ผู้เชี่ยวชาญแนะทั่วโลก ร่วมมือเชิงกลยุทธบรรเทาวิกฤตอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญแนะทั่วโลก ร่วมมือเชิงกลยุทธบรรเทาวิกฤตอาหาร

บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า วิกฤตอาหารหรือภาวะราคาข้าวและพืชเกษตรแพงมาก เพราะมีการควบคุมการส่งออกและการที่ผลผลิตลดลงอย่างมากจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ผ่านการร่วมมือเชิงกลยุทธทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

“ภารัต รามาสวามี”  ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอโศก ชานกรุงนิว เดลี ให้สัมภาษณ์อัลจาซีราห์ ว่า "สต็อกอาหารโลก ซึ่งยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงสองสามปีที่ผ่านมาและใกล้เคียงกับการคาดการณ์ล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ)ในเดือนมิ.ย. และบ่งชี้ว่าการผลิตและสต็อกโภคภัณฑ์ทางการเกษตรพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น                 

“เป็นเรื่องจำเป็นที่บรรดาผู้ส่งออกทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างหลักประกันว่าบรรดาประเทศยากจนจะไม่ถูกละเลยในเรื่องการจัดหาอาหารหรือข้าว ซึ่งสิ่งเหล่านี้่จะช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นในระบบการค้าทั่วโลก ในช่วงที่การค้าโลกกำลังอยู่ในความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์”รามาสวามี กล่าว

ส่วน“มาติน คาอิม”ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์การเกษตรและอาหารจากมหาวิทยาลัยบอนน์จากเยอรมนี กล่าวว่า “ต้องมีการปรับปรุงระบบการผลิตพืชผลทางการเกษตรและประเทศต่างๆต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีกว่านี้และต้านทานสภาพอากาศได้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะสามารถต้านทานสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วได้ ซึ่งหมายความว่าประเทศต่างๆต้องลงทุนมากขึ้นในการวิจัยและพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพาะปลูก” 
 

“หากดำเนินการด้วยวิธีการที่ถูกต้องทั้งในระยะกลางและระยะยาว ก็จะช่วยบรรเทาวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้”คาอิม กล่าว

ส่วนพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดีที่มีอยู่ในตอนนี้ เริ่มกลับเข้ามาในตลาด เช่น ข้าวฟ่าง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาหารหลักในแอฟริกาและอีกหลายประเทศในเอเชีย มียอดส่งออกเพิ่มขึ้นในช่วงสองสามปีมานี้ 

สหประชาชาติ(ยูเอ็น)จัดให้ปีนี้เป็นปี“ข้าวฟ่างสากล” โดยจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมการรับประทานข้าวฟ่างโดยเน้นว่าข้าวชนิดนี้มีคุณประโยชน์มหาศาลด้านโภชนาการและมีคุณลักษณะที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม
 

 อย่างไรก็ตาม แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังคร่ำเคร่งพัฒนาข้าว,ข้าวโพด และพืชเกษตรสำคัญอื่นๆ หลากหลายสายพันธุ์ที่ต้านทานความแห้งแล้งของสภาพอากาศได้ดีแต่ก็ยังไม่มีอะไรมาทดแทนพืชเกษตรตัวหลักๆที่ผู้คนทั่วโลกนิยมบริโภคในตอนนี้ได้จึงน่าจะใช้เวลาสักพักใหญ่กว่าจะแก้ปัญหานี้ได้