การขยายตัวของเมืองทั่วโลก เพิ่มความเสี่ยงเจอภัยพิบัติรุนแรง

การขยายตัวของเมืองทั่วโลก  เพิ่มความเสี่ยงเจอภัยพิบัติรุนแรง

การขยายตัวของเมืองทั่วโลก เพิ่มความเสี่ยงเจอภัยพิบัติรุนแรง โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีความเสี่ยงเผชิญกับน้ำท่วมสูงที่สุด ส่วนภูมิภาคเมริกาเหนือ,แอฟริกาใต้และทะเลทรายซาฮารามีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมต่ำที่สุด

ผลวิจัยใหม่ที่ซีเอ็นเอ็นนำมาเผยแพร่ พบว่า ขณะที่เมืองต่างๆทั่วโลกเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปริมาณสิ่งก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ผลวิจัยดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนไหวของผู้คนต่อภัยพิบัติต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤติสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ผลการศึกษาจากวารสารเนเจอร์เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ระบุว่า พื้นที่การตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่หมู่บ้านเล็ก ๆ ไปจนถึงเมืองใหญ่ ๆ ที่เสี่ยงเผชิญภัยอันตรายจากน้ำท่วมสูงในระหว่างปี 2528 และ ปี 2558 เพิ่มขึ้น 122%

“เปาโล อาฟเนอร์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก และผู้นำในการเขียนวิจัย ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า “ในช่วงเวลาที่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ควรปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป แต่หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่เป็นแนวโน้มที่น่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก”

ผลวิจัยดังกล่าว เป็นผลวิจัยที่วิเคราะห์จากชุดข้อมูลสถานการณ์อันตรายจากน้ำท่วมทั่วโลก และชุดข้อมูลฟรุตพริ้นท์การตั้งถิ่นฐานที่ครอบคลุมการตั้งถิ่นฐานในช่วงปี 2528 และ ปี 2558 เพื่อศึกษาจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุด

นักวิจัยพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว การตั้งถิ่นฐานของโลกขยายตัว 85% การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมสูง มากกว่าพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมต่ำ

ในปี 2558 พื้นที่ที่มีสิ่งก่อสร้างมากกว่า 11% ทั่วโลก เผชิญกับความเสี่ยงถูกน้ำท่วมสูงหรือสูงมาก หมายความว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในระดับความเสี่ยงถูกน้ำท่วมสูงอย่างน้อย 50 เซนติเมตร ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหายาก 1 ครั้งในรอบ 100 ปี

รายงานเผยด้วยว่า เมืองต่าง ๆ มีความเสี่ยงเผชิญกับน้ำท่วมทุกรูปแบบเพิ่มมากขึ้น แต่ความอ่อนไหวต่อน้ำท่วมชายฝั่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากที่สุด

ทั้งนี้ นักวิจัยสรุปว่า ทั่วทุกภูมิภาคของโลกมีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมรุนแรง และกลุ่มประเทศรายได้สูง และบางประเทศอาจเผชิญกับความเสี่ยงน้ำท่วมสูงกว่าประเทศอื่น ๆ

รายงานเตือนว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีความเสี่ยงเผชิญกับน้ำท่วมสูงที่สุด และภูมิภาคเมริกาเหนือกับแอฟริกาใต้ และทะเลทรายซาฮารามีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมต่ำที่สุด

ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง มีสัดส่วนการตั้งถิ่นฐานใหม่ของมนุษย์ในพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมสูงมากที่สุด สัดส่วนนี้ได้แรงหนุนมาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เคยประสบกับการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วมาก และเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการตั้งถิ่นฐานใหม่เกือบครึ่งหนึ่ง ที่สร้างบริเวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงระหว่างปี 2528 และปี 2558

ขณะที่ประเทศรายได้สูงส่วนใหญ่ มีการขยายพื้นที่เมืองเสี่ยงถูกน้ำท่วมต่ำในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และเนเธอแลนด์ มีการตั้งถิ่นฐานจำนวนมากในหลายพื้นที่ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมสูงก่อนปี 2528 นานแล้ว และใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อปกป้องพื้นที่เหล่านั้นเรียบร้อย

ทำไมเลือกตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม?

รายงาน บอกว่า มีหลายเหตุผลมากที่สิ่งปลูกสร้างจำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจรุนแรงมากขึ้น แต่ปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ผลักดันให้เมืองเหล่านั้นต้องตั้งในพื้นที่เสี่ยง

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ที่ดินที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมากอยู่แล้ว ทำให้การพัฒนาที่ดินใหม่ ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงก่อนหน้านี้

ยกตัวอย่างเช่น ในเวียดนาม ประเทศที่มีสิ่งปลูกสร้างตามชายฝั่งประมาณ 1 ใน 3 ทำให้การพัฒนาที่ดินใหม่ต้องรุกเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากภัยพิบัติ

บางครั้งโอกาสทางเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยที่ให้ประโยชน์มากกว่ากังวลด้านความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติ เช่น เมืองท่าเรือที่สำคัญหลายแห่ง ชุมชนริมชายหาด หรือพื้นที่ท่องเที่ยว

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ อาจมาจากการขาดข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม การวางผังเมืองไม่ดี หรือกฎหมายควบคุมการตั้งถิ่นฐานอ่อนแอ ยกตัวอย่างเช่น ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา ที่มีความเสี่ยงเกิดพายุเฮอริเคนรุนแรงมากขึ้น มีประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่มีสภาพอากาศแจ่มใส และค่าครองชีพถูก และด้วยกฎหมายของรัฐเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและมีความเสี่ยงต่ำ มีความหละหลวม

รายงานดังกล่าว จึงแนะนำการดำเนินงานให้ผู้ออกกฎระเบียบและแบบแผนของรัฐหลายประการ ทั้งแนะให้ลงทุนเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติ ลงทุนระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ และทำแผนอพยพในพื้นที่ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมสูง ตลอดจนทบทวนแผนการใช้ที่ดินและอาคารในพื้นที่ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้นด้วย

“โรเบิร์ต นิโคลส์” อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปรับตัวต่อสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว บอกว่า วิธีการศึกษาของงานวิจัยมีความรอบคอบ และผลการศึกษาเป็น “การค้นพบใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เซอร์ไพรส์มากนัก”