ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ลงทุนร่วมกันเพื่อเศรษฐกิจแห่งอนาคต

ความรุ่งเรืองและความมั่นคงของออสเตรเลียเชื่อมโยงกับความรุ่งเรืองและความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเสาะหาทางเลือกเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าออสเตรเลียมีข้อได้เปรียบหลายประการในฐานะพันธมิตรที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ของภูมิภาคนี้ แท้จริงแล้วออสเตรเลียและไทยมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดมายาวนาน ผู้คนของทั้งสองประเทศต่างชื่นชมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน มีชาวออสเตรเลียกว่า 800,000 คนเดินทางมาเที่ยวไทยในแต่ละปี และมีนักเรียนไทยกว่า 19,000 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในออสเตรเลียในขณะนี้
เรามีความสัมพันธ์ทางการค้าที่เข้มแข็ง ในปีพ.ศ.2566 เรามีมูลค่าการซื้อสินค้าระหว่างกันราว 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีมูลค่าการลงทุนในเศรษฐกิจของกันและกันกว่าหลายหมื่นล้าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้นำเข้าอโวคาโดสายพันธ์แฮสล็อตแรกจากออสเตรเลียมายังประเทศไทย และชาวออสเตรเลียก็สามารถรับประทานเป็ดย่างจากไทยได้แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งมียอดขายกว่า 50 ตันแล้ว
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เติบโตรวดเร็วที่สุดภูมิภาคหนึ่ง เราจำเป็นต้องนำศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีร่วมกันมาประยุกต์ใช้ให้ดีกว่านี้เพื่ออนาคตของเรา การเติบโตของประชากร การขยายตัวของชนชั้นกลางที่มีฐานะและกำลังใช้จ่าย ตลอดจนการสร้างเมืองต่างช่วยสร้างอุปสงค์สำหรับสินค้า บริการ และทักษะให้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน เพียงตลาดสินค้าออนไลน์ของไทยก็มีมูลค่ากว่า 7.7 แสนล้านบาทแล้ว
โอกาสอันหลากหลายที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเป็นหัวใจหลักของรายงานยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปีพ.ศ. 2583 (Invested: Australia’s Southeast Asia Economic Strategy to 2040) ที่ผมจัดทำขึ้นให้รัฐบาลออสเตรเลีย โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายแอนโทนี อัลบาเนซี และรัฐมนตรีต่างประเทศ นางสาวเพนนี หว่องได้ร่วมกันเปิดตัวรายงานฉบับนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
รัฐบาลชุดใหม่ของไทยเองก็รับรู้ถึงประโยชน์ของการบูรณาการทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและของทั้งภูมิภาค โดยในสัปดาห์นี้เอง นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นวาระหลักของประเทศ
ในรายงานฉบับนี้ ผมได้กล่าวถึงตัวอย่างบริษัทออสเตรเลียที่ได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว เช่น บริษัทด้านพลังงานสะอาดอย่าง Redflow ที่ได้เปิดโรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บริษัทด้านการบริการอย่าง Powerledger ที่นำร่องด้านพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา และบริษัทด้านเคมีภัณฑ์อย่าง Callington ที่ให้บริการในไทยมาเป็นเวลา 50 ปีแล้ว
รายงานของผมกำหนดแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการเพิ่มการค้าและการลงทุนแบบสองทาง ผ่านการสร้างความตระหนัก ขจัดการกีดกัน สร้างศักยภาพ และเพิ่มการลงทุน รายงานนี้ศึกษาภาคส่วนที่สำคัญทั้ง 10 ที่มีศักยภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย ภาคอาหารและการเกษตร ทรัพยากร การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ทักษะและการศึกษา เศรษฐกิจการท่องเที่ยว การบริการด้านสุขภาพ เศรษฐกิจดิจิทัล บริการเฉพาะด้านและทางการเงิน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อเสนอแนะ 75 ประการต่อรัฐบาล
เพื่อสนับสนุนข้อเสนอแนะหลัก ๆ ที่เป็นใจความสำคัญในรายงานยุทธศาสตร์ฉบับนี้ของผม รัฐบาลออสเตรเลียจะแต่งตั้งทีมเจรจาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการลงทุนในภูมิภาคผ่านการระบุหาโอกาสและคู่ค้า วิเคราะห์ตลาดเชิงลึก ชี้แนะด้านความเสี่ยง ระเบียบข้อบังคับ และประสานงานกับรัฐบาล ซึ่งไทยเป็นตลาดหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ
ออสเตรเลียจะริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนธุรกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นประสานงานให้ธุรกิจในกลุ่มภาคส่วนที่สำคัญมาเยือนภูมิภาคนี้ และ และเพิ่มการประสานงานกับกลุ่มชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พลัดถิ่น รวมทั้งประเทศไทยอีกด้วย
ออสเตรเลียจะรณรงค์ส่งเสริมแคมเปญการค้าและการลงทุนภายในออสเตรเลียเพื่อสร้างความเข้าใจในภาคสินค้าและการบริการในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดหมายด้านการลงทุน
และเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรระหว่างกัน ออสเตรเลียจะจัดโครงการนำร่องด้านการทดลองและฝึกงานสำหรับเยาวชน โดยเน้นที่บริษัทในภาคการลงทุน การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยสร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ยืนยาว
การขยายเครือข่ายการค้าและการลงทุนของออสเตรเลียในภูมิภาคนี้ สำคัญต่อการสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองร่วมกันของทั้งไทยและออสเตรเลีย ข้อเสนอแนะข้างต้นนี้ เป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อภารกิจของออสเตรเลียในการขยายเครือข่ายทางการค้าในภูมิภาคนับแต่นี้ไปจนถึงปีพ.ศ.2583 และต่อไปในภายภาคหน้า
ท่านสามารถอ่านรายงานยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปีพ.ศ. 2583 ฉบับเต็มได้ที่ http://www.dfat.gov.au/southeastasiaeconomicstrategy