Leaders' Move: รัฐบาลผสมตั้งได้ก็ล้มได้! เห็นต่างรุนแรงนายกฯ เนเธอร์แลนด์ลาออก

Leaders' Move:  รัฐบาลผสมตั้งได้ก็ล้มได้!   เห็นต่างรุนแรงนายกฯ เนเธอร์แลนด์ลาออก

รัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีมาร์ค รึตเตอ แห่งเนเธอร์แลนด์ล้มแล้วเมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องนโยบายการเข้าเมือง คาดว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน พ.ย.

Key Points:

  • นายกรัฐมนตรีมาร์ค รึตเตอ ของเนเธอร์แลนด์ ยื่นใบลาออกทั้งคณะ
  • เหตุพรรคร่วมรัฐบาล 2 ใน 4 พรรคไม่เห็นด้วยกับนโยบายผู้อพยพของนายกฯ 
  • ถือเป็นอันสิ้นสุดรัฐบาลผสมชุดที่ 4 ของรึตเตอร ที่ต้องใช้เวลาเจรจาทุบสถิติ 271 วันกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ 
  • การเลือกตั้งใหม่ เดือนพ.ย. หาเสียงกันอย่างดุเดือด พรรคใหม่ประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับรึตเตอ
  • หัวหน้าพรรคใหม่ประกาศ พร้อมเป็นนายกฯ ถ้าได้คะแนนเสียงมากที่สุด

รึตเตอ วัย 56 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานมากที่สุดของเนเธอร์แลนด์และยุโรป รองจากนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บานของฮังการี และเป็นนักการเมืองประสบการณ์เก๋าสุดคนหนึ่งของยุโรป

รัฐบาลผสมชุดนี้ของรึตเตอถือเป็นชุดที่ 4 ติดต่อกันนับตั้งแต่เขาเป็นนายกฯ ในปี 2553 แต่กว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำหน้าที่ได้ต้องใช้เวลายาวนานเป็นประวัติการณ์ 271 วัน เจรจากันในหลายประเด็นที่พรรคร่วมฯ มีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก เพิ่งจะมาเป็นรัฐบาลได้จริงๆ ในเดือน ม.ค.2565 นี่เอง

ส่วนชนวนร้อนที่เป็นเหตุให้รัฐบาลผสมชุดปัจจุบันทำงานต่อไปไม่ได้คือแผนจำกัดจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศ หลังเกิดเหตุศูนย์ผู้ลี้ภัยแออัดเมื่อปีก่อน ทารกคนหนึ่งเสียชีวิต ประชาชนหลายร้อยคนต้องนอนในที่โล่งแจ้ง

พรรค VVD  ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของรึตเตอต้องการจำกัดจำนวนผู้ขออพยพเข้าสู่เนเธอร์แลนด์  ขณะที่ 2 ใน 4 ของพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ เมื่อรึตเตอขอการสนับสนุนต่อข้อเสนอที่จะจำกัดการอพยพของบุตรผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์อยู่แล้ว  และครอบครัวผู้อพยพต้องรอคอยเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ก่อนที่จะสามารถเดินทางเข้ามาอยู่ร่วมกันได้ในเนเธอร์แลนด์

เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็เห็นทีต้องโบกมือลา รึตเตอแถลงข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ 

“พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับนโยบายผู้อพยพเข้าประเทศ และในวันนี้เราตระหนักว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะประสานความแตกต่างเหล่านั้น ดังนั้นผมจึงจะยื่นการลาออกของคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต่อกษัตริย์เนเธอร์แลนด์”

การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. ระหว่างนี้รึตเตอจะเป็นนายกฯ รักษาการ ซึ่งไม่สามารถออกนโยบายใหม่ได้แต่ไม่ส่งผลต่อนโยบายสนับสนุนยูเครน 

ส่วนตัวรึตเตอนั้น ได้ฉายาว่า “เทฟลอนมาร์ค” จากความสามารถลื่นไหลพลิกแพลงไม่ให้เกิดหายนะทางการเมืองได้เหมือนกะทะเทฟลอนไม่ต้องใช้น้ำมัน เจ้าตัวเผยว่า ยังมี “พลัง” เป็นนายกฯ สมัยที่ 5 แต่ก็ต้อง “คิดดูก่อน”

การเมืองแตกแยก

ตอนนี้เนเธอร์แลนด์ต้องเจอกับการหาเสียงเลือกตั้งที่ดุเดือดและแตกแยกที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปี พรรคเกิดใหม่ BBB นำโดยเกษตรกรไม่เห็นด้วยกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปสนับสนุน พวกเขาพยายามชนะเลือกตั้งเหมือนที่เคยทำได้ในวุฒิสภาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

พรรคใหม่พร้อมเป็นนายกฯ

คาโรไลน์ แวน เดอ พลาส หัวหน้าพรรค BBB ประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับรึตเตอ และพร้อมเป็นนายกฯ ถ้าพรรคของเธอได้เสียงมากที่สุด

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า การที่รึตเตอต้องมีท่าทีแข็งกร้าวต่อการอพยพก็เพื่อลดแรงเสียดทานจากปีกขวาของพรรค VVD หลังจากพรรค BBB เริ่มดึงฐานเสียง อีกทั้งพรรคฝ่ายขวาในเนเธอร์แลนด์กำลังมาแรง รวมถึงเกิร์ต ไวล์เดอร์ส หัวหน้าพรรคผู้มีแนวคิดต้านอิสลาม

ประชาชนหวังรัฐบาลใหม่ดีกว่าเดิม

ส่วนบรรยากาศนอกทำเนียบรัฐบาล ผู้คนจับกลุ่มคุยการเมืองกันอย่างออกรส

“ผมค่อนข้างกังวลว่ารัฐบาลชุดใหม่จะหน้าตาเป็นยังไง” มาริจน์ ฟิลิปโป เจ้าหน้าที่ไอทีวัย 19 ปี ให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอเอฟพี เช่นเดียวกับปีเตอร์ บัลเคเนนเด วัย 32 ปี ที่หวังว่ารัฐบาลใหม่จะดีกว่าเดิม “โดยเฉพาะในด้านการลี้ภัย”