สงคราม‘อิสราเอล-ฮามาส’ ตอกย้ำโลกขัดแย้งชัดขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ตึงเครียด

สงคราม‘อิสราเอล-ฮามาส’ ตอกย้ำโลกขัดแย้งชัดขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ตึงเครียด

“อิสราเอล” รุกหนักหลังปิดล้อมกาซา เตรียมโจมตีรอบทิศ “บก ทะเล อากาศ” สงครามครั้งนี้ตอกย้ำความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ชัดขึ้น หลายฝ่ายกังวลสู้รบขยายวง ‘นักวิชาการไทย’ ชี้ โลกเข้าโหมดตึงเครียด ‘อิสราเอล-กลุ่มฮามาส’ ไม่จบง่าย แบ่งขั้วแบ่งค่ายชัดเจน

การสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่ย่างเข้าสู้วันที่ 8 วานนี้ (15 ต.ค.) เข้มข้นขึ้น กองทัพอิสราเอลเตรียมใช้ยุทธวิธีโจมตีฉนวนกาซาจากทั้งทางบก อากาศและทะเล พร้อมส่งทหาร 10,000 นาย บุกเข้าพื้นที่พร้อมตามล่าหัวหน้าฮามาสในฉนวนกาซา

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ลงพื้นที่เยี่ยมทหารบางส่วน ซึ่งประจำการทางใต้ของประเทศใกล้ฉนวนกาซา โดยสั่งให้ทหารเตรียมพร้อมปฏิบัติการขั้นต่อไป แต่ยังไม่ขยายความของปฏิบัติการขั้นต่อไป

ขณะที่ กองทัพอิสราเอล ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมปฏิบัติการจู่โจมฉนวนกาซาทั้งทางบก ทะเลและอากาศ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หลังจากเส้นตาย 24 ชั่วโมงในการให้ประชาชนมากกว่า 1.1 ล้านคน ในภาคเหนือของฉนวนกาซา อพยพจากเหนือลงใต้ ผ่านไปแล้ว แต่ยังมีประชาชนเดินทางออกจากพื้นที่และบางส่วนสมัครใจอยู่ต่อ

นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอิสราเอล ว่ากองทัพเตรียมส่งทหาร 10,000 นาย ยึดเมืองกาซาซิตี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดทางเหนือของฉนวนกาซา เพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มฮามาส พร้อมทั้งการสังหารนายยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ที่อิสราเอลเชื่อว่า ยังหลบซ่อนตัวในพื้นที่

การปะทะกันครั้งใหญ่ในระดับสงครามระหว่าง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” ทำให้ทั่วโลกแสดงปฏิกิริยาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และแสดงตนสนับสนุนแตกต่างกัน ดังนี้

ฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงประณามกลุ่มฮามาส เผยยืนหยัดอย่างมั่นคงอิสราเอล ทั้งยังส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และส่งกองกำลังเพื่อควบคุมความปลอดภัยใกล้อิสราเอล

ขณะที่ “เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โพสต์ประณามกลุ่มฮามาสในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ และว่าอิสราเอลมีสิทธิปกป้องตนเองจากการโจมตีที่เลวร้าย

ด้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลส์ ของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย ขอยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น, โฆษกกระทรวงต่างประเทศบราซิล และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ประณามเหตุการณ์ก่อการร้ายต่ออิสราเอล

ฝ่ายสนับสนุนปาเลสไตน์

สำนักข่าวต่างประเทศในกรุงริยาด อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวทูต เผยเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2566 ว่าซาอุดีอาระเบียระงับเจรจาเกี่ยวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทวิภาคีกับอิสราเอล หลังเกิดเหตุโจมตีระหว่างฮามาสและอิสราเอล

ฟ็อกซ์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2566 ว่า ผู้นำของอิรัก จอร์แดน และโรงเรียนดังในอียิปต์แสดงความสนับสนุนนักรบในฉนวนกาซา และประณามอิสราเอลที่คร่าชีวิตผู้คนในฉวนกาซามากกว่า 1,200 คน และทำให้ทหารเสียชีวิต 155 นาย

ด้านที่ปรึกษาของอยาตอลเลาะห์ อาลี ฮอสเซนี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แสดงตนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2566 สำนักข่าวอัลจาซีราห์รายงานว่า สมาคมบรรณาธิการของเลบานอน ประณามการโจมตีของอิสราเอลที่ทำให้นักข่าวเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 6 คน รวมถึงนักข่าวของอัลจาซีราห์ด้วย

ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศซีเรีย ประณามอิสราเอลที่ประกาศให้พลเมืองในฉนวนกาซาอพยพยลงทางใต้ และเรียกร้องให้อิสราเอลยกเลิกแผนดังกล่าว เพราะละเมิดหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน

สหรัฐส่งเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2

กระทรวงกลาโหมสหรัฐออกแถลงการณ์ เตรียมส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส.ดไวต์ ดี.ไอเซนฮาวร์” พร้อมกองเรือติดตาม เข้าไปประจำการในภาคตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อร่วมกับเรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด” ซึ่งเข้าไปประจำการในทะเลบริเวณนี้ ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนอิสราเอล

ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล เรียกร้องอิสราเอลเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อป้องกันความสูญเสียกับพลเรือน ระหว่างปฏิบัติการในฉนวนกาซา

นอกจากนี้ ไบเดนสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สู้รบเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยประณามความโหดร้ายป่าเถื่อนของกลุ่มฮามาส และกล่าวว่า “กลุ่มฮามาสไม่ใช่ตัวแทนของชาวปาเลสไตน์”

อิหร่านเรียกร้องอิสราเอลหยุดบอมบ์กาซา 

นายฮอสเซ็น เอเมียร์-อับโดลลาเฮียน รมว.กระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวถึงสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งผ่านมา 1 สัปดาห์ว่า อิสราเอลต้องยุติโจมตีฉนวนกาซาทันทีเพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อแล้วกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เข้าร่วมเต็มตัว

สำนักงานคณะผู้แทนถาวรอิหร่านประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงการณ์เรียกร้องประชาคมโลกร่วมหยุดยั้งอิสราเอลจากปฏิบัติการทหารในฉนวนกาซา

นายนาอิม กัสเซ็ม รองหัวหน้ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กล่าวว่า ว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ “อยู่ในสถานะเตรียมพร้อมตลอด” และ “พร้อมมีส่วนร่วมเมื่อถึงเวลา” กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้รับติดต่อทั้งทางตรงและทางอ้อมจากยูเอ็นและรัฐบาลหลายประเทศทั้งกลุ่มประเทศตะวันตกและโลกอาหรับ โดยมีเนื้อหาแบบเดียวกันว่าไม่ต้องการให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีบทบาทสงครามนี้

อิสราเอลยิงปืนใหญ่ใส่ซีเรีย

กองทัพอิสราเอลรายงาน การยิงปืนใหญ่ข้ามพรมแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือไปซีเรียเพื่อตอบโต้ที่มีจรวดอย่างน้อย 2 ลูก ยิงข้ามพรมแดนจากซีเรียแล้วตกบริเวณที่ราบสูงโกลันส่วนที่อิสราเอลยึดครอง

ขณะที่ องค์กรสังเกตการณ์สิทธิมนุษยชนซีเรีย (เอสโอเอชอาร์) รายงานว่า กลุ่มนักรบปาเลสไตน์ที่เป็นแนวร่วมกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่มีฐานในเลบานอน เป็นผู้ยิงจรวดดังกล่าวออกจากจังหวัดดาราทางตอนใต้ซีเรีย

นายโจชัว ซาร์กา ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุทธศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล กล่าวว่า อิหร่านพยายามเปิดแนวรบเพิ่มเติมกับอิสราเอล

จีนส่งผู้แทนพิเศษเยือนตะวันออกกลาง 

กระทรวงการต่างประเทศจีนเตรียมส่งนายจ๋าย จวิน ผู้แทนพิเศษด้านกิจการตะวันออกกลาง เดินทางเยือนหลายประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อผลักดันการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง รวมทั้งให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) ว่าสถานการณ์ตะวันออกกลางเวลานี้น่ากังวลมากว่าอาจลุกลามบานปลาย

นายหวัง อี้ รมว.กระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ว่ามีความเสี่ยงที่การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจะขยายวงกว้างจนยากควบคุม

อิสราเอลพลิกแผ่นดินล่าผู้นำฮามาส

โฆษกกองทัพอิสราเอล แถลงวันที่ 14 ต.ค.2566 ว่า กำลังทหารของอิสราเอลกำลังตามล่า นายยาห์ยา ซินวาร์ วัย 60 ปี หัวหน้าฝ่ายการเมืองของขบวนการฮามาสในฉนวนกาซา ซึ่งถือเป็นผู้นำของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาคนปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ นายซินวาร์เคยถูกเจ้าหน้าที่อิสราเอลจับกุมได้ 3 ครั้ง และถูกคุมขังอยู่ในคุกของอิสราเอลรวมแล้วถึง 24 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในปี 2554 เพื่อแลกกับการที่กลุ่มฮามาสปล่อยตัว กิลาด ชาลิต ทหารอิสราเอล

พ.ท.ริชาร์ด เฮชต์ โฆษกกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) กล่าวว่า นายยาห์ยา ซินวาร์ คือผู้บงการเบื้องหลังเหตุการณ์กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอล เหมือนที่ บิน ลาเดน เคยทำ ทหารอิสราเอลจะไม่หยุดพักการตามล่าหาตัวเขา ไม่ว่าจะหลบซ่อนอยู่ที่ไหนก็ตาม และจะยุติการติดตามไล่ล่าผู้นำกลุ่มฮามาสก็ต่อเมื่อปลิดชีพเขาได้แล้วเท่านั้น

‘นักวิชาการ’ ชี้ความขัดแย้งไม่จบง่าย

พล.ท.สมชาย วิรุฬหผล นักวิชาการด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ กล่าวถึง การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล ที่จะส่งผลกระทบการเมืองโลกว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งขั้วแบ่งค่ายชัดเจน ซึ่งจะเกิดความตึงเครียดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ตึงเครียดอยู่แล้วด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในขณะการสู้รบกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลเป็นความตึงเครียดอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจีนและรัสเซียแสดงให้เห็นว่าอยากให้สร้างสันติภาพ แต่สหรัฐสนับสนุนอิสราเอลกวาดล้างกลุ่มฮามาส ซึ่งมีแต่ทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น

“ในระดับโลกเชื่อว่าความขัดแย้งครั้งนี้ไม่จบง่าย อิสราเอลเป็นฝ่ายได้เปรียบมีโอกาสชนะ เพราะมีทั้งกำลังและอาวุธเหนือกว่า และมีกลุ่มมหาอำนาจหนุนหลัง ซึ่งผลกระทบจะนำไปสู่ราคาน้ำมันสูงขึ้น เพราะ OPEC ประชุมเมื่อไม่นานจะลดการผลิต เมื่อน้ำมันขึ้นก็ส่งกระทบไทย การค้าโลกจะถดถอย” พล.ท.สมชาย กล่าว

รวมทั้งความตึงเครียดมีความเชื่อมโยงกันหมด เพราะขณะนี้โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วแล้ว คือ ขั้วตะวันตกกับกลุ่มพันธมิตร และขั้วตะวันออก จีนกับรัสเซีย ซึ่งจุดยืนแตกต่างกันมาก เมื่อกระทบกระทั่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดที่สาเหตุไหนจะกระทบเป็นห่วงโซ่ ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นลักษณะ ที่เรียกว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว ความตึงเครียดลามมาสู่ภูมิภาคนี้ เพราะฟิลิปปินส์ก็มีความขัดแย้งกับจีนหนักขึ้นต่อปัญหาทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาเลือกตั้งไต้หวันปลายปีนี้ หากพรรคก๊กมินตั๋งไม่ชนะ หรือ น.ส.ไช่ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party : DPP) ซึ่งชูนโยบายเอกราชและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยของไต้หวันชนะขึ้นมา และประกาศนโยบายแยกตัวเป็นอิสระแล้วจีนไม่ยอมแน่

โลกเข้าโหมดภาวะตึงเครียด

“เวลานี้โลกเข้าสู่โหมดความตึงเครียดที่จะเกิดสงคราม ซึ่งเบื้องต้นยังไม่ใช่สงครามอาวุธ แต่เป็นสงครามการค้า สงครามข้อมูลข่าวสาร โจมตีกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อความเป็นอยู่คนทั้งโลกมีแต่แย่ลง เศรษฐกิจ slow down เพราะโลกตึงเครียด แต่วันนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันด้วย เพราะขั้วอำนาจเดิมเสียผลประโยชน์มาก ย่อมไม่ยอมปล่อยให้การมีหลายขั้วพยายามควบคุมวิธีของโลก”

ส่วนที่กังวลกันว่าจะกลายเป็นสงครามศาสนาเพราะปัจจุบันแบ่งขั้วกันอยู่แล้วนั้น มองว่าเรื่องศาสนาไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หลักมนุษยธรรมมากกว่า เพราะชาวปาเลสไตน์ไม่ได้มีเฉพาะมุสลิม แต่มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ไม่น้อย ขณะเดียวกันคนยิวที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอิสราเอลมีมาก เพียงแต่อย่าไปปลุกระดมสร้างประเด็นเรื่องศาสนา เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา เขาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนั้น แต่ต่อสู้เพราะถูกอิสราเอลกดขี่