‘เฟซบุ๊ก’ ปรับอัลกอริทึมเพิ่ม คนทำสื่อโอดกระทบอนาคต

‘เฟซบุ๊ก’ ปรับอัลกอริทึมเพิ่ม คนทำสื่อโอดกระทบอนาคต

สื่อนอกรายงาน “ทราฟฟิก” เฟซบุ๊กร่วงดิ่ง เหตุเพราะแพลตฟอร์มปรับอัลกอริทึมอีกระลอก ป่วนครีเอเตอร์-คนทำสื่อฯ ดิ้นหนี มองเป็นต้นเหตุล่มสลายของธุรกิจสื่อ ผู้บริหารชี้ นี่คืออุปสรรคต่ออนาคตองค์กร

สถานการณ์คนทำสื่อ-ครีเอเตอร์ในช่วงนี้ต้องเผชิญกับวิบากกรรมการปรับอัลกอริทึมของ “เฟซบุ๊ก” อีกครั้ง ทำให้ยอดทราฟฟิกลดฮวบ อินเตอร์แอกชันลดลง ซึ่งไม่ใช่แค่สื่อไทยเท่านั้นที่ต้องดิ้นปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่สื่อนอกเองก็กำลังเผชิญกับความยากลำบากนี้ไม่ต่างกัน โดยเว็บไซต์ “Gizmodo” ได้เผยแพร่บทความกรณี “เฟซบุ๊ก” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่กลายเป็น “ฮับ” ของบรรดาครีเอเตอร์และสื่อออนไลน์ทั่วโลกปรับลดอัลกอริทึม หรือ “อัตราการมองเห็น” 

โดย “Gizmodo” ระบุว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึมบนเฟซบุ๊กเริ่มเห็นชัดมากขึ้น ทำให้ยอดการเข้าถึงเว็บไซต์ข่าวลดลงอย่างมาก แม้จะไม่มีการประกาศจากเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ แต่บรรดาสื่อ-ครีเอเตอร์ที่ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในการทำงานเป็นหลักให้ข้อมูลตรงกันว่า พวกเขากำลังตกอยู่ภายใต้ “ความเมตตา” ของอัลกอริทึม โดยมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่คล้ายกับเป็นการลงโทษพวกเขาอยู่หรือไม่

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างความหนักใจไม่น้อย แต่ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเฟซบุ๊กเป็นหลัก โดยเฉพาะ “สื่อดิจิทัล” หรือ “สื่อออนไลน์” ต่างไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่อไป พวกเขาเรียกร้องให้บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กอย่าง “เมตา” (Meta) เปิดเผยและสื่อสารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา 

แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลกับ “Gizmodo” เพิ่มเติมว่า อัลกอริทึมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และแย่ลงเรื่อยๆ ในเดือนถัดมา ซึ่งหากดูภาพรวมที่เกิดขึ้นแล้วจะพบว่า ยอดคลิกที่มาจากเฟซบุ๊กลดลงได้ประมาณ 1 ปีแล้ว และลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม

‘เฟซบุ๊ก’ ปรับอัลกอริทึมเพิ่ม คนทำสื่อโอดกระทบอนาคต

อองตวน อามาน (Antoine Amann) ผู้บริหาร “Echobox” ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมีความตั้งใจที่จะลดความสำคัญของข่าว และเลือกดันฟีเจอร์ “วิดีโอ” มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นความท้าทายของคนทำสื่อที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบเรื่องรายได้อย่างรุนแรงจากความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

อย่างไรก็ตาม ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นถูกประเมินว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สื่อชื่อดัง “Vice Media” และ “BuzzFeed News” ปิดตัว-ยื่นล้มลาย โดยบรรณาธิการสำนักข่าวอินไซเดอร์ (Insider) กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อและเฟซบุ๊กที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้ยอดผู้ใช้งานลดลง สำหรับองค์กรที่พึ่งพาแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก อาจต้องเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงขึ้นอย่างการเลิกจ้างงาน เป็นต้น

“ยอดผู้ใช้งานลดลง  ยอดผู้ติดตามลดลง ยอดรับชมวิดีโอลดลง ทั้งหมดนี้เป็นความจริงที่เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือ ระบบนิเวศของเฟซบุ๊กที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการรับชมและการอ่านที่เปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงการแชร์ลิงก์ข่าวในเฟซบุ๊กด้วย”

ด้านผู้สื่อข่าวกีฬาของสื่อแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า สิ่งที่เฟซบุ๊กกำลังทำอยู่ คือ การไม่เคารพซึ่งกันและกัน เขามองว่าเนื้อหาที่สื่อ-ครีเอเตอร์สร้างสรรค์ผ่านแพลตฟอร์มล้วนมีคุณค่าแก่เฟซบุ๊กมาโดยตลอด แต่ในฐานะธุรกิจขนาดเล็ก ดูเหมือนว่า เฟซบุ๊กจะไม่ได้คิดเช่นนั้น

แต่ที่แย่ไปกว่านั้น คือ “แชปเพล” (Chappell) บรรณาธิการบริหาร “Madison 365” บอกกับ “Gizmodo” ว่า เฟซบุ๊กยังทำหน้าที่ตัดสินใจในการให้พื้นที่ประเภทข่าวที่จะไปปรากฏบนหน้าฟีดของผู้ใช้งาน โดยเขาให้ความเห็นว่า ข่าวประเภทการเมือง-มีเนื้อหาหนักมีคนเข้าถึงเนื้อหาเพียง 1,200 คน ขณะที่ข่าวเกี่ยวกับผู้อำนวยการคนใหม่ของโรงเรียนกลับมีผู้ใช้งานเข้าถึงเนื้อหา 120,000 คน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การเปลี่ยนมือบริหารในโรงเรียนไม่สำคัญ แต่การตัดสินใจของเฟซบุ๊กในลักษณะนี้ทำให้เขามองว่า อีกด้านหนึ่งก็คล้ายกับการลดทอนอำนาจการตัดสินใจของบรรณาธิการไปโดยปริยาย

“เราลงทุนทั้งแรงทั้งเวลา แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก” บรรณาธิการ Madison 365 กล่าวปิดท้าย

 

อ้างอิง: Gizmodo