สำนักงานสิทธิฯ ยูเอ็นยินดีไทยยกฟ้อง 3 หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

สำนักงานสิทธิฯ ยูเอ็นยินดีไทยยกฟ้อง 3 หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยินดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงสามคน

คดีหมิ่นประมาททางอาญาซึ่งมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงสามคนเป็นจำเลย ประกอบด้วย อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน The Fort และธนภรณ์ สาลีผล อดีตผู้ทำงานสื่อสารขององค์กร Fortify Rightsจากการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และให้กำลังใจนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบริษัทธรรมเกษตรฯ ฟ้องร้องจากการหยิบยกประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลในสังคม

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าวหลังจากที่กระบวนการทางกฎหมายดำเนินมากว่าสี่ปีนับจากการพิจารณาคดีแรก โดยคำพิพากษากล่าวว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ถือได้ว่าข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการหมิ่นประมาทบริษัทธรรมเกษตรฯ โดยตรง และมองว่าการแสดงความคิดเห็นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงทั้งสามคนมีเจตนาสุจริต ถึงแม้การพิจารณาคดีของศาลจะยาวนาน แต่คำพิพากษาดังกล่าวนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการบังคับใช้มาตรฐานระหว่างประเทศด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หยิบยกข้อห่วงกังวลต่อการกระทำละเมิดของภาคธุรกิจอย่างชอบธรรม

“แม้จะมีการยกฟ้องข้อหานักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง การฟ้องคดียุทธศาสตร์อันเป็นปฏิปักษ์ต่อการมีส่วนร่วมของสังคม หรือการฟ้องคดีปิดปาก(Strategic Lawsuits Against Public ParticipationหรือSLAPPs)ยังคงถูกใช้โดยภาคเอกชนเพื่อคุกคามและปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเนื่องจากคดีความมีความยาวนานและค่าใช้จ่ายสูง ก่อให้เกิดบรรยากาศของการถูกข่มขู่และความหวาดกลัว บ่อยครั้งจนเกินไปที่กลยุทธเหล่านี้สร้างผลเสียอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงซึ่งต้องเผชิญความเปราะบางจากเพศสภาพอยู่แล้ว” คาเทีย ชิริซซี รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร กล่าว

ประเทศไทยได้รับรองแผนปฏิบัติการแห่งชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีความจำเป็นอย่างมากที่การปกป้องและเยียวยาจะได้รับความสำคัญมากขึ้น ตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (The UN Guiding Principles on Business and Human Rights) รวมถึงการนำมาตรฐานและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นรากฐานของการบังคับใช้แผนปฏิบัติการนี้

นอกจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังพบบริษัทเอกชนฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันต่อสมาชิกรัฐสภา นักการเมือง และนักข่าวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นแบบแผน สั่นคลอนสิทธิพื้นฐานในเสรีภาพการแสดงออกและความคิดเห็น แม้ว่าคดีส่วนหนึ่งจะยุติลง แต่การมีอยู่ของคดีฟ้องปิดปากในกระบวนการยุติกรรมนั้นสวนทางกับคำมั่นที่ประเทศไทยได้ให้ไว้อย่างแข็งขัน รวมทั้งในการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน(Universal Periodic Review)ตามวงรอบล่าสุดของประเทศไทย

“การฟ้องคดีปิดปากก่อให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง สร้างความเครียดและภาระทางการเงินจากกระบวนการยุติธรรมที่ลากยาว อีกทั้ง ทำลายความมั่นคงปลอดภัยของผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น”คาเทียกล่าว“การตระหนักรู้ที่มากขึ้นและการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น มีความสำคัญในการสร้างความเข็มแข็งในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งจะทำให้บริษัทเอกชนไม่อยากฟ้องคดีในลักษณะดังกล่าว และทำให้ศาลยกฟ้องคดีโดยเร็ว”