9 องค์กรไทยจี้บังกลาเทศปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

9 องค์กรไทยจี้บังกลาเทศปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยรวม 9 องค์กร ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลบังกลาเทศ ให้กลับคำพิพากษาและปล่อยตัวสองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. องค์กรไทย 9 แห่ง ประกอบด้วย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย เครือข่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEALAW) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสผ.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลบังกลาเทศ เนื้อความดังนี้ 

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลบังคลาเทศ

ให้กลับคำพิพากษาและปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

18 กันยายน 2566

รัฐบาลบังกลาเทศมีประวัติมาอย่างยาวนาน ในการใช้กฎหมายความมั่นคงทางดิจิทัลที่มีโทษร้ายแรง เพื่อข่มขู่และปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน, ผู้สื่อข่าว และบุคคลที่แสดงความเห็นต่อต้าน ในวันที่ 14 กันยายน 2566 ศาลไซเบอร์กรุงธากาพิพากษาให้อดิล เราะห์มาน ข่าน และนัสสิรูดิน อีลาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องโทษจำคุกสองปี และปรับเป็นเงิน 10,000 ตากาบังกลาเทศ ตามกฎหมายความมั่นคงทางดิจิทัลที่มีโทษร้ายแรง 

การพิพากษาว่าข่านและอีลานมีความผิดในครั้งนี้ เป็นการทำลายการอุทิศตนทำงานเพื่อเก็บข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขา รายงานการตรวจสอบองค์กร Odhikar ในปี 2556 เป็นการเก็บข้อมูลการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายระหว่างประท้วง โดยนักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งส่งผลให้ทั้งสองคนถูกควบคุมตัวโดยพลการ และได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการฟ้องร้องดำเนินคดีและการคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมาย โดยถูกกล่าวหาว่ารายงานขององค์กรโอดิการ์เมื่อปี 2556 เป็น “ข้อมูลปลอม บิดเบือน และหมิ่นประมาท” ในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 สำนักกิจการเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ได้ปฏิเสธไม่รับการต่ออายุการจดทะเบียนองค์กรของโอกิการ์ โดยอ้างว่าสิ่งพิมพ์ของหน่วยงานนี้ “ส่งผลร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของประเทศในประชาคมโลก”

นอกจากนั้น การไต่สวนของศาลยังละเมิดหลักนิติธรรม และกระบวนการอันควรตามกฎหมาย กล่าวคือไม่จัดให้ฝ่ายจำเลยได้รับข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือไม่ให้สำเนารายงานการสอบสวนเพิ่มเติม จนกระทั่งหนึ่งวันก่อนการไต่สวนคดี

ผลงานของหน่วยงานแห่งนี้ได้ถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐบาล พวกเขาถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงเงินทุน รัฐบาลได้สั่งระงับการพิจารณาต่ออายุองค์กรโอดิการ์ตั้งแต่ปี 2557 และสุดท้ายก็ได้ปฏิเสธไม่ต่ออายุให้ ในขณะนั้น รัฐบาลยังได้เพิ่มการสอดแนมข้อมูลและการคุกคามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโอดิการ์ และสั่งให้องค์กรต้องเปิดเผยแหล่งข้อมูลและหลักฐานที่ยืนยันข้อค้นพบเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายและการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย

พวกเราในนามของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อด้านท้าย ขอเรียกร้องให้ทางการบังกลาเทศ ปล่อยตัวอดิลูร์ เราะห์มาน ข่าน และนัสสิรูดิน อีลาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที ให้กลับคำพิพากษาที่ศาลตัดสินว่าพวกเขามีความผิด และให้ยุติปฏิบัติการตอบโต้ใด ๆ กับพวกเขา ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนควรได้รับโอกาสในการดำเนินงานของตนโดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการเซ็นเซอร์ การข่มขู่ และการตอบโต้ แทนที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิฯ รัฐบาลควรสอบสวน และนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมาเข้าสู่การไต่สวนและลงโทษ

องค์กรผู้ลงนาม

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย

เครือข่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEALAW)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสผ.)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน