ปัจจัยที่จะทำให้ไม่มี ‘สงครามเย็น’ | ไสว บุญมา

ปัจจัยที่จะทำให้ไม่มี ‘สงครามเย็น’ | ไสว บุญมา

โลกตกอยู่ในภาวะสงครามเย็นอีกครั้ง ซึ่งแตกต่างกับครั้งแรก ครั้งนั้นเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายที่ใช้หลักประชาธิปไตยในด้านการเมือง และระบบตลาดเสรีในด้านเศรษฐกิจ กับฝ่ายที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งควบรวมการเมืองและเศรษฐกิจเข้าด้วยกันเป็นระบบเผด็จการแบบสัมบูรณ์

ฝ่ายแรกนำโดยสหรัฐ ซึ่งเรียกตัวเองว่าฝ่ายโลกเสรี ฝ่ายหลังนำโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งแตกสลายและพ่ายแพ้เมื่อปี 2534 ครั้งนี้ฝ่ายโลกเสรียังมีสหรัฐนำ ส่วนฝ่ายท้าทาย ได้แก่ จีน ซึ่งเคยอยู่ในฝ่ายที่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์ จีนสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดได้หลังเปลี่ยนการบริหารประเทศตามระบบคอมมิวนิสต์มาเป็นระบบใหม่

โดยด้านการเมืองยังใช้ระบบเผด็จการ ส่วนด้านเศรษฐกิจนำระบบตลาดเสรีกลับมาใช้ โดยยอมให้เอกชนครอบครองปัจจัยในการผลิตจำพวกที่นา โรงงาน และสถานบริการพร้อมกับการตัดสินใจในการลงทุนและการบริโภค

การต่อสู้กันครั้งนี้มีสงครามตัวแทนเช่นเดียวครั้งแรก ยูเครนเป็นสนามรบในปัจจุบัน ชาวโลกจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า สหรัฐเป็นผู้ร้ายไม่ต่างกับในครั้งแรก ในครั้งนั้น สหรัฐออกนำสงครามตัวแทนในเวียดนามและพ่ายแพ้ แต่ไม่แตกสลาย

ด้วยเหตุนี้ จึงมีเสียงสนับสนุนแบบเข้มข้น ให้รัสเซียและจีนโค่นสหรัฐอย่างราบคาบ เพื่อชาวโลกจะได้สุขสบายเมื่อไร้สงครามเย็น ในขณะเดียวกันมีผู้มองว่า จีนเป็นตัวเจ้าปัญหาที่พยายามขยายอำนาจออกไปครอบครองโลก จึงควรจะถูกยับยั้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายนำข้ออ้างต่างๆ นานามาเสนอ และถกเถียงกันอย่างเข้มข้น จนดูจะไม่มีผู้ใดเฉลียวใจเลยว่า อาจมองสองฝ่ายเป็นผู้ร้ายได้ทั้งคู่ สหรัฐเป็นผู้นำมานานในด้านการบริโภคและใช้ทรัพยากรโลกแบบสุดโต่ง หรือแบบไม่รู้จักพอ สหรัฐสนับสนุนให้ใช้ระบบตลาดเสรี โดยเพิ่มการบริโภคเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการพัฒนา 

จีนไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้มากจากการใช้ระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐบาลควบคุมทุกอย่าง รวมทั้งการจะผลิตอะไรให้ชาวจีนบริโภคบ้าง จนกระทั่งหลังนำระบบตลาดเสรีกลับมาใช้อีกครั้ง ชาวจีนรุ่นใหม่ตอบสนองระบบตลาดเสรีที่มีการบริโภคขับเคลื่อนแบบท่วมท้น เพราะคนจีนเป็นนักบริโภคต่อเนื่องกันมานับพันปี

ชาวโลกยึดการบริโภคและการใช้ทรัพยากรโลกแบบไม่รู้จักพอ ขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตในนามของการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทรัพยากรโลกจึงลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงกันอย่างกว้างขวางและเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จีนมีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน ซึ่งจะต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลหากต้องการให้ชาวจีนบริโภคได้ในระดับเดียวกับชาวอเมริกัน หากชาวจีนจะบริโภคในระดับสูงเช่นนั้น จะต้องมีการแย่งชิงกันขั้นรุนแรงทั่วทุกหัวระแหงจากระดับบุคคลจนไปจนถึงระดับประเทศ

การบริโภคที่เพิ่มขึ้นแบบไม่รู้จักพอได้นำไปสู่การทำลายทรัพยากรโลกแบบไร้เหตุผล จนเป็นเสมือนคนกำลังทำสงครามกับโลก ผลลัพธ์กำลังปรากฏ นั่นคือโลกตอบโต้อย่างเข้มข้นเพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้ง

ปรากฏการณ์หลายอย่างเป็นวิธีที่โลกใช้ ไม่ว่าจะเป็น ความร้อนแบบตับแตกในเขตที่ไม่เคยมีเกิดขึ้น พร้อมกับบางแห่งแห้งแล้งยาวนานปานอยู่กลางทะเลทราย หรือพายุใหญ่แบบไม่เคยมีมาก่อน ภาวะโลกร้อนเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์เหล่านั้น

มุมมองดังกล่าวนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ฝ่ายใดจะชนะสงครามเย็นในปัจจุบันไม่มีความสำคัญแม้แต่น้อย เนื่องจากฝ่ายชนะจะทำสงครามกับโลกต่อไปจนฝ่ายตนแพ้ แต่ก็มีผู้คิดว่าไม่น่ากังวลเพราะคนจะสามารถหาโลกใหม่อยู่ได้ ในขณะนี้มีอภิมหาเศรษฐี เช่น อีลอน มัสก์ ลงทุนค้นคว้าหาเทคโนโลยีสำหรับใช้เดินทางไปหาโลกใหม่อย่างจริงจังแล้ว 

อย่างไรก็ดี มีผู้แย้งว่าหากทำได้ก็มิใช่ทางออกสำหรับมนุษยชาติ เนื่องจากหากดูพฤติกรรมของคนจำพวกอีลอน มัสก์ คนผิวขาวเท่านั้นจะเป็นผู้ไปอยู่โลกใหม่และจะไปทำสงครามต่อ เพราะความไม่รู้จักพอของตน คนยังทำสงครามกับตัวเอง ในสงครามนี้ ฝ่ายที่มีความรู้จักพอต้องชนะ การทำสงครามเย็นต่อไปจึงจะไม่มี