หนุ่มสาวชาวจีนตกงาน-หมดไฟ หันสวมบท‘ลูกฟูลไทม์’คั่นเวลา

หนุ่มสาวชาวจีนตกงาน-หมดไฟ หันสวมบท‘ลูกฟูลไทม์’คั่นเวลา

หนุ่มสาวชาวจีนตกงาน-หมดไฟ หันสวมบท‘ลูกฟูลไทม์’คั่นเวลา โดยหนุ่มสาวจำนวนมากที่ว่างงาน หรือลูกฟูลไทม์ บอกว่า พวกเขาตั้งใจจะอยู่บ้านเพียงชั่วคราว โดยมองว่าการอยู่บ้าน เป็นช่วงเวลาพักผ่อน และเป็นช่วงหางานใหม่

หนุ่มสาวชาวจีน ที่มักถูกบอกให้ทุ่มเทกับการเรียนและไล่ล่าใบปริญญา ตามคำสอนของผู้ใหญ่ที่พร่ำบอกว่าการเรียนคุ้มค่าต่อการประกอบอาชีพ ตอนนี้ต่างรู้สึกยอมแพ้และรู้สึกเหมือนติดกับดักบางอย่างอยู่

ขณะนี้หนุ่มสาวชาวจีนช่วงอายุ 16-24 ปี มากกว่า 1 ใน 5 กำลังว่างงาน และอัตราการว่างงานของคนกลุ่มนี้ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ข้อมูลทางการที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) ระบุว่า ตัวเลขว่างงานของคนหนุ่มสาวจีนอยู่ที่ 21.3% เป็นอัตราการว่างงานสูงสุด ตั้งแต่รัฐบาลเผยข้อมูลส่วนนี้ในปี 2561 แต่ตัวเลขดังกล่าว ยังไม่รวมตลาดแรงงานในชนบท 

หนุ่มสาวจำนวนมากที่ว่างงาน หรือที่เรียกว่า ลูกฟูลไทม์ (full-time children) บอกว่า พวกเขาตั้งใจจะอยู่บ้านแค่ชั่วคราว โดยมองว่าการอยู่บ้าน เป็นช่วงเวลาพักผ่อน และเป็นช่วงหางานใหม่ แต่ชีวิตก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น

“จูเลีย” ชาวจีน วัย 29 ปี ส่งใบสมัครงานไปมากกว่า 40 แห่ง ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ได้ไปสัมภาษณ์งานแค่ 2 แห่งเท่านั้น “ก่อนออกจากงาน ฉันหางานได้ยากมาก พอออกจากงาน ยิ่งหางานยากขึ้นไปอีก” จูเลียตัดพ้อ

จูเลียกำลังหางานใหม่ เพราะเพิ่งลาออกจากงานพัฒนาเกมในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือน เม.ย. เนื่องจากงานเดิมหนักเกินไป จนทำให้เธอเหนื่อยล้า จากนั้นก็กลายเป็นลูกฟูลไทม์

ในแต่ละวัน จูเลียจะคอยล้างจาน เตรียมอาหารให้พ่อแม่ และทำงานบ้านอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ พ่อแม่เป็นคนออกให้ แถมยังเสนอค่าจ้างให้เธอเดือนละ 2,000 หยวน หรือราว 9,400 บาท แต่เธอไม่รับข้อเสนอนี้

ทั้งนี้ จูเลีย ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลูกฟูลไทม์ ที่เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะกลับไปอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะเหนื่อยจากชีวิตการทำงาน หรือบางคนยังหางานใหม่ไม่ได้

“เฉิน ตูตู” ชาวจีนวัย 21 ปี ลาออกจากงานอสังหาริมทรัพย์ช่วงต้นปี เพื่อมาเป็นลูกสาวฟูลไทม์เช่นกัน เพราะเธอรู้สึกเหนื่อยและไร้คุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อเธอไปอยู่บ้านทางภาคใต้ของจีน เฉินบอกว่า เธอเหมือนใช้ชีวิตแบบวัยเกษียณ จากนั้นความวิตกกังวลก็เริ่มคืบคลานเข้ามา

เฉินบอกว่า เธอได้ยินเสียงพูดแย้งกันอยู่สองฝั่งในหัว “เสียงหนึ่งบอกว่า ยากนะที่จะมีช่วงเวลาแบบนี้ ใช้ชีวิตให้สนุกเถอะ อีกเสียงเตือนให้ฉันคิดว่าควรทำอะไรต่อไปได้แล้ว”

จากนั้นเฉินก็เริ่มทำธุรกิจเป็นของตนเอง “ถ้าฉันเป็นลูกฟูลไทม์นาน ฉันอาจกลายเป็นกาฝากของบ้าน”

ส่วน“แจ็ค เจิ้ง” ชายชาวจีนวัย 32 ปี ที่เพิ่งลาออกจากเทนเซ็นต์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติจีน เล่าว่า เขาต้องตอบข้อความที่เกี่ยวข้องกับงานเกือบ 7,000 รายการ นอกเวลาทำงานในแต่ละวัน ซึ่งเขามองว่ามันเป็นงานล่วงเวลาที่ไร้ค่า เพราะไม่ได้รับค่าจ้างชดเชย สุดท้ายเขาก็ลาออก เพราะมีความเครียดจากงาน จนเป็นโรครูขุมขนอักเสบรุนแรง

แม้ในที่สุดแจ็คจะได้งานที่ดีกว่าเดิม แต่คนรอบ ๆ ตัวเขาไม่ได้โชคดีแบบเขา เพราะหลายคนเผชิญกับความเชื่อที่แพร่หลายในจีน อย่างเช่นคำสาปอายุ 35 เป็นความเชื่อที่ว่า นายจ้างไม่อยากจ้างแรงงานที่อายุมากกว่า 35 ปี แต่อยากจ้างแรงงานที่เป็นคนหนุ่มสาว เพราะค่าจ้างถูกกว่า

ดาบสองคมของการแบ่งแยกอายุและการตัดโอกาสในการทำงาน จึงเป็นความท้าทายต่อคนจีนอายุ 30-35ปี ที่มีหนี้สินท่วมหัวหรือกำลังเริ่มสร้างครอบครัว

ขณะที่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็สิ้นหวังไม่แพ้กัน บางคนถึงกับยอมสอบตกเพื่อถ่วงเวลาการเรียนจบให้ช้าออกไป

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียจีนเต็มไปด้วยภาพสำเร็จการศึกษาที่ผิดแผกไปจากเดิม แสดงให้เห็นถึงความท้อแท้ของบัณฑิต หนุ่มสาวบางคนถ่ายรูปสำเร็จการศึกษา โดยนอนราบไปกับชุดรับปริญญา หน้าคว่ำบนพื้น บางคนถือปริญญาบัตรเหนือถังขยะ ก่อนจะโยนมันทิ้งลงไป

ครั้งหนึ่ง มหาวิทยาลัยเคยเป็นสถานที่ที่ชนชั้นสูงปราถนา แต่ช่วงปี 2555-2565 อัตราการลงทะเบียนเรียนระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 59.6% เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพื่อเป็นใบเบิกทางในการคว้าโอกาสที่ดีกว่าในตลาดงานที่มีการแข่งขันสูง แต่สุดท้ายต้องผิดหวังเมื่อตลาดงานเต็ม

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การว่างงานของคนหนุ่มสาวจีนอาจแย่ลงอีก เนื่องจากนักศึกษาจบใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 11.6 ล้านคน กำลังเข้าสู่ตลาดงาน

“บรูซ แปง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากโจนส์ แลง ลาซาลในจีน บอกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ล่าช้า หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการว่างงานสูง

“นายจ้างบางคน ไม่ค่อยอยากจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ที่มีแค่ใบปริญญา หรือคนที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่าคนรุ่นก่อน เพราะการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิด-19 ยืดเยื้อ” แปง กล่าว

การปราบปรามอุตสาหกรรมที่คนหนุ่มสาวชาวจีนหัวกะทิอยากเข้าทำงาน ก็ปิดกั้นโอกาสในตลาดงานของคนรุ่นใหม่ รวมถึงกฎระเบียบต่อต้านบริษัทเทคโนโลยีสำคัญหลายแห่งของจีน การจำกัดอุตสาหกรรมสถาบันกวดวิชา และการระงับการลงทุนด้านการศึกษาเอกชน ล้วนส่งผลให้งานในตลาดงานลดลงเช่นกัน