สังคมแห่งการเรียนรู้ ในต่างประเทศ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

สังคมแห่งการเรียนรู้ ในต่างประเทศ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

สุดสัปดาห์นี้จะตรงกับวันแม่ และจะมีเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ คือปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ในช่วงคืนวันที่ 12 ถึงรุ่งเช้าของวันที่ 13 ส.ค.

ปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้สนใจในดวงดาวและเด็กๆ ในวัยศึกษาเล่าเรียน การดูฝนดาวตกนี้ก็แสนจะง่ายดายไม่ต้องการอุปกรณ์ใด แค่เพียงหาสถานที่มืดและช่วงเวลาที่พระจันทร์ใกล้จะลับฟ้าในช่วงเช้ามืดเพื่อเห็นแสงที่ชัดเจนขึ้นของกลุ่มดาวตก ซึ่งเชื่อว่าอัตราตกสูงสุดอาจจะถึง 100 ดวง/ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์/วิทยาศาสตร์ที่ประเทศที่เจริญแล้ว หรือในสังคมอุดมปัญญาในต่างประเทศจะให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก และถือเป็นเครื่องมือพาหนะในการชักจูงให้เยาวชนมีความสนใจเพิ่มพูนความรู้ในวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และเพื่อต่อยอดประยุกต์ไปยังเทคโนโลยี

หากดูผิวเผินก็อาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่บทพิสูจน์ในประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้ความสำคัญกับสังคมแห่งการเรียนรู้นั้นจะสร้างประชากรที่มีคุณภาพและเสริมสร้างความเป็นมหาอำนาจของประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น การแข่งขันทางอวกาศระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในยุคสงครามเย็น ที่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเข้าใจในปรากฏการณ์ต่างๆ ของโลก แต่ยังนำมาซึ่งการพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งสามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์และการทหาร

เยาวชนในประเทศพัฒนาแล้วมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ผ่านสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ทั้งพ่อแม่ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมมือกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำความเข้าใจโลก ประเทศที่เจริญแล้วและให้ความสำคัญกับสังคมแห่งการเรียนรู้นั้นนิยมสร้าง พิพิธภัณฑ์ที่ดี สวยงามโดดเด่นและทันสมัย พิพิธภัณฑ์ที่โดดเด่นนั้นไม่เพียงทำหน้าที่ในการกระจายความรู้ แต่ยังเป็นการแสดงถึงความเป็นอารยะของเมืองนั้นๆ

ประเทศตะวันตกที่เจริญแล้วมีพิพิธภัณฑ์ที่ดีมากมายในหัวเมืองใหญ่ อาทิ สหรัฐ ที่มีพิพิธภัณฑ์ที่ดี ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ศิลปะ วัตถุโบราณมากมายในหัวเมืองใหญ่

ขณะที่อังกฤษ ถึงแม้จะเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสหรัฐ แต่ก็มีพิพิธภัณฑ์มากมายกระจายอยู่ทั่วทั้งเมืองใหญ่และเล็ก ทั้งเอกชนและของรัฐ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี หรือที่อื่นๆ ในยุโรปก็มีพิพิธภัณฑ์ที่ดีในแต่ละเมืองเช่นกัน

ตัวอย่างที่ดีในการต่อยอดการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้สำหรับไทยคือ “จีน” โดยเฉพาะนครเซี่ยงไฮ้ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาเมืองและพัฒนาสังคมอุดมปัญญาด้วยการใช้งบประมาณในการลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัย

พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเซี่ยงไฮ้ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ล้วนได้รับการอุดหนุนงบประมาณจำนวนมากจากรัฐ ภายในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปร่างหน้าตาของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ดูล้ำยุคทันสมัย ข้างในก็อัดแน่นเต็มไปด้วยความรู้ทั้งแบบดั้งเดิม อาทิ ไดโนเสาร์ ภาพวาด วัตถุโบราณ และยุคใหม่ อาทิ AR, VR, 3D Printing, หุ่นยนต์ และการนำเสนอความรู้เหล่านั้นก็ถูกออกแบบมาอย่างดี ไม่น่าเบื่อ

ทางการจีนเชื่อว่า หนึ่งในการพัฒนาให้ประเทศก้าวหน้านั้นจำต้องพัฒนาคน และจำต้องพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก การส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เยาวชนเรียนรู้เข้าใจโลกได้ง่าย แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเพื่อจุดมุ่งหมายในอาชีพ ให้เยาวชนอยากเป็นคนเก่ง ซึ่งผลสัมฤทธิ์ก็เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในความก้าวหน้าทางอวกาศของจีนที่ตอนนี้ไม่ได้ด้อยไปกว่าโลกตะวันตก ไม่ต้องพูดถึงเทคโนโลยีที่ตอนนี้จีนล้ำไปไกลมากแล้ว

การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ของไทยนั้น เป็นไปอย่างช้ามาก เมื่อ 20-30 ปีก่อน ประเทศเราเคยมีสวนสัตว์ที่ดี เคยมีพิพิธภัณฑ์ที่ไม่แย่ แต่ก็ไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร การสร้างบรรยากาศให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ของเรา จึงควรอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาด หยิบฉวยโอกาสเช่นฝนดาวตกนี้ให้เป็นประโยชน์

ที่สำคัญคือ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจำต้องช่วยกัน เพราะหากหวังจะพึ่งพิงจากงบประมาณของรัฐ ผลลัพธ์ก็คงออกมาอย่างที่เห็น