ภารกิจ ‘หยาง ฮุ่ยหยัน’ บริจาคการกุศล กอบกู้คันทรีการ์เดน

ภารกิจ ‘หยาง ฮุ่ยหยัน’ บริจาคการกุศล กอบกู้คันทรีการ์เดน

ทั่วโลกกำลังจับตาวิบากกรรมของคันทรีการ์เดน ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์จีน ด้วยเกรงว่าหากบริษัทระดับนี้เป็นอะไรไปจะส่งผลไปทั้งวงการลามถึงเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก คนที่รับศึกหนักในตอนนี้คือ หยาง ฮุ่ยหยัน ผู้ถือหุ้นใหญ่

Key Points:

  • ในปี 2564  อสังหาริมทรัพย์จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว หยาง ฮุ่ยหยัน ผู้ถือหุ้นใหญ่คันทรีการ์เดน เป็นหญิงผู้มั่งคั่งที่สุดในเอเชียราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์ 
  • สองปีต่อมาความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของเธอเลือนหายไปจากวิกฤติสภาพคล่องภาคอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นกับหลายสิบบริษัท
  • ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้นทุกขณะ หยุดอุ้มบริษัทอสังหาฯ แต่เรียกร้องให้ทำโครงการให้แล้วเสร็จ

ในปี 2564 หลังจากอสังหาริมทรัพย์จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว หยาง ฮุ่ยหยันเป็นหญิงผู้มั่งคั่งที่สุดในเอเชียราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่คันทรีการ์เดน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่สุดของจีน สองปีต่อมาความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของเธอเลือนหายไป วิกฤติสภาพคล่องภาคอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นกับหลายสิบบริษัทในขณะนี้กลายเป็นภัยคุกคามคันทรีการ์เดน บริษัทที่บิดาของหยางก่อตั้งมาเมื่อสามสิบปีก่อน

เฉพาะส.ค.เดือนเดียว มูลค่าหุ้นคันทรีการ์เดนหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง บริษัทยกเลิกเสนอขายหุ้นนาทีสุดในเมื่อปลายเดือน ก.ค. และไม่ได้จ่ายหนี้หุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์เมื่อต้นเดือน ส.ค. เมื่อวันจันทร์ (14 ส.ค.) คันทรีการ์เดนระงับการซื้อขายหุ้นกู้จีนหลายรายการ ทำให้โลกกังวลกับภาคอสังหาฯ จีนและเศรษฐกิจแดนมังกรอีกรอบ

ช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจึงไม่ใช่แค่บททดสอบสำหรับบริษัทที่มีหนี้สินเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์ แต่ยังเป็นบททดสอบหยางและครอบครัวด้วย ถ้าดูจากบริษัทอสังหารายใหญ่อื่นๆ ที่ล้มลง ทรัพย์สินของผู้ก่อตั้งถูกนักลงทุนจับตาระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

นอกจากนี้บทบาทของรัฐบาลจีน ซึ่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพยายามลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรณรงค์ “ความมั่งคั่งร่วมกัน” และควบคุมอุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตากรรมของคันทรีการ์เดนด้วย

สำหรับตระกูลหยางซึ่งเป็นครอบครัวผู้ก่อตั้ง บรรยากาศทางการเมืองตอนนี้แตกต่างไปอย่างมากจากยุคก่อนหน้านี้ที่การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วส่งผลให้ครอบครัวมั่งคั่งมหาศาล

“ภาคเอกชนและบุคคลเหล่านี้หายหน้าหายตาไปในหลายด้าน รัฐบาลควบคุมส่วนเกินบางอย่าง สัญญาณความยากลำบากมีมานานแล้ว” เฟรเซอร์ โฮวี ผู้เช่ี่ยวชาญอิสระด้านการเงินจีนให้ความเห็นกับไฟแนนเชียลไทม์ส

เส้นทางความมั่งคั่ง

หยางเกิดใน พ.ศ. 2524 สิบปีก่อนหยาง กั๊วะเฉียง บิดา ก่อตั้งคันทรีการ์เดนขึ้นที่มณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของประเทศ สมัยเป็นวัยรุ่นหยางเข้าร่วมประชุมบริษัทบ่อยครั้ง จากนั้นไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐ

ตอนที่คันทรีการ์เดนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ปี 2560 พ่อของหยางโอนหุ้นส่วนใหญ่ให้เธอ หยางจึงกลายเป็นหญิงที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ บริษัทกลายเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ ใหญ่สุดของจีน ทำหลายพันโครงการทั่วประเทศ พนักงานแต่งกายสุภาพขายโครงการด้วยเทคนิคอันเยี่ยมยอด

หยาง ผู้ไม่ค่อยชอบพูดต่อหน้าสาธารณะกลายเป็นประธานบริษัทในเดือน มี.ค.ปีนี้ ในช่วงเวลาที่วิกฤติอสังหาฯ จีนระอุมาแล้ว 18 เดือน หลังเอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระหนี้ในปี 2564 ถือเป็นบริษัทอสังหาฯ ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก

ตามรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น การประชุมบริษัทในเดือน มี.ค. หยางพยายามขจัดภาพที่ผู้คนมองว่าคันทรีการ์เดนเป็นธุรกิจครอบครัว โดยเล่าถึงบทสนทนาระหว่างเธอกับพ่อหลังกลับจากสหรัฐ ถึงการที่บริษัทต้องพึ่งพาคนเก่งๆ จากสังคม

จากปากคำของอดีตพนักงานรายหนึ่งและพนักงานปัจจุบันรายหนึ่ง ณ สำนักงานใหญ่ในเมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง อดีตประธานบริษัทกับลูกสาว มักนั่งในรถมายบัคสองคันที่จอดอยู่นอกอาคาร ขับไปรอบๆ สำนักงาน

“ผมไม่รู้ว่ามันเป็นการข่มขู่หรือสร้างแรงบันดาลใจ” อดีตพนักงานกล่าวและว่า พนักงานในบริษัท “ถูกจูงใจอย่างมากให้เชื่อว่า การทำงานในบริษัทนี้จะทำให้ฉันรวยได้ภายใน 5-10 ปี ตราบเท่าที่ฉันยังทำให้โครงการเดินหน้าไปได้”

หยางเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของคันทรีการ์เดนเซอร์วิส ธุรกิจที่แยกออกมาดูแลการจัดการคอนโดมิเนียมโดยเฉพาะ เพิ่งออกจากตำแหน่งเมื่อเร็วๆ นี้ ธุรกิจนี้มีความสำคัญสังเกตได้จากบริษัทดูแลคอนโดฯ หลายแห่งของนักพัฒนารายอื่นมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เอเวอร์แกรนด์ ที่ยื่นล้มละลายในนิวยอร์กเมื่อสัปดาห์ก่อน

รวยแล้วต้องบริจาค

ปลายเดือน ก.ค. วันเดียวกับที่คันทรีการ์เดนออกคำเตือนว่าบริษัทอาจขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ หยางบริจาคเงินราว 20% ของคันทรีการ์เดนเซอร์วิส มูลค่าเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ ให้กับมูลนิธิฮ่องกงแห่งหนึ่งที่หยาง จื้ออิง น้องสาวของเธอเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่กี่สัปดาห์

ตามเอกสารของบริษัทการบริจาคดังกล่าวเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการกุศล เช่น ช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง, บรรเทาภัยพิบัติ และส่งเสริมการพลิกฟื้นชนบทจีนแผ่นดินใหญ่

ช่วงเวลาการบริจาคเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนบริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ นักวิเคราะห์และนักลงทุนจำนวนหนึ่งตีความว่า นี่อาจเป็นความพยายามโอนหุ้น

ซินดี้ หลี่ นักวิเคราะห์ของซิตี้ ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปเพื่อการกุศล,การจัดสรรสินทรัพย์ครอบครัวใหม่, การรับมรดก และการกระจายความเสี่ยง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การบริจาคเพื่อการกุศลได้รับแรงกระตุ้นจากนโยบายความมั่งคั่งร่วมของรัฐบาลจีน

พนักงานปัจจุบันคนเดิมเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนที่รัฐบาลหรือตัวแทนธุรกิจมาเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของคันทรีการ์เดน พวกเขาถูกพาไปชมโรงเรียนฝั่งตรงข้ามเป็นที่แรก โรงเรียนนี้ได้รับเงินทุนจากหยางและบิดา เพื่อเน้นย้ำถึงแนวทางการกุศลของพวกเขา

ด้านอดีตพนักงานเผยว่า ในจีนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีบทบาทสำคัญต่อการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นผ่านการซื้อที่ดิน ที่คันทรีการ์เดน พนักงานอาวุโส “ย้ำเสมอถึงความสำคัญที่ต้องเข้าใจการเมืองจีน”

วิคเตอร์ ชีห์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองจีน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าวชัด นักพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ของจีน “มีดีลใหญ่กับทุนการเมืองในพรรค” พวกเขา “คือกุญแจสำหรับอาชีพข้าราชการในพื้นที่ เนื่องจากมีบทบาทขับเคลื่อนการเติบโตของท้องถิ่น” ชีห์กล่าวพร้อมเสริม แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น “เน้นเอาใจศูนย์กลาง แทนที่จะใส่ใจนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น”

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้นทุกขณะ หยุดอุ้มบริษัทอสังหาฯ แต่เรียกร้องให้ทำโครงการให้แล้วเสร็จ ในประเด็นนี้คันทรีการ์เดนและหยาง ฮุ่ยหยันปฏิเสธจะให้ความเห็นกับไฟแนนเชียลไทม์ส

ก่อนหน้านี้หยางและน้องสาวเคยซื้ออสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง ซึ่งความมั่นคั่งส่วนตัวแบบนี้มักถูกนักลงทุนจับตามอง เช่น ฮุย กาหยั่นผู้ก่อตั้งและประธานเอเวอร์แกรนด์ ที่เคยมั่งคั่งที่สุดในจีน ถูกนักลงทุนจับตาความมั่งคั่งส่วนตัวอย่างหนัก ระหว่างที่เอเวอร์แกรนด์กำลังปรับโครงสร้างหนี้

โฮวีคาดว่า เหล่าอภิมหาเศรษฐีจีนอย่างหยาง จะต้องถูกรัฐบาลปักกิ่งกดดันอย่างมากให้ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ คำถามยากที่ถูกถามมากขึ้นทุกที

“ชัดเจนว่าตอนนี้พรรค (คอมมิวนิสต์) กำลังมองไปที่ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเทคหรืออสังหาฯ แล้วบอกว่า คุณต้องแบ่งปันสัดส่วนของคุณอย่างเป็นธรรม” โฮวีกล่าวเป็นนัยถึงแนวทางที่อภิมหาเศรษฐินีอย่างหยาง ฮุ่ยหยันต้องทำต่อไป