นักท่องเที่ยวล้น ‘ตม. เกาหลี’ ทำงานโหลด คนไม่พอ

นักท่องเที่ยวล้น ‘ตม. เกาหลี’ ทำงานโหลด คนไม่พอ

เปิดลิสต์ดารา-คนดัง โดนเรียกเข้า “ห้องเย็น” ไม่ผ่านด่าน “ตม. เกาหลี” จากมาตรการคุมเข้ม “นักท่องเที่ยวไทย” ที่หลบหนีไปเป็น “ผีน้อย” ขณะเดียวกันพนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่พอเพียงสวนทางจำนวนชาวต่างชาติเข้าประเทศ

ยังคงมีประเด็นต่อเนื่อง สำหรับประเด็นนักท่องเที่ยวไทย “ติดตม. เกาหลี” เมื่อ “บิว วราภรณ์” อินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามเกือบ 1 ล้านคน โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเธอไม่สามารถเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยเข้าเกาหลีใต้มาเกินสิบครั้ง มีวีซ่าสหรัฐ ได้รับเชิญไปร่วมงานตลอด ซึ่งพนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้จับบิวเข้าห้องเย็นและส่งเธอกลับประเทศไทย เมื่อเธอถามว่าจะสามารถกลับเข้าประเทศได้อีกหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า บิวจะไม่สามารถกลับเข้าประเทศได้อีก

บิวไม่ใช่ “คนดัง” คนแรกของไทยที่เคยติดตม. เกาหลี ย้อนกลับไปในปี 2560 “นุ่น - วรนุช ภิรมย์ภักดี” นักแสดงชื่อดังของไทย ไม่สามารถเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้ แต่เพื่อนร่วมทริปกลับเข้าได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่งสุดท้ายก็จบกันได้ด้วยดี นุ่นสามารถเข้าประเทศได้ไปรวมกับแก๊งเพื่อน

ส่วนในปี 2565 “มิลลิ” แร็ปเปอร์หญิง ถูกเชิญไปร่วม Hiphopplaya Festival เทศกาลดนตรีฮิปฮอปใหญ่ของเกาหลีใต้ แต่จนแล้วจนรอดมิลลิไม่ได้ไปแสดง เนื่องจาก “วีซ่า” ไม่ผ่าน ซึ่งหลายฝ่ายก็วิเคราะห์กันว่า เป็นเพราะมี “ผีน้อย” หนีวีซ่าแล้วลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก

ด้าน “ดีเจนุ้ย - ธนวัฒน์” ผู้ทำงานกับศิลปิน K-POP เป็นจำนวนมาก และ “เกรท - วรินทร” ก็โดนจับเข้าห้องเย็นไปสอบสอนเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมีแหล่งที่พัก ตารางทัวร์ แผนการท่องเที่ยวชัดเจน แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้เข้าไปในประเทศ

  • “ผีน้อย” ตัวการทำให้คนไทยอดเข้าเกาหลีใต้

ผีน้อย” เป็นชื่อเรียก “แรงงาน” ที่ลักลอบเข้าทำงานในต่างประเทศแบบผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ที่ช่วงหลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย จากความโด่งดังของกระแส K-POP แต่สุดท้ายนักท่องเที่ยวหลายคนก็ผันตัวไปเป็นผีน้อย เพราะค่าแรงสูงกว่าเมืองไทย

กระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยสถิติของหน่วยบริการตรวจคนเข้าเมือง เดือนก.ค. 2565 พบว่ายอดผู้อพยพเข้าประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งหมด 395,068 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

ขณะเดียวกันฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ระบุว่ามีคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้มีคนไทยที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย จำนวน 42,538 คน และอยู่อย่างผิดกฎหมาย จำนวน 139,245 คน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ 

ด้วยจำนวนตัวเลขผีน้อยมากขนาดนี้ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาตรการตรวจคนเข้าเมืองอย่างเข้มข้น พนักงานตรวจคนเข้าเมืองจับตานักท่องเที่ยวไทยเป็นพิเศษ พร้อมส่งกลับประเทศไทย หาไม่ผ่านตม. ด้านผีน้อยเองก็พยายามหาทางหนีทีไล่มากกว่าเดิม มีการติวเข้มการตอบคำถามของตม. มีทำแผนการท่องเที่ยวให้แนบเนียน ยิ่งทำให้พนักงานตรวจคนเข้าเมืองทำงานหนักกว่าเดิม และผลกรรมก็มาตกกับคนไทยที่ตั้งใจไปเที่ยว

  • ตม. เกาหลีขาดคน

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดูเหมือนพนักงานตรวจคนเข้าเมืองดูเหนื่อยล้า หรือไม่ค่อยเต็มใจให้บริการ เนื่องจากจำนวนพนักงานขาดแคลน

แม้ว่าการท่องเที่ยวเกาหลีจะกลับมาคึกคัก และมีจำนวนชาวต่างชาติพำนักอยู่ในเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ (Korea Immigration Service) ภายใต้สังกัดของกระทรวงยุติธรรมกลับมีจำนวนไม่เพียงพอ 

จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ระบุว่า เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในเกาหลีจำนวน 2.36 ล้านคน แต่กลับมีพนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพียง 116 คนเท่านั้น แม้จะเพิ่มขึ้นปี 2550 มาถึง 15% มีเจ้าหน้าที่เพียง 101 คน แต่ก็เทียบไม่ได้กับจำนวนชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นถึง 136% เมื่อเทียบกับปีปัจจุบัน

หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีดูแลการดำเนินการตั้งแต่ การตรวจคนเข้าเมือง การออกวีซ่า การแปลงสัญชาติ และการติดตามสถิติที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ การจัดการกับนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ผู้ลี้ภัย และครอบครัวที่มีความหลากวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงครอบครัวที่มีคนในครอบครัวมาจากคนละวัฒนธรรม ล้วนเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานนี้ ยังไม่รวมถึงงานยิบย่อยภายในองค์กรอีก

โฆษกกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า “ต่อให้เรานับรวมพนักงานทั้งหมดที่ทำงานร่วมกับเราก็มีพนักงานเพียง 2,698 คนเท่านั้น ขณะที่ไต้หวันที่มีจำนวนผู้อพยพ น้อยกว่าเกาหลีใต้มาก แต่มีพนักงาน 2,405 คน สำหรับการดูแลเรื่องการย้ายถิ่นฐาน”

เพื่อนบ้านของเกาหลีใต้ ทั้งไต้หวันและญี่ปุ่นต่างรับสมัครพนักงานในหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรับรองการอพยพของชาวต่างชาติ 

ก่อนหน้านี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นเคยเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม แต่ได้แยกตัวออกมาในปี 2563 เพื่อขยายขนาดขององค์กรให้สามารถบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในปี 2565 มีเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั้งสิ้น 6,181 คน ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสถิติของญี่ปุ่นระบุว่าในปี 2565 จำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.75 ล้านคน 

ดังนั้นอัตราจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นต่อชาวต่างชาติอยู่ที่ 1: 447 คน แต่เกาหลีใต้พบว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง 1 คน จะต้องดูแลชาวต่างชาติถึง 871 คน  

ขณะที่อัตราส่วนของไต้หวันอยู่ที่ชาวต่างชาติ 333 คน ต่อเจ้าหน้าที่ 1 คน

“แม้ว่าเราจะสร้างระบบการย้ายถิ่นฐานที่ดี แต่ถ้าไม่มีใครนำมันไปปฏิบัติจริง มีระบบไปก็เท่านั้น” โช ยอง-ฮี นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการย้ายถิ่นฐานกล่าวพร้อม แนะนำให้สร้างหน่วยงานใหม่ที่ดูแลงานตรวจคนเข้าเมืองโดยเฉพาะ

เมื่อเดือนพ.ค. 2565 ฮาน ดงฮุน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม  เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองโดยเฉพาะ เพื่อปรับปรุงระบบตรวจคนเข้าเมืองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีการหารือถึงการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว

หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเองก็มีการจัดการกับผู้อพยพที่แตกต่างกันอีกด้วย ตามหน้าที่ของแต่ละกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลแรงงานจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการจ้างงานและแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมและพลังงาน และกระทรวงยุติธรรม ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพหุวัฒนธรรมจะจัดการโดย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าแต่ละกระทรวงมองคุณค่าของชาวต่างชาติในเกาหลีใต้แตกต่างกันออกไป ซึ่งนโยบายของหน่วยงานรัฐมักจะมองแรงงานข้ามชาติเป็นเพียงทรัพยากรด้านแรงงาน ส่วนชาวต่างชาติที่เป็นคู่สมรสของชาวเกาหลีใต้จะถูกมองเป็นแค่วิธีแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงเท่านั้น

“การย้ายถิ่นฐานไม่ได้เป็นเพียงการนำชาวต่างชาติเข้ามาในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการช่วยให้พวกเขาตั้งถิ่นฐานในประเทศได้สำเร็จอีกด้วย เราจำเป็นต้องสร้างองค์กรขึ้นมาใหม่ที่ครอบคลุมการทำงานของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติในเกาหลีใต้” อู อึยจุง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งชาติเกาหลีใต้กล่าว 

“เราจำเป็นต้องพิจารณาสร้างองค์กรที่ครอบคลุมภายใต้กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะครอบคลุมกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัย และกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ”


ที่มา: BBCKorea Joongang DailyKorea TimesThe MomentumThe 101 World