‘คริสปี้ ครีม’ ยักไหล่ให้กฎคุมไขมัน มอง ‘โดนัท’ สนุกมากกว่าของมีประโยชน์

‘คริสปี้ ครีม’ ยักไหล่ให้กฎคุมไขมัน มอง ‘โดนัท’ สนุกมากกว่าของมีประโยชน์

ผู้บริหาร “คริสปี้ ครีม” ยักไหล่ให้กับกฎคุมอาหารไขมันสูง-ต้านโรคอ้วนในอังกฤษ ชี้ ห้ามไปก็ไม่มีผล ผู้บริโภคจะหาทางซื้อเองอยู่ดี ด้านรัฐบาลเตรียมจำกัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย งดซื้อ 1 แถม 1-โฆษณาก่อนสามทุ่ม

รู้กันดีอยู่ว่า “ของหวาน” ทานเยอะๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ก็ยังเป็นของโปรดของใครหลายๆ คน แม้กระทั่งจะออกกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราว ก็ดูจะห้ามเหล่าสายหวานไม่สำเร็จ

อย่างล่าสุดสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) รายงานบทสัมภาษณ์ของ “ไมค์ แททเทอร์ฟิลด์” (Mike Tattersfield) ผู้บริหารระดับสูงเชนโดนัทเมืองผู้ดี “คริสปี้ ครีม” (Krispy Kreme) โดยแททเทอร์ฟิลด์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎควบคุมอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เขาระบุว่า ข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบกับร้านค้ามากนัก และสุดท้ายผู้บริโภคจะสามารถมองหา “โดนัท” ของพวกเขาได้ด้วยตนเอง แม้มันจะถูกจัดวางในที่ลับตาหรือควบคุมด้วยกฎต่อต้านโรคอ้วนที่เข้มงวดก็ตาม

‘คริสปี้ ครีม’ ยักไหล่ให้กฎคุมไขมัน มอง ‘โดนัท’ สนุกมากกว่าของมีประโยชน์

กฎควบคุมอาหารที่มีระดับไขมันและน้ำตาลสูงเริ่มมีผลบังคับใช้ในสหราชอาณาจักรบ้างแล้ว โดยห้ามไม่ให้ร้านค้าขนาดใหญ่วางสินค้าดังกล่าวไว้ในตำแหน่งที่ชัดเจน ใกล้กับจุดชำระเงินและบริเวณทางเข้าหน้าร้าน แททเทอร์ฟิลด์กล่าวว่า บริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา (North Carolina) จะผลักดันการเติบโตด้วยวิธีทางการตลาดใหม่ๆ ต่อไป เพื่อให้ คริสปี้ ครีม ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้

“เราจะมองหาช่องทางอื่นๆ ในการส่งเสริมการขายต่อไป เมื่อใดก็ตามที่มีกฎระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางธุรกิจ ลูกค้าจะยังคงมองหาสิ่งที่เราทำต่อไป” เขากล่าวเสริม

คริสปี้ ครีม ในสหราชอาณาจักรมีที่ตั้งร้านค้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และร้านสแตนด์อะโลน โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 “คริสปี้ ครีม” ซึ่งให้บริการใน 32 ประเทศทั่วโลก ทำกำไรได้รวม 54.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ผลประกอบการเฉพาะส่วนงานต่างประเทศลดลงจากไตรมาสที่แล้ว 21 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 13.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แททเทอร์ฟิลด์แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ภัยคุกคาม” จากกฎระเบียบใหม่ โดยเขาไม่เชื่อว่า ข้อบังคับดังกล่าวจะสามารถห้ามปรามให้ผู้คนลดการบริโภคสิ่งเหล่านี้ลงได้ เขาพูดติดตลกว่า อย่างไรเสีย “โดนัท” ก็ยังเป็นขนมที่มีกลิ่นอายของความสนุกสนานในการแบ่งปัน มากกว่าจะเปลี่ยนมากิน “เค้กผักคะน้า” แทน ความคิดเห็นของแททเทอร์ฟิลด์เน้นย้ำถึงความท้าทายต่อรัฐบาลในการพยายามส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดการรับประทานอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง

ไม่ต่างกันกับอีกหนึ่งบริษัทขนมยักษ์ใหญ่อย่าง “มอนเดลีซ” (Mondelez) บริษัทขนมยักษ์ใหญ่เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง “โอริโอ้” (Oreo) “ริทซ์” (Ritz) และ “แดรี มิลค์” (Dairy Milk) ให้ความเห็นว่า แม้จะมีกฎระเบียบที่คล้ายกับเป็นการ “ขัดขวาง” ยอดขาย-แรงกระตุ้นในการซื้อ แต่ก็พบว่า ยังไม่กระทบกับยอดขายของมอนเดลีซมากนัก มองว่า เมื่อลูกค้าเริ่มคุ้นเคยกับการจัดร้านในรูปแบบใหม่ๆ แล้ว ยอดขาย-ปริมาณการเติบโตก็จะกลับมาดีเท่าเดิม

นอกจากกฎเกณฑ์เรื่องพื้นที่ในการวางสินค้า ในอนาคตทางการยังมีแผนที่จะใช้ข้อจำกัดอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโปรโมชัน-การส่งเสริมการขายที่เน้นปริมาณ อย่าง ซื้อ 1 แถม 1 และการจำกัดเวลาโฆษณาอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ทางทีวีก่อนเวลา 21.00 น. ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เป็นต้นไป

 

อ้างอิง: Financial Times