'ฮุน มาเนต'เยือนจีนชาติแรก มุ่งกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้น

'ฮุน มาเนต'เยือนจีนชาติแรก มุ่งกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้น

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ของกัมพูชา เริ่มการเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว และสะท้อนความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างกัมพูชากับจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดที่สุด

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต เดินทางถึงกรุงปักกิ่งของจีนในวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) ตามกำหนดเยือนอย่างเป็นทางการนาน 3 วัน และมีกำหนดหารือกับ ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง รวมทั้งพบปะกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง และประธานสภาประชาชนแห่งชาติ เจ้า เล่อจี้

คาดว่า จะหารือเรื่องการกระชับความสัมพันธ์เพื่ออนาคตร่วมกันด้วยการสร้างประชาคมกัมพูชา-จีน, ทิศทางยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ทวิภาคี และประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ

จีน เป็นจุดหมายแรกของการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการของผู้นำใหม่กัมพูชา ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว หลังเขาเปิดตัวในเวทีระหว่างประเทศจากการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การเยือนจีนยังมีขึ้นในโอกาสสำคัญของการเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัมพูชาและจีนในปีนี้ และคาดว่า จะยกระดับความร่วมมือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุม

หลังการพบปะกับผู้นำของจีนในปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต จะเดินทางไปชมนิทรรศการ อาเซียน-ไชนา เอ็กซ์โป ครั้งที่ 20 ที่เมืองหนานหนิงในภาคใต้ของจีน ใกล้กับพรมแดของเวียดนาม

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีนได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่สมัย ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดาของ ฮุน มาเนต ที่บริหารประเทศมายาวนานเกือบ 40 ปี 

จีนมีอิทธิพลอย่างมากทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยมีโครงการ โรงแรม และกาสิโน ที่ได้รับเงินลงทุนจากจีน ผุดขึ้นมากมายในกรุงพรมเปญและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ธนาคารของรัฐในจีนยังให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สนามบิน ถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่สร้างด้วยสินเชื่อจากจีน และภาระหนี้ต่างประเทศของกัมพูชามากกว่า 40% จากทั้งหมด 10,000 ล้านดอลลาร์เป็นหนี้ที่ติดค้างจีน

เมื่อเดือนก.พ. นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เยือนจีนในโอกาสครบรอบ 65 ปีของความสัมพันธ์ และทั้งสองชาติประกาศกรอบความร่วมมือ “เพชร 6 เหลี่ยม” ที่มุ่งพัฒนาความร่วมือใน 6 ด้าน ได้แก่ การเมือง กำลังการผลิตและคุณภาพ การเกษตร พลังงาน ความมั่นคง และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ