ก/เมตา ที่นิวยอร์กเพื่อก่อตั้งและนำทีมพัตนากลยุทธ์และการปฏิบัติงานของกลุ่มธุรกิจโฆษณา ก่อนจะกลับมาร่วมงานกับ BCG ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

  • ทำไมคุณถึงไปรับตำแหน่งที่เมตาในนิวยอร์ก?

ก่อนที่จะเริ่มการเดินทางกับเมตา ผมได้ใช้เวลากว่าสิบปีในการช่วยบริษัทในตะวันออกเฉียงใต้เสริมกลยุทธ์และดำเนินการ บทบาทของผมกับเมตาในเอเชียถือเป็นความท้าทายที่ผมได้นำความรู้ที่สะสมมาใช้จริง โดยผมได้สร้างทีมขายเฟศบุ๊กประเทศไทยและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจในระดับท้องถิ่นของไทย ระหว่างนี้ ผมยังเห็นความท้าทายด้านการดำเนินการที่เกิดขึ้นเมื่อบริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดอย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับเมตา

 

หลังจากใช้เวลาสามปีในการสร้างเมตาประเทศไทย ผมอยากจะสร้างผลกระทบเชิงบวกที่มากขึ้นสำหรับเมตา การจะเพิ่มเพิ่มศักยภาพให้กับทีมงานระดับโลกจำนวนกว่า 4,000 คน จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี ดังนั้นงานส่วนใหญ่ของผมจะเกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับทีมวิศวกรรม เพื่อสร้างระบบข้อมูลและเครื่องมือ ช่วยให้ทีมงานธุรกิจของเรา สามารถทำงานได้เร็วขึ้นและดีขึ้น ภายใต้บทบาทนี้ ผมมีโอกาสได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาจากศูนย์ และได้เป็นผู้นำทีมงานระดับโลก ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

  • ทำไมคุณถึงตัดสินใจกลับมาประเทศไทย?

บทเรียนหลักๆสามข้อที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานที่เมตาและการเป็นที่ปรึกษานั้นคือ หนึ่ง แม้บริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ก็ยังมีความท้าทายพื้นฐานทางกลยุทธ์และการปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องจัดการให้ลุล่วง บริบทของธุรกิจนั้นไม่มีวันหยุดนิ่ง องค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานและวิธีการคิดอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาชนะการแข่งขัน

สอง ในเรื่องของกลยุทธ์ สุดท้ายแล้วมันก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ผู้คนและทีมงานในองค์กร จำเป็นต้องมีความร่วมมือและมีความสามารถที่จะทำสิ่งที่แตกต่างในเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้น

สุดท้าย การขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์มบริษัทในระดับใหญ่นั้น มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่างและยากมากที่จะเกิดขึ้นได้เองจากภายในองค์กร

ดังนั้น ผมกลับมาประเทศไทยด้วยความตั้งใจที่จะหาแรงบันดาลใจในชีวิตการทำงานและใช้ประสบการณ์ของผมในการสร้างผลประโยชน์เชิงบวกในกับองค์กรต่างๆมากยิ่งขึ้น ผมอยากที่จะนำความรู้และมุมมองใหม่ๆ จากผู้นำในอุตสาหกรรมเทคฯ มาช่วยพัฒนาองค์กรในไทยในการกำหนดและลงมือปฏิบัติตามกลยุทธ์ โดยเฉพาะในด้านของดิจิทัล และด้วยบทบาทของผมที่ BCG ผมอยู่ในสถานะที่จะสามารถนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ในระดับโลก มาส่งมอบให้กับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

  • รู้สึกอย่างไรที่ได้กลับมาประเทศไทย และได้กลับสู่ธุรกิจที่ปรึกษา?

 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่สำคัญในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผมได้ทำงานกับเมตา ผมได้มีโอกาสเห็นการก่อกำเนิดของการค้าขายผ่านช่องทางบริการข้อความ ซึ่งไทยได้เป็นผู้นำเทรนด์นี้ในระดับโลก อีกทั้ง การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย และปัจจุบันได้ถูกนำไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อความรวดเร็วในการทำธุรกรรม ในทุกรูปแบบและขนาด ตั้งแต่การจ่ายค่ารถจักรยานยนต์รับจ้างไปจนถึงการจ่ายค่าสมาชิกรายปีของคลับต่าง ๆ การเปิดกว้างของคนไทยต่อการนำเอาดิจิทัลเทรนด์ใหม่ ๆ มาใช้นั้น เป็นสิ่งน่าทึ่งและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศจริง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ