มาตรการ หัก 25% ทำนาบนหลังคน (เมียนมา) ? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

มาตรการ หัก 25% ทำนาบนหลังคน (เมียนมา) ? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

กลุ่ม “ไบรท์ฟิวเจอร์” จัดชุมนุมที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อต่อต้านประเด็นข้อกำหนดที่รัฐบาลเมียนมาบังคับให้แรงงานในต่างประเทศส่งเงินคิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้ทั้งหมดกลับประเทศ

ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตามองอย่างมาก หากมาตรการนี้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดเมื่อไหร่ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานของตลาดแรงงานไทยที่พึ่งพิงแรงงานเมียนมาอย่างมาก

ตัวเลขจำนวนแรงงานเมียนมาที่ทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายนั้น มีประมาณการโดยกระทรวงแรงงานเมียนมาและตัวเลขของราชการไทยว่ามีอยู่ราว 1.6-2 ล้านคน ไม่นับรวมแรงงานที่อยู่ในไทยอย่างไม่ถูกกฎหมายอีกจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเมียนมาจำนวนร่วม 2 ล้านคนนี้กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ จังหวัดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น สมุทรสาครและสมุทรปราการ เช่นเดียวกับตามจังหวัดชายแดนติดกับเมียนมา เช่น ระนอง เป็นต้น

หากมองแรงงานเหล่านี้อย่างผิวเผินด้วยแนวคิดที่ล้าสมัย ก็คงจะเห็นว่าเป็นแรงงานที่มาแย่งงานคนไทย แต่หากมองและวิเคราะห์ด้วยข้อเท็จจริงจะพบว่า แรงงานเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญเข้ามาผลักดันระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก จากงานวิจัยพบว่าแรงงานต่างชาติเหล่านี้นั้นเข้ามารับจ้างเป็นแรงงานในส่วนที่แรงงานไทยไม่ค่อยนิยม อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง แปรรูปสินค้าเกษตร และประมง เป็นต้น

ดังนั้นการออกประกาศใหม่ของรัฐบาลเมียนมานั้น จึงจะส่งผลกระทบต่อแรงงานเมียนมาในไทยโดยตรง ซึ่งกลุ่มแรงงานเมียนมานี้ถือเป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การมีท่าทีที่เหมาะสมตามสมควร การเคารพต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย เช่นเดียวกับการเคารพต่อหลักมนุษยธรรม สิทธิแรงงาน จึงควรรักษาสมดุลที่เหมาะสม

ประเด็นการบังคับโอนเงินถึง 25% ของรายรับ จากธนาคารเครือข่ายในไทยสู่ธนาคารเครือข่ายที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางเมียนมานั้น กำลังถูกเชื่อมโยงถึงเรื่องของการสร้างสภาพคล่องและการสร้างเสถียรภาพของค่าเงินจ๊าดของเมียนมาที่อ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างอัตราของรัฐบาลกลางกับท้องตลาดนั้นก็ถูกมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนที่มากเกินควร

ยกตัวอย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยน เงินสกุลจ๊าดต่อบาทไทยของทางการปัจจุบันจะอยู่ที่ 56 จ๊าดต่อ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาด อยู่ที่ 100 จ๊าด ต่อ 1 บาท

ยังไม่ต้องพูดถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มไบรท์ฟิวเจอร์ ที่วิพากษ์รัฐบาลของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหลาย จากการคุมขังนักโทษการเมืองกว่า 23,000 คน การใช้อาวุธอย่าง รวมถึงการใช้ระเบิด และเครื่องบินรบ เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 3,728 คน ที่กำลังเป็นที่จับตาของนานาประเทศต่อเมียนมา และต่อท่าทีของรัฐบาลใหม่ของไทย

รัฐบาลเมียนมายังขู่ที่จะระงับการออกหรือการต่อใบอนุญาตแรงงานเมียนมาในต่างแดน หากไม่ปฎิบัติตามข้อกำหนดใหม่ และยังกำหนดให้บริษัทนายหน้าจัดหางานแก้ไขสัญญาของแรงงานเมียนมาในต่างแดนปฎิบัติตามข้อกำหนดใหม่นี้ โดยบังคับให้โอนรายได้ผ่านธนาคารที่ทางการเมียนมารับรองโดยตรง

หากจะสรุปสั้นๆ หรือวาดภาพเพื่อสรุปใจความสำคัญของข้อกำหนดใหม่นี้แล้ว ภาพการทำนาบนหลังคน ก็คงจะไม่เกินเลยไปนัก