'อินเดีย' ส่งยาน 'Aditya-L1' มุ่งสำรวจดวงอาทิตย์สำเร็จ

'อินเดีย' ส่งยาน 'Aditya-L1' มุ่งสำรวจดวงอาทิตย์สำเร็จ

อินเดียปล่อยยานอวกาศอาทิตยา-แอล1 เพื่อสำรวจดวงอาทิตย์สำเร็จเป็นครั้งแรก ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจันทรยาน-3 ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ และสามารถยกระดับเป็นประเทศให้เป็นมหาอำนาจด้านอวกาศได้

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน (2 ก.ย.) ว่า อินเดีย ปล่อยยานอวกาศ สำรวจดวงอาทิตย์ สำเร็จเป็นครั้งแรก

ยานอวกาศล่าสุด มีชื่อว่า อาทิตยา-แอล1 (Aditya-L1) ปล่อยขึ้นสู่อวกาศจากเกาะศรีหริโคตา นอกอ่าวเบงกอลของอินเดีย เมื่อเวลา 11.50 ของวันเสาร์ที่ 2 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ยานลำดังกล่าวกำลังมุ่งหน้าไปจอดในวงโคจรที่ห่างไกลจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร

วงโคจรที่อาทิตยา-แอล1 จะไปจอด คือจุดลากร็องฌ์ที่ 1 (Lagrange Point 1 หรือ L1) เป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก ซึ่งเป็นจุดที่แรงโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงอาทิตย์หักล้างกัน ณ จุดนั้นจะทำให้ยานอาทิตยา-แอล1 ยังคงอยู่ในวงโคจรดังกล่าวได้ และเป็นตำแหน่งที่เหมาะแก่การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ โดยใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ยานอาทิตยา-แอล1 ติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 7 ชิ้น ซึ่งอุปกรณ์ 4 ชิ้นจะเป็นตัวส่งยานไปยังพระอาทิตย์โดยตรง ขณะที่อุปกรณ์อื่น ๆ จะศึกษาอนุภาคลมสุริยะ และสนามแม่เหล็กที่ผ่านจุดลากร็องฌ์ที่ 1

ข้อมูลที่รวบรวมจากยานอาทิตยา-แอล1 จะบอกภาพรวมของสภาพอากาศของอวกาศได้ชัดเจนมากขึ้น หรือสามารถอธิบายคลื่นแม่เหล็กที่กระเพื่อมผ่านระบบสุริยะของเราได้

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติหรือโนอา (NOAA) เผยว่า พายุในอวกาศสร้างผลกระทบต่อโลก หากเดินทางมาถึงชั้นบรรยากาศของเรา บางครั้งส่งผลต่อดาวเทียม ระบบสื่อสารวิทยุ และโครงข่ายไฟฟ้า

ความสำเร็จในการส่งยานอาทิตยา-แอล1 เกิดขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ หลังจากองค์การวิจัยอวกาศอินเดียสร้างประวัติศาสตร์ ส่งยานอวกาศจันทรยาน-3 ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ กลายเป็นชาติที่ 4 ของโลก และชาติที่ 2 ในยุคศตวรรษที่ 21 ที่สามารถจอดยานอวกาศบนดวงจันทร์ได้ และภารกิจของยานลำนี้จะเผยผลสรุปในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ภารกิจส่งยานสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งแรกของอินเดีย ช่วยเพิ่มสถานะประเทศให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศเกิดใหม่