‘ความเห็นต่าง’ บั่นทอนเอกภาพ‘ซัมมิตจี20’

‘ความเห็นต่าง’ บั่นทอนเอกภาพ‘ซัมมิตจี20’

ผู้เชี่ยวชาญไม่มั่นใจว่าการประชุมประจำปีของจี20 ครั้งนี้่จะช่วยบรรเทาวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 20 ประเทศ(จี20)ที่ประชุมสุดยอดร่วมกันที่กรุงนิว เดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย.นี้ มีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของจีดีพีโลก แต่ความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาดและการไม่เข้าร่วมของผู้นำสำคัญหลายคนทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกัับอนาคตของกลุ่มนี้ว่าจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ต่างๆที่กำลังเป็นปัญหากับโลกได้มากน้อยแค่ไหน

เว็บไซต์อัลจาซีราห์ นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยตั้งคำถามว่าอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมของเหล่าผู้นำรัฐบาลประเทศต่างๆที่ยังคงมีความเห็นในประเด็นร้อนๆคนละทางสองทาง จะทำให้การประชุมประจำปีนี้กำหนดข้อตกลงร่วมที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่

บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่า นี่เป็นคำถามที่ตอบได้ยากมาก โดยเฉพาะความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

“จี7และจี20 มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากในหลายประเด็น”ไมเคิล คูเกลแมน  ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้จากวิลสัน เซนเตอร์ กล่าวและว่า กลุ่มจี7 ซึ่งมีชาติพัฒนาแล้วเป็นสมาชิกมีขนาดเล็กกว่าและมีผลกระทบมากกว่า แต่จี20ก็มีความสำคัญตรงที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของทั้งโลกเพราะประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาจากเอเชีย ละตินอเมริกาและแอฟริกา"คูเกลแมน กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้จากวิลสัน เซนเตอร์ กล่าวด้วยว่า “ตอนนี้จี20กำลังเผชิญหน้ากับประสบการณ์ยากลำบากอย่างมากจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และตอนนี้โลกมีความแตกแยก  ตึงเครียด โดยแยกเป็นสหรัฐกับชาติพันธมิตร กับกลุ่มของจีนและรัสเซีย ยิ่งมาเจอกับการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อย่างเข้าปีที่ 2 สถานการณ์ของหลายภูมิภาคยิ่งตึงเครียดหนัก”

ด้าน‘เหมา หนิง’ โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า ‘หลี่ เฉียง’ นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจี20 ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย

รัฐบาลปักกิ่งให้ความสำคัญระดับสูง กับการประชุมจี20 ซึ่งเป็นเวทีการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติที่สำคัญ ในการประชุมปีนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำเสนอแนวคิดและจุดยืนของจีน เพื่อยกระดับความร่วมมือและความเป็นเอกภาพของจี20 เพื่อฝ่าฟันความท้าทายที่มีต่อเศรษฐกิจและการพัฒนา

การยืนยันของจีนเกิดขึ้น หลังสื่อหลายแห่งรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสหภาพยุโรป (อียู) ว่า นายกรัฐมนตรีจีนจะทำหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลปักกิ่ง เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่อินเดีย
 

 ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รู้สึกผิดหวังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนไม่ได้มาร่วมประชุมซัมมิตจี20  แต่จะหาโอกาสพบกับผู้นำจีนให้ได้

ส่วน‘เจค ซัลลิแวน’ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า ในการเข้าร่วมประชุมที่จะเริ่มขึ้นในวันเสาร์(9ก.ย.) ปธน.ไบเดน จะมุ่งเน้นการหารือประเด็นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การปรับโครงสร้างหนี้และสงครามในยูเครน

แต่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีสี ไม่เข้าร่วมการประชุมนี้น่าจะมีผลต่อการหารือและการดำเนินการต่าง ๆ พอควร

ศาสตราจารย์จอห์น เคียร์ตัน ผู้นำทีมวิจัยจี20 รีเสิร์ช กรุ๊ป จากมหาวิทยาลัยแห่งโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวว่า ความท้าทายครั้งใหญ่ในการประชุมที่กรุงนิวเดลีก็คือ การออกปฏิญญาที่ได้รับฉันทานุมัติจากที่ประชุมดังที่เกิดขึ้นในการประชุมเมื่อปีที่แล้วที่เกาะบาหลี ซึ่งรัสเซียเห็นชอบเนื้อหาในย่อหน้าหนึ่งที่ระบุว่า มอสโกทำการรุกรานยูเครนจริง

ยังมีอีกประเด็นที่นักวิเคราะห์จับตาดูจากการประชุมครั้งนี้คือ การที่จีนและอินเดียจะสามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องที่ทั้งสองเห็นต่างกันอยู่ในกรณีเนื้อหาของแผนที่ฉบับใหม่ที่กรุงปักกิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้หรือไม่

“สเตฟานี ซีกัล” นักวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐกิจจากศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ(ซีเอสไอเอส) กล่าวว่า “ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์มีมานานแล้ว และมีอยู่ก่อนที่อินเดียจะเป็นเจ้าภาพจี20 จึงได้แต่หวังว่า การประชุมที่จะเกิดขึ้นจะมุ่งเน้นประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก และเก็บกรณีพิพาทชายแดนระหว่างกันเอาไว้ก่อน