เทียบกรณีศึกษา 'เยาวชน-ความรุนแรง' ทั่วโลก | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เทียบกรณีศึกษา 'เยาวชน-ความรุนแรง' ทั่วโลก | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ทั้งน่าเศร้า และน่าตกใจกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันอังคาร (3 ต.ค.) ที่ผ่านมา

เพราะนอกจากจะมีผู้เสียหายโดยตรงคือ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และครอบครัวแล้ว ยังควรให้ความสำคัญถึงผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุการณ์ดังกล่าว และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ชื่อเสียงภาพลักษณ์ของประเทศโดยเฉพาะในมุมมองของนักท่องเที่ยว

แน่นอนว่า เหตุการณ์นี้อาจจะถูกมองว่าเป็นกรณีปัจเจกบุคคล แต่ก็ไม่ควรมองข้ามถึงปัญหาในเชิงระบบ ทั้งในเรื่องของสถาบันครอบครัว การเข้าถึงอาวุธปืน ทั้งปืนแท้ ปืนเถื่อน หรือปืนประดิษฐ์ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระสุน ทั้งในเรื่องของระบบเตือนภัยของรัฐ ทั้งการตรวจจับป้องกันอาวุธในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็ควรให้ความสนใจเช่นกัน

เหตุการณ์ความรุนแรงลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย แต่ความถี่นั้นเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าแปลกใจ ความภูมิใจของสังคมไทยที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่ปลอดภัยในอดีตนั้น ทุกวันนี้แทบจะพูดเช่นนั้นได้ยาก ถึงแม้ว่าหากเทียบกับสหรัฐ หรือในโลกตะวันตกที่ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้พบเห็นได้บ่อยครั้งกว่า

คำแนะนำทางจิตวิทยาหนึ่งที่ถือเป็นมาตรฐานทางวิชาการที่ควรปฎิบัติคือ การไม่ให้แสงหรือความโด่งดังต่อผู้ที่ก่อความรุนแรงนี้ เพราะในทางทฤษฎีนั้นเชื่อว่า มีแนวโน้มจะส่งต่อสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจต่อการกระทำซ้ำ ดังนั้น การปกปิดชื่อ หน้าตา หรือการให้รายละเอียดเฉพาะแค่บางประการจึงเป็นที่นิยมในทางสากล ถึงแม้ว่าหลักนี้จะขัดกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมที่จะทั้งโกรธหรือรังเกียจอยากที่จะประณามการกระทำที่ป่าเถื่อนนี้ก็ตาม

สิ่งที่น่าแปลกใจและมีความเชื่อมโยงกันทั่วโลกคือ การกระทำผิดต่อกฎหมายของเยาวชนนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างกรณีความรุนแรงที่สยามพารากอนนี้ ก็ถูกเชื่อมโยงถึงความรุนแรงในทำนองเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ซึ่งจุดเชื่อมโยงก็คือการแต่งตัว ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีการรณรงค์การไม่ให้แสง หรืองดการให้พื้นที่สื่อกับฆาตกร เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ

ที่สหรัฐ มีการนัดรวมตัวกับเพื่อทำการปล้นร้านและห้างสรรพสินค้าที่เรียกว่า “Flash Mob Robbery” โดยใช้แพลตฟอร์มทางโซเชียลมีเดีย ทำการนัดกับบุคคลที่ไม่รู้จักเพื่อรวมตัวกันปล้นร้านค้า อาทิ ร้าน Apple ร้านขายเสื้อผ้า Zara ร้านขายอุปกรณ์กีฬา ร้านค้าสินค้าแบรนด์เนม หรือแม้กระทั่งร้านค้าสะดวกซื้อจนทำให้ร้านค้าหรือห้างในบางพื้นที่เสี่ยงในสหรัฐจำต้องปิดตัว

ขณะที่เทรนด์การรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อปล้นนี้ ก็ได้ลุกลามไปยังยุโรปอย่างประเทศอังกฤษ ที่ล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เกิดการรวมตัวครั้งใหญ่ของ Flash Mob จำนวน 50-70 คน ทำการปล้นร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำกลางย่าน Oxford St. ซึ่งเป็นย่านชอปปิงชื่อดังของลอนดอน โดยการนัดรวมตัวนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางวันแสกๆ และทำการนัดผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok และ Snapchat

แน่นอนว่าตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า การปล้นเหล่านี้ล้วนกระทำโดยเยาวชนทั้งสิ้น แต่ถ้ามองโลกอย่างไม่ไร้เดียงสาจนเกินไป ก็จะสามารถพูดได้ว่า การปล้นเหล่านี้ส่วนใหญ่กระทำโดยเยาวชน และการกระทำที่เย้ยกฎหมายเช่นนี้ ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่สามารถจัดการจับผู้กระทำผิด จนกลายเป็นเทรนด์ ณ ตอนนี้

ขณะที่ในยุโรป ปัญหาจากมิจฉาชีพ โดยเฉพาะการล้วงกระเป๋า หรือแม้กระทั่งการปล้น ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานและยังแก้ไม่ตก ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในแทบทุกเมืองใหญ่ของยุโรป อาทิ บาร์เซโลนาของสเปน กรุงโรมของอิตาลี กรุงปารีสของฝรั่งเศส และสิ่งที่น่าแปลกใจคือ จำนวนไม่น้อยในกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ก็เป็นเยาวชน และทำกันเป็นทีม

ดังนั้น “เยาวชน” กับ “ความรุนแรง” จึงน่าจะเป็นประเด็นที่สังคมควรให้ความสนใจ ช่วยกันคิดและหาทางรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเช่นนี้อีกในอนาคต