กระตุ้นบริโภคในประเทศ แก้ไขอัตราการเพิ่มประชากร ทางออกกู้วิกฤติ 'เศรษฐกิจจีน'

กระตุ้นบริโภคในประเทศ แก้ไขอัตราการเพิ่มประชากร ทางออกกู้วิกฤติ 'เศรษฐกิจจีน'

การส่งออกของจีนชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด อสังหาริมทรัพย์จีนยังไม่ฟื้นตัว จีนจึงต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จึงชูการ "กระตุ้นการบริโภคในประเทศ" และ "แก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากร" หวังกู้วิกฤติ "เศรษฐกิจจีน"

ภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจจีน นับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่อ เศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจโลก จีนมีความจำเป็นต้องหาหนทาง "แก้ไขและฟื้นฟูเสาหลักค้ำจุนเศรษฐกิจจีน" โดยสามเสาเดิมที่เคยค้ำชูมากว่าทศวรรษเริ่มมีปัญหา ได้แก่ การส่งออก อสังหาริมทรัพย์ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เคยทำให้ GDP จีน ก้าวกระโดดไปถึงเลขสองหลักในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

การส่งออกของจีนชะลอตัวลงเห็นได้ชัด เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain มีปัญหาทั่วโลก และเมื่อประกอบกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ยิ่งทำให้การส่งออกของจีนมีปัญหา ซึ่งทำให้จีนย้ายโมเมนตัมการค้าระหว่างประเทศมาที่โซนอาเซียนและ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI มากขึ้น แต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวภายในด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเอง ซึ่งมีผลจากอุปสงค์-ความต้องการสินค้าจีนในตลาดต่างประเทศ ทำให้การส่งออกของจีนยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน แม้เดือนล่าสุด สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา อัตราเปอร์เซ็นต์การลดลงจะตัวเลขน้อยกว่าที่ต่างประเทศคาด และน้อยกว่ากรกฎาคมที่ลดหนักถึงมากกว่า 14%

ขณะที่ อสังหาริมทรัพย์จีน ต้องกล่าวคำว่า "ยังไม่ฟื้นตัว" ด้วยราคาของอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังคงลดลง และในแง่ของยอดขายอสังหาริมทรัพย์-ที่พักอาศัยใหม่ ในปี 2566 ก็ปรับตัวลงอีกเกือบ 3% หลังจากปีก่อนหน้า (2565) ลดไปราว 26% ผลสืบเนื่องจากทั้งวิกฤติโควิด-19 และหนึ่งในยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์จีน "Evergrande" ประสบปัญหาหนี้ท่วม 

อีกหนึ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนที่ใหญ่ในแง่ของจำนวนโครงการและยอดขายมากกว่า Evergrande อย่าง Country garden ก็มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกัน ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ หลังครึ่งปีที่ผ่านมาขาดทุนเกือบ 4.9 หมื่นล้านหยวน จากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ขายไม่ออก โครงการไม่สามารถทำจนเสร็จได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองชั้นรองและเขตต่างจังหวัดของจีน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่อนาคตในช่วงเวลาก่อนโควิด-19 ระบาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ทางรัฐบาลจีนสนับสนุนตาม "นโยบายแก้จน" จึงมีการจัดสรรเงินทุนและสร้างเมกะโปรเจกต์จำนวนมาก ประกอบกับรัฐบาลท้องถิ่นก็เห็นโอกาสจากทิศทางการพัฒนาของรัฐบาลส่วนกลาง ก็ยิ่งสนับสนุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีนในพื้นที่ของตน ทำให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ดีดตัวขึ้น แม้จะไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริงจากอุปสงค์ความต้องการของพื้นที่นั้นๆ ตอนนี้ความจริงจึงเริ่มเปิดเผย สะท้อนจากอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการซื้อต่ำมาก 

ส่วนเสาสุดท้าย "ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน" สั่นคลอนไม่ต่างจากอีกสองเสาหลักที่กล่าวมา โดยเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์จีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลท้องถิ่นที่เคยได้รายได้หลักจากที่ดินและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ราว 40-50% ของรายได้ทั้งหมด จนนำมาสู่ความเสี่ยงหนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีน หรือที่เรียกว่า LGFV (Local Government Financing Vehicle) ซึ่งทางรัฐบาลท้องถิ่นจีนตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ มีจุดประสงค์เพื่อกู้เงินจากสถาบันการเงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่มาสะดุดขาดทุน เมื่อเจอวิกฤติโรคระบาด อสังหาริมทรัพย์ทรุดตัว และการบริโภคของประชาชนลดลง ผลพวงจากเศรษฐกิจชะลอตัว

จีนชู "กระตุ้นการบริโภคในประเทศ" ภารกิจหลักกู้วิกฤติเศรษฐกิจจีน

ขณะที่สามเสาหลักข้างต้นมีปัญหา ครึ่งปีแรกของปีนี้ 2566 การบริโภคสินค้าค้าปลีกในประเทศจีนอยู่ที่ราว 22 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 8.2% ต่อปี ตัวเลขนี้นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงสำหรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบหลังเผชิญการระบาดโควิด-19 กว่าสามปีของจีน แต่ในมุมของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก โดยเฉพาะในสื่อตะวันตก วิจารณ์กันว่า "เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และส่อแววมีปัญหา" เนื่องจากมองว่าต่ำกว่าการคาดหวัง และเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัดราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงเวลาเดียวกัน เห็นได้ชัดว่า อัตราเพิ่มเฉลี่ยอยู่เพียง 0.1-0.2% ซึ่งถือว่าต่ำ จนมีความกังวลว่าจีนอาจเกิด "ภาวะเงินฝืด" และอาจพิจารณาได้ว่า "การบริโภคในจีนเริ่มฝืดตัวเช่นกัน"

เมื่อพิจารณาในแง่ที่ว่า "การบริโภคค้าปลีกครึ่งปีแรก 2566" คิดเป็น 77% ของการเติบโตทาง เศรษฐกิจจีน ดังนั้นสามารถตีความได้ว่าคนจีนก็ยังคงต้องอุปโภคบริโภค เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปในภาคส่วนของการบริโภค จีนจึงต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคในประเทศ โดยส่งเสริมการบริโภคในภาคส่วนที่มีอนาคตแทนที่ภาคส่วนที่มีปัญหา อาทิ ภาคส่วนยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ภาคส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล ภาคส่วนอุตสาหกรรมบริการ (รวมการท่องเที่ยว) และภาคการค้าปลีก

แก้ไขปัญหาโครงสร้างประชากร ทางออกระยะยาวของการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจจีน

เราได้เห็นมาตรการระยะสั้น เพื่อแก้เหตุเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นของจีน อย่างการปรับลดภาษีทันทีในบางภาคส่วน การให้คูปองส่วนลดผ่านผู้ประกอบการต่างๆ ที่ดีลกับทางรัฐบาลท้องถิ่นของจีน รวมถึงรัฐบาลกลางในนโยบายแบบส่วนกลาง เช่น ส่วนลดซื้อรถยานยนต์ EV ดังที่ดำเนินการมาหลายปี กระตุ้นอุตสาหกรรม EV แน่นอนว่าล้วนเป็นมาตรการแบบระยะสั้นจนถึงกลาง ไม่ใช่ระยะยาว กล่าวคือ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจของการกระตุ้นเหล่านั้น ก็ต้องมานั่งพิจารณากันต่อถึงผลลัพธ์และผลกระทบ ไม่สามารถใช้แนวทางเดิมไปได้ตลอดกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ 

สิ่งที่จีนควรทำสำหรับระยะยาวคือแก้ไขปัญหาหลัก นั่นคือ "ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค" และแน่นอนว่าโครงสร้างประชากรย่อมส่งผลระยะยาวด้วย อย่างปัญหาอัตราการเกิดที่น้อยลง ติดลบ เพราะการเกิดใหม่น้อยกว่าการเสียชีวิต เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ผสมด้วยอัตราการแต่งงานที่ช้าลง ทำให้ทางรัฐบาลจีนเริ่มออกมาตรการจูงใจ

เมื่อไม่นานมานี้ที่ อำเภอฉางซาน เมืองเซ่าซิง ในมณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน ออกมาตรการให้รางวัลด้วยเงิน 1,000 หยวน หรือราว 5,000 บาท แก่คู่บ่าวสาวที่แต่งงานเป็นครั้งแรก โดยมีเงื่อนไขกำหนดเพดานอายุของ "เจ้าสาว" ที่ไม่เกิน 25 ปี แต่ไม่มีข้อจำกัดสำหรับอายุ "เจ้าบ่าว" ขอแค่แต่งงานครั้งแรกเป็นพอ โดยที่อำเภอแห่งนั้นมีอัตราการเพิ่มของประชากร ซึ่งคำนวณจากอัตราส่วนของผลต่างจำนวนเกิดและจำนวนตาย กับจำนวนประชากรทั้งหมด ปรากฏว่า "ติดลบ 1.2%" 

อัตราการเพิ่มของประชากรจีนทั้งประเทศเมื่อปี 2565 "ติดลบ" นั่นหมายความว่าจีนจะมีจำนวนผู้บริโภคในระยะยาว รวมถึงกำลังแรงงานใหม่ในตลาดแรงงานลดลงไปด้วย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่กำลังจะแตะ 20% ของประชากรจีนทั้งหมดในอีกไม่กี่ปี

จีนมองว่า "จำนวนประชากร" ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของอุปสงค์ความต้องการบริโภค ดังที่จีน เคยออกมาประกาศว่า "จีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเจริญด้วยจำนวนประชากรอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการปันผลจากการพัฒนาคุณภาพสูง หรือ Talent dividend ต่างหาก" 

ในความเป็นจริง เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

เมื่อพิจารณาระยะยาว ถ้าจีนปล่อยให้เผชิญสถานการณ์อัตราการเพิ่มประชากรติดลบ และมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จีนจะมีปัญหาในตลาดแรงงาน และรายได้ที่ภาครัฐจะจัดเก็บได้ก็มีแนวโน้มลดลง แม้จะดำเนินแนวทางมุ่งเน้นคุณภาพประชากร ให้การศึกษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของการแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรของจีนกับ เศรษฐกิจจีน นั้นเป็นความสัมพันธ์แบบส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน 

สาเหตุหลักที่คนจีนแต่งงานช้า แต่งงานน้อย และไม่ต้องการมีลูก มาจากความกังวลในเศรษฐกิจและความกดดันที่มองว่า ค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป เริ่มตั้งแต่แค่จะแต่งงาน เช่น ปัญหาสินสอดสูงลิ่วจนทางการจีนในหลายพื้นที่ต้องออกมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว ปัญหา 4-2-1 การเป็นลูกคนเดียว ต้องรับภาระดูแลพ่อแม่และปู่ย่าตายาย สร้างแรงกดดันในการใช้ชีวิต หากเศรษฐกิจไม่ดี ก็ยิ่งเป็นปัญหาหนักขึ้น เราเลยได้เห็น "จีนปรับแก้นโยบายลูกคนเดียว ให้มีลูก 2 คน และ 3 คน ได้"  ไปจนถึงพยายามแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก

กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ภายใต้ช่วงเวลาแห่งการเร่งฟื้นฟูโดยหา "เสาหลักใหม่" มาค้ำ ได้แก่ "การกระตุ้นบริโภคในประเทศ" ซึ่งก็มีหลายปัจจัยที่กระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยแนวทางที่จีนกำลังทำในระยะยาวคือ กระตุ้นพลังแห่งอุปสงค์ด้วย "การแก้ไขโครงสร้างประชากร" แต่ไม่ใช่งานง่าย ดังนั้นต้องจับตาดูต่อไปว่าทางออกกู้วิกฤติในระยะสั้นและระยะยาวครั้งนี้จะเป็นอย่างไรสำหรับการแก้ไขเศรษฐกิจจีน

ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่