สันตะปาปาเยือนมองโกเลีย หวังเป็นกาวใจจีน I Leaders' Move

สันตะปาปาเยือนมองโกเลีย หวังเป็นกาวใจจีน I Leaders' Move

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มุ่งหน้าสู่มองโกเลียเมื่อวันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีชาวคาธอลิกเพียง 1,450 คน แล้วทำไมถึงต้องเสด็จมาด้วยพระองค์เอง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน การเยือนสถานที่ที่ชาวคาธอลิกเป็นชนกลุ่มน้อยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ต้องการดึงดูดความสนใจต่อประชาชนกลุ่มนี้และปัญหาที่พระองค์เรียกว่า “คนชายขอบของสังคมและของโลก” เห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จเมืองหลวงของยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่

การไปมองโกเลียหมายถึงการไปเยี่ยมประชากรกลุ่มเล็กในประเทศใหญ่ มองโกเลียดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด คนอยู่อาศัยน้อย ประชากรน้อยแต่มีวัฒนธรรมยิ่งใหญ่” โป๊ปตรัสกับคณะนักข่าวตามเสด็จ และว่าประเทศนี้ต้องสัมผัส “ด้วยความรู้สึก” มากกว่าด้วยจิตใจ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสุขภาพของสมเด็จพระสันตะปาปา พระชันษา 86 ปีเสื่อมถอยลงมาก แต่รอบนี้ทรงแข็งแรง ขวัญและกำลังใจดี เดินด้วยไม้เท้า แตกต่างจากงานอื่นๆ ที่มักนั่งวีลแชร์

เที่ยวบินของพระองค์ต้องบินผ่านจีนก่อนเข้าสู่มองโกเลีย และตามธรรมเนียมที่ต้องทักทายประมุขของทุกประเทศที่พระองค์บินผ่าน โป๊ปฟรานซิสเตรียมส่งสาส์นถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เนื้อหาโดยปกติมักเป็นไปตามธรรมเนียม กล่าวคือ ขอให้พระเจ้าอวยพรประเทศนั้นๆ และประชาชน แต่กรณีจีนสาส์นจากโป๊ปถูกจับตาอย่างใกล้ชิดมากกว่า เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างวาติกันกับปักกิ่งไม่ราบรื่น

ตัวกลางประสานจีน

มองโกเลียเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนจนถึงปี 1921 และยังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองกับรัฐบาลปักกิ่ง นักการทูตกล่าวว่า อาจใช้มองโกเลียเป็นตัวกลางประสานกับจีนได้

ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคาธอลิกจากจีนแผ่นดินใหญ่จะข้ามพรมแดนมาเข้าเฝ้าสันตะปาปาหรือไม่

เครื่องบินเช่าเหมาลำของสันตะปาปาจากสายการบินไอทีเอ แอร์เวย์ พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามและผู้สื่อข่าว ออกจากกรุงโรมราว 18.40 น. วันพฤหัสบดี (31 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ใช้เวลา 9 ชั่วโมง 30 นาทีถึงกรุงอูลานบาตอร์ของมองโกเลีย งานแรกจะมีขึ้นในวันเสาร์ (2 ก.ย.) ด้วยการแสดงปาฐกถากับผู้นำรัฐบาลและนักการทูต

“การเสด็จเยือนของโป๊ปจะแสดงให้โลกเห็นว่า มองโกเลียร่วมสมัยเดินหน้ายอมรับเสรีภาพทางศาสนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของศาสนาต่างๆ ในมองโกเลีย” เกเรลมา ดาวาสุเรน ทูตมองโกลเลียประจำกรุงวาติกันผู้มีฐานปฏิบัติการในเจนีวากล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในอูลานบาตอร์

ส่วนในวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมีกำหนดร่วมประชุมระหว่างศาสนา

หัวข้อหนึ่งที่คาดว่าพระองค์จะกล่าวถึงในทริปนี้คือการปกป้องสิ่งแวดล้อม มองโกเลียเป็นประเทศหนึ่งที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 องศาแล้วนับตั้งแต่ปี 1940

ด้วยฝนตกน้อยลงมานาน พื้นที่ราวสามในสี่ของมองโกเลียกลายเป็นทะเลทรายและแห้งแล้ง ทะเลสาบขนาดเล็กกว่า 200 แห่งแห้งเหือดมาตั้งแต่ปี 1980

ในด้านการเมืองและศาสนา มองโกเลียถูกมองว่าเป็นการฟื้นตัวของศาสนาพุทธนิกายทิเบต หลังจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่โซเวียตสนับสนุนล่มสลายลงในปี 1990 และทะไล ลามะ ถือได้ว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่จีนก็กดดันมองโกเลียเสมอมาไม่อนุญาตให้ทะไลลามะ ชันษา 88 ปีมาเยือน โดยกล่าวหาว่าพระองค์เป็นตัวอันตรายแบ่งแยกดินแดน