จับตาบอนด์ยีลด์ทั่วโลกพุ่ง ทำไมเอเชียและตลาดเกิดใหม่ถึงต้องกังวล

จับตาบอนด์ยีลด์ทั่วโลกพุ่ง ทำไมเอเชียและตลาดเกิดใหม่ถึงต้องกังวล

สถานการณ์ในตลาดพันธัตรสหรัฐที่ผลตอบแทน หรือ บอนด์ยีลด์ พุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดรอบ 16 ปีในสัปดาห์นี้ กลายเป็นข่าวที่ทั่วโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหมายถึงผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังมีแนวโน้มว่าสถานการณ์อาจจะแย่ลงอีกในเร็วๆ นี้

ความโกลาหลในตลาดสหรัฐส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของ "เยอรมนี" พุ่งสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์หนี้ยูโรโซนในปี 2011 ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรยูโรโซนอายุ 30 ปี พุ่งทะลุ 5% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นวิกฤตซับไพรม์ปี 2007 เช่นเดียวกับฝั่ง "ญี่ปุ่น" ที่ผลตอบแทนพันธบัตรกลับมาพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2013 จนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องเข้าซื้อพันธบัตรล็อตใหญ่ 1.9 ล้านล้านเยน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

 

  • ทำไมบอนด์ยีลด์ทั่วโลกถึงพุ่งสูงขึ้น

"Higher-for-Longer" ที่่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณออกมาในสัปดาห์นี้ ซึ่งหมายถึงแนวโน้มที่เราจะเผชิญอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานานกว่าที่เคยคาดกันเอาไว้ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่เขย่าตลาดพันธบัตรไปจนถึงตลาดหุ้นทั่วโลก

รอยเตอร์สระบุว่า ก่อนหน้านี้ตลาดเคยมีการเก็งกันว่าหลังจากที่เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นมานานจนอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อาจถึงเวลาแล้วที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะหันมาพิจารณา "ปรับลดดอกเบี้ย" เร็วขึ้น โดยดูจากสัญญาณที่แบงก์ชาติหลายแห่งทั่วโลก "ชะลอ" การขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดกันชั่วคราว หลังจากที่ทิศทางเงินเฟ้อชะลอตัวลง
  
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อซึ่งไม่รวมสินค้าในกลุ่มอาหารและพลังงานในบางประเทศกำลังปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ขณะที่สหรัฐก็มีสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีหลายด้านและแข็งแกร่งกว่าที่คาด ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารกลางทั่วโลกอาจต้องพักความคิดที่จะลดดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน 

ที่สำคัญก็คือ เป็นเพราะนักลงทุนมองว่ามีแนวโน้มที่ตลาดใหญ่สุดอย่างสหรัฐจะออกพันธบัตรล็อตใหม่ๆ ออกมาเพิ่มอีก โดยอ้างอิงจากที่บริษัทจัดอันดับเครดิต ฟิทช์ เรตติ้ง ขู่จะลดแนวโน้มอันดับเครดิตของสหรัฐเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เพราะการขาดดุลงบประมาณที่พุ่งสูง 

ยิ่งขาดดุลงบประมาณก็ยิ่งหมายความว่ารัฐบาลกำลังก่อหนี้เพิ่มด้วยการออกพันธบัตรกู้ยืมออกมา ซึ่งจะทำให้ซัพพลายพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกในตลาด นักลงทุนก็จะยิ่งเทขายพันธบัตรชุดเก่าที่มีระยะเวลาไถ่ถอนนาน ทำให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูง

บลูมเบิร์กเพิ่งรายงานล่าสุดในวันนี้ (5 ต.ค.) ว่า "พันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีขึ้นไป กำลังถูกเทขายหนักสุดนับตั้งแต่ยุควิกฤตฟองสบู่ดอตคอม" ในเดือน มี.ค. 2020 ฉุดราคาลดลงถึง 46% โดยมีพันธบัตรอายุ 30 ปี ราคาดิ่งลงมากที่สุด 53%  

  • พันธบัตรจะถูกเทขายไปถึงเมื่อไร

บิลล์ กรอส จากกองทุน PIMCO เจ้าของฉายา Bond King มองว่าในระยะสั้นผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐอาจขึ้นไปแตะ 5% หลังจากที่พุ่งไป 4.8% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพราะแรงเทขายจากความกังวลเรื่องปริมาณพันธบัตรที่จะเพิ่มขึ้นอีก ท่ามกลางยุคดอกเบี้ยสูงไปอีกนาน 

ตัวเลขเบื้องต้นที่ทุกฝ่ายกำลังจับตาก็คือ การเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐประจำเดือน ก.ย. ในวันศุกร์นี้ (6 ต.ค.) ซึ่งหากออกมาดี ก็จะเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สามารถเดินหน้าการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายได้ ซึ่งข่าวดีทางเศรษฐกิจย่อมหมายถึงข่าวร้ายในตลาดบอนด์ตามไปด้วย และในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังสหรัฐก็จะปล่อยพันธบัตร 

ทว่าในฝั่ง "ยุโรป" นั้นสัญญาณอาจจะต่างไปจากสหรัฐเล็กน้อย เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แย่กว่าสหรัฐ ทำให้ฝั่งยุโรปเริ่มส่งสัญญาณการแตะเบรกขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะจำกัดการเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์ไปด้วย แต่ในระยะสั้นอาจได้รับอิทธิพลจากตลาดบอนด์สหรัฐโดยเฉพาะหากบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งไปแตะระดับ 5% 

 

  • ส่งผลกระทบต่อโลก เอเชีย และตลาดเกิดใหม่อย่างไร  

ตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกย่ำแย่มาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน คนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลคือคนที่ถูกกระทบเป็นอันดับแรก เพราะยิ่งมีการเทขายผลตอบแทนก็จะยิ่งพุ่งขึ้นเพื่อดึงดูดให้ซื้อ แต่ราคาจะตกลง โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว ผู้ที่ถูกกระทบโดยตรงในกลุ่มนี้มักจะเป็นรายใหญ่ เช่น บรรดาธนาคารกลาง กองทุน และธนาคารพาณิชย์ ส่วนนักลงทุนรายย่อยจะถูกกระทบทางอ้อมผ่านกองทุนประกันสังคมและกองทุนรวมต่างๆ ที่มักจะต้องมีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ 

ปัจจุบัน ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงมาแล้วถึงราว 7.5% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงพีกในรอบกว่า 1 ปี ยิ่งบอนด์ยีลด์สูงก็ยิ่งดึงเงินออกจากตลาดหุ้น ทั้งเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือหนีความเสี่ยงเอาเงินไปพักที่อื่นก่อน เพราะธนาคารพาณิชย์ที่ถือพันธบัตรระยะยาวจะถูกกระทบก่อน เช่น กรณีของธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (SVB) และแบงก์ก็อาจคุมความเสี่ยงและปล่อยกู้ยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจของภาคเอกชนไปด้วย  ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้นเช่นกันในการออกหุ้นกู้ใหม่ๆ 

สำหรับเอเชียและตลาดเกิดใหม่นั้น ปกติแล้วหุ้นเอเชียในดัชนี MSCI Asia Pacific มักจะทำผลงานได้ดีที่สุดในช่วงไตรมาส 4 ของปี แต่ในปีนี้ ผลสำรวจอย่างไม่เป็นทางการของบลูมเบิร์กพบว่า 6 ใน 10 ของผู้จัดการกองทุนในภูมิภาค เชื่อว่า ดัชนีจะหันหัวกลับมาลบ 5% ในไตรมาสสุดท้ายนี้ และจะทำให้ผลประกอบการโดยรวมทั้งปีลดลงเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน หรือลงต่อเนื่องกันนานที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตฟองสบู่ดอตคอม โดยนักกลยุทธ์จาก IG Asia ให้เหตุผลหลักๆ ถึงอิทธิพลจากบอนด์ยีลด์ที่พุ่งสูง เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าสุดในรอบ 11 ปี ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่นานกว่าคาด และราคาน้ำมันในระดับสูง 

ตลาดหุ้นในฝั่งตลาดเกิดใหม่เอเชีย (ไม่รวมจีน) เผชิญภาวะเงินไหลออกมา 2 เดือนติดต่อกันแล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า สถานะของกองทุนทั่วโลกในหุ้นจีนได้ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา 

สินทรัพย์เดียวที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะพุ่งขึ้นแน่นอนที่สุดก็คือ "ดอลลาร์สหรัฐ" ปัจจุบันดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปแล้วถึง 7% เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน และเมื่อวันที่บอนด์ยีลด์ทุบสถิติ 16 ปี ในวันอังคารค่าเงินในหลายประเทศเอเชียก็อ่อนค่าลงไปทุบสถิติใหม่นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2022 เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินเยน ที่หลุดระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะกลับขึ้นมาแข็งค่าในวันเดียวกันซึ่งคาดกันว่าเป็นการเข้าแทรกแซงค่าเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยก็หลุด 37 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้วเช่นกัน