เรือหลวงกองทัพเรือแคนาดากลับมาเยือนประเทศไทย

เรือหลวงกองทัพเรือแคนาดากลับมาเยือนประเทศไทย

แคนาดา-ไทยเดินหน้าเสริมสร้างความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก เรือหลวงออตตาวา (Ottawa) เยือนท่าเรือจุกเสม็ด พบปะกองทัพเรือไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง หารือความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างกัน

ระหว่างวันที่ 29  ก.ย.– 2 ต.ค.2566 เรือหลวงออตตาวา ของ กองทัพเรือแคนาดา (Royal Canadian Navy: RCN) จอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการเยือน RCN จะได้พบกับกองทัพเรือไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งรวมถึง งานเลี้ยงรับรองของเรือ การนำชมเรือ และการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน

เรือหลวงออตตาวาเป็นหนึ่งในเรือฟริเกต ชั้นฮาลิแฟ็กซ์ ของกองทัพเรือแคนาดา จำนวนทั้งหมดสิบสองลำ เฮลิคอปเตอร์ประจำการบนเรือรุ่นไซโคลนซีเอช-148 (CH-148 Cyclone)

เรือลำนี้ได้ติดตั้งระบบอาวุธและเซนเซอร์สำหรับการปราบเรือดำน้ำ การรบผิวน้ำ และการต่อต้านอากาศยาน พร้อมด้วยทหารเรือ ทหารบก และนักบินประจำเรือ รวม 250 นาย ที่ล้วนได้รับการฝึกฝนขั้นสูงและมีความเป็นมืออาชีพ  

เรือหลวงกองทัพเรือแคนาดากลับมาเยือนประเทศไทย

เรือหลวงกองทัพเรือแคนาดากลับมาเยือนประเทศไทย

เรือหลวงออตตาวาออกปฏิบัติการตั้งแต่เดือน ส.ค. และได้เยือนญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ตลอดการปฏิบัติการแสดงกำลังในพื้นที่ส่วนหน้าของอินโด-แปซิฟิก ได้ร่วมฝึกร่วมวางกำลัง และร่วมปฏิบัติการทางเรือของกองกำลังนานาชาติกับชาติพันธมิตร กิจกรรมดังกล่าวข้างต้นได้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพันธมิตรในระดับกองทัพ

ไม่เพียงเท่านั้น กำลังพลของกองทัพเรือแคนาดาในภูมิภาคยังรวมถึงเรือลำที่ 2  ได้แก่ เรือหลวงแวนคูเวอร์ ซึ่งได้สานต่อความสำเร็จของ เรือหลวงมอนทรีอัล ที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นปฏิบัติการในภูมิภาค เรือหลวงทั้งสองลำได้รับการสนับสนุนจากเรือส่งกำลังบำรุง (Naval Replenishment Unit Motor Vessel) แอสเตอริกซ์ (Asterix) และจะอยู่ในภูมิภาคจนถึงเดือน พ.ย. 2566 ก่อนจะเดินทางกลับฐานหลักในเดือน ธ.ค. เรือหลวงลำนี้เป็นเรือลำที่สามของกองทัพเรือแคนาดาที่เดินทางเยือนประเทศไทยในรอบห้าปี

 

เรือหลวงกองทัพเรือแคนาดากลับมาเยือนประเทศไทย

 

ก่อนหน้านี้ตอนที่เรือหลวงออตตาวามาเยือนไทยในเดือน ก.ย.2562 และการเยือนของเรือหลวงวินนิเพก เมื่อเดือน ต.ค. 2565 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแคนาดาในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกที่ยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางการทหารและความมั่นคงระหว่างแคนาดาและประเทศไทยได้ร่วมมือกันตั้งแต่พ.ศ. 2528 โดยมีโครงการฝึกอบรมความร่วมมือทางการทหารที่แข็งขัน การฝึกอบรมมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพและการพัฒนาวิชาชีพ  ส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน ประเด็นความมั่นคงหลักซึ่งเป็นประเด็นความสนใจร่วม ได้แก่ ความมั่นคงทางทะเล ภัยคุกคามต่อภูมิภาค และการอนุรักษ์เส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญ 

เรือหลวงกองทัพเรือแคนาดากลับมาเยือนประเทศไทย

ในเดือนก.ค.2566 ผู้ฝึกสอนชาวแคนาดาได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมความร่วมมือทางการทหารที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยมีกองบัญชาการกองทัพไทย และสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นเจ้าภาพ ประเทศแคนาดาและประเทศไทยยังร่วมมือกันในการดำเนินโครงการด้านความมั่นคงที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของไทยและอาเซียน อาทิ วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนและการจัดการพรมแดนของอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ประเทศไทยริเริ่มในวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 อีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว ประเทศแคนาดายังภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการพัฒนาแนวทางในระดับภูมิภาคเพื่อดำเนินการตามประเด็นสตรี สันติภาพ และความมั่นคง

“ผมภาคภูมิใจมากที่ได้นำเรือหลวงออตตาวา กลับมาเยือนประเทศไทย ซึ่งนับ เป็นเวลาสี่ปีหลังจากการเยือนครั้งที่แล้ว เพื่อสืบต่อมิตรภาพกับกองทัพเรือไทย เรือหลวงลำนี้เป็นหนึ่งในเรือสี่ลำของกองทัพเรือแคนาดาที่ปฏิบัติการในอินโด-แปซิฟิกในปีนี้ ในขณะที่เรายังปฏิบัติภารกิจอย่างแข็งขันในภูมิภาค และคงการแสดงกำลังเพื่อสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคง” นาวาโท แซม แพทเชล (Sam Patchell) ผู้บัญชาการเรือหลวงออตตาวากล่าว

ด้านนายซานจีฟ เชาเดอรีย์ (Sanjeev Chowdhury) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เผยว่า  ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกไม่สามารถแยกออกจากประเด็นความมั่นคงของแคนาดาได้ 

"เราจึงรู้สึกยินดียิ่งที่จะได้ต้อนรับเรือรบหลวงออตตาวาสู่ประเทศไทย การมาเยือนประเทศไทยของเรือแคนาดาลำที่สามในรอบห้าปี เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงสายสัมพันธ์ทวิภาคีด้านการทหารและความมั่นคงที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กำลังทหารที่ต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนเชิงบวกในภูมิภาค และความตระหนักในความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระดับภูมิภาคเพื่อรับประกันความมั่งคั่งของประชาชนของเรา”

ขณะที่พันโทแพททริค มาสเตอร์สัน (Patrick Masterson) ผู้ช่วยทูตทหารแคนาดา ประจำประเทศไทย ระบุ 

“ กองทัพเรือแคนาดามีประวัติอันยาวนานในการออกปฏิบัติการทั่วโลก ทั้งในยามสงบและช่วงเวลาของความขัดแย้ง เรือหลวงออตตาวา มีความสามารถทางการทหารที่แข็งแกร่ง ที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพเรือพันธมิตร เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรนานาชาติและเสริมเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กองทัพเรือแคนาดาได้ปฏิบัติการอย่างอิสระ และร่วมปฏิบัติการในภารกิจของพันธมิตรและหุ้นส่วนสอดรับไปกับนโยบายด้านความมั่นคงของแคนาดาที่ว่า ‘เข็มแข็ง มั่นคง และเข้ามีส่วนร่วม’ แคนาดามุ่งมั่นที่จะรักษากำลังทหารไว้ในภูมิภาค และการวางกำลังครั้งนี้จะช่วยเพิ่ม สร้างความหลากหลาย และรักษาประวัติด้านการทหารของแคนาดา เพื่อส่งเสริมให้อินโด-แปซิฟิกเสรี เปิดกว้าง และหลอมรวมคนทุกกลุ่ม ”

 

ความสัมพันธ์แคนาดา-ไทย 

ความสัมพันธ์แคนาดา-ไทย มีความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่มีพลวัตและร่วมมือ ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา และได้รับการสนับสนุนจากการไหลเวียนของผู้คน การแลกเปลี่ยนความคิด และการค้าและเงินทุนที่เพิ่มมากขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบันประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 จากอาเซียนของแคนาดา ในปี 2565 การค้าทวิภาคีระหว่างแคนาดาและไทยมีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 6.4 พันล้านเหรียญแคนาดา 

การขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนยังเป็นสิ่งที่ทั้งสองประเทศต้องการ โดยเฉพาะในบริบทของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากภาวะโรคโควิดระบาด ความสัมพันธ์ทางวิชาการยังคงเป็นส่วนสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยมหาวิทยาลัยแคนาดาหลายแห่งมีข้อตกลงความร่วมมืออันยาวนานกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของไทยในด้านความสัมพันธ์พหุภาคีนั้น ประเทศแคนาดาและประเทศไทยยังคงทำงานอย่างแข็งขันผ่านสหประชาชาติ ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การรักษาสันติภาพ สตรี สันติภาพ และความมั่นคง และความมั่นคงของภูมิภาค เป็นต้น 

ทั้งสองประเทศยังได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในองค์กรระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ได้แก่ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ เอเปค และองค์การการค้าโลก (WTO)