ไล่ล่าหา ‘เรือดำน้ำไททัน’ คำนวณจุดลึก แข่งออกซิเจนเหลืออยู่

ไล่ล่าหา ‘เรือดำน้ำไททัน’ คำนวณจุดลึก แข่งออกซิเจนเหลืออยู่

เรือดำน้ำพาชมซากเรือไททานิกได้นำผู้โดยสาร 5 ชีวิตสูญหายยังก้นบึ้งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ แม้ระดมเจ้าหน้าที่ค้นหาครั้งใหญ่ แต่ยังไร้วี่แวว นี่เป็นเหตุผลที่ยังมีหวังรอดชีวิต

Key Points

  • เรือดำน้ำได้รับการออกแบบให้บรรจุออกซิเจนสำหรับผู้โดยสาร 5 คนในเรือดำน้ำได้นาน 96 ชั่วโมง
  • เรือดำน้ำไททันทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ และไทเทเนียม มีน้ำหนัก 23,000 ปอนด์ ทั้งมีคุณสมบัติด้านการรักษาความปลอดภัย และระบบตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงสร้างเรือดำน้ำลำนี้ 
  • ข้อมูลที่บริษัทยื่นต่อศาลในปี 2564 ระบุว่า เรือดำน้ำไททันสร้างขึ้นตามแบบอย่างห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน แต่มหาวิทยาลัยดังกล่าวบอกว่า ห้องปฏิบัติการนี้ไม่เคยมีการออกแบบ วิศวกรรม หรือร่วมการทดสอบกับไททัน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานในวันนี้ (21 มิ.ย.) ว่า เครื่องบิน P-3 ของแคนาดาได้ตรวจพบคลื่นเสียงสะท้อนใต้ทะเลในคืนวันอังคาร (20 มิ.ย.) ขณะที่หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐไม่อาจระบุแหล่งที่มาของเสียงได้

รัฐบาลสหรัฐได้รับรายงานในวันเดียวกันระบุว่า ทีมค้นหาได้ยินเสียงสะท้อนมาจากใต้ทะเลที่บ่งชี้ว่า ยังคง “มีความหวัง” ของผู้รอดชีวิต

ทั้งนี้ ซีเอ็นเอ็นได้ติดต่อขอความเห็นกับ บริษัท โอเชียลเกท (Ocean Gate) หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐในบอสตัน และหน่วยงานลาดตระเวนทางทะเลในแคนาดาพูดตรงกันว่า เรือดำน้ำไททันออกเดินทางไปชมซากเรือไททานิกที่โด่งดัง นอกชายฝั่งเซนต์จอห์น รัฐนิวฟันด์แลนด์ในแคนาดา แต่แล้วขาดการติดต่อจากเรือดำน้ำลำนี้ ซึ่งเรืออาจมีออกซิเจนไม่เพียงพอสำหรับผู้โดยสารในเรือ

ถึงตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำ เหตุใดจึงขาดการติดต่อ แล้วตอนสัญญาณหายไป อยู่ใกล้เรือไททานิกแค่ไหน 

นี่คือจุดที่เรือดำน้ำไททันหายไป

ไล่ล่าหา ‘เรือดำน้ำไททัน’ คำนวณจุดลึก แข่งออกซิเจนเหลืออยู่

พวกเขามีเวลาเท่าไร

เรือดำน้ำได้รับการออกแบบให้บรรจุออกซิเจนสำหรับผู้โดยสาร 5 คนในเรือดำน้ำได้นาน 96 ชั่วโมง

เมื่อเวลา 13.00 น.ของวันอังคาร หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐประเมินว่าน่าจะเหลือประมาณ 30 ชั่วโมง

นั่นหมายถึงเจ้าหน้าที่มีเวลาถึงช่วงเช้าวันพฤหัสบดีนี้ ในการเร่งมือค้นหา และกู้เรือเพื่อรักษาชีวิตพวกเขา

เทียบระดับความลึกกับตึกสูงระดับโลก

ไล่ล่าหา ‘เรือดำน้ำไททัน’ คำนวณจุดลึก แข่งออกซิเจนเหลืออยู่

กราฟฟิก : CNN

สำหรับผู้รอดชีวิตใต้มหาสมุทรในอดีตคือ โรเจอร์ แชมป์แมน และโรเจอร์ มอลินสัน ได้รับการช่วยเหลือจากเรือดำน้ำ Pisce III ที่ระดับความลึก 1,575 ฟุตในปี 2516 โดยขณะนั้นพวกเขาติดอยู่เป็นเวลา 76 ชั่วโมงก่อนเรือดำน้ำจะถูกลากเหนือผิวน้ำในที่สุด

สิ่งที่ควรรู้คือ ซากเรือไททานิกอยู่ลึกกว่านั้นมาก โดยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเกือบ 13,000 ฟุต

จนถึงตอนนี้ ไม่มีใครรู้ว่า เรือดำน้ำไททันอยู่ในความลึกระดับไหน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ให้เห็นว่า อาจอยู่ใกล้ผิวน้ำ เพราะตามหลักการทั่วไป เรือดำน้ำลดน้ำหนักของเรือเพื่อเพิ่มการลอยตัวได้ ถึงแม้จะลอยตัวเหนือผิวน้ำได้ ประตูก็ยังคงปิดล็อกจากด้านนอก นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารทั้ง 5 ชีวิตยังมีความเสี่ยงขาดออกซิเจน เว้นแต่หน่วยกู้ภัยจะพบเรือดำน้ำ และเปิดประตูออกโดยเร็ว

มารู้จัก เรือดำน้ำไททัน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า เรือดำน้ำแบบ Submersible แตกต่างกับ Submarine บางประการ เพราะมีพลังงานสำรองอยู่จำกัด โดยทั่วไปแล้ว  ไททันจะใช้เวลาปฏิบัติภารกิจใต้ทะเลประมาณ 10 - 11 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำประเภทอื่นๆ ที่อยู่ใต้น้ำได้นานหลายเดือน 

ข้อมูลของโอเชียลเกท ระบุว่า เรือดำน้ำไททันทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ และไทเทเนียม มีน้ำหนัก 23,000 ปอนด์ ทั้งมีคุณสมบัติด้านการรักษาความปลอดภัย และระบบตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงสร้างเรือดำน้ำลำนี้ 

เดวิด โปรเกอร์ ผู้สื่อข่าวซีบีเอส ซึ่งเป็นผู้เคยโดยสารเรือดำน้ำไททันไปชมซากเรือไททานิกเมื่อปีที่แล้วเล่าว่า เรือดำน้ำนี้มีขนาดเล็ก และภายในบางเบา หรือมีพื้นที่พอๆ กับรถมินิแวน 

เรือดำน้ำไททันไม่มีที่นั่ง ผู้โดยสารสามารถนั่งขัดสมาธิบนพื้น ไม่มีหน้าต่างยกเว้นช่องหน้าต่างที่ไว้ชมวิวใต้ท้องทะล ซากเรือไททานิก และมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว

ไล่ล่าหา ‘เรือดำน้ำไททัน’ คำนวณจุดลึก แข่งออกซิเจนเหลืออยู่

กราฟฟิก : CNA

เสียงเตือนด้านความปลอดภัย

บางคนชี้ว่า บริษัท โอเชียลเกท เคยถูกเตือนเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกิจเรือดำท่องเที่ยวใต้ทะเลลึก โดยเจ้าหน้าที่โอเชียลเกท เล่าว่า บริษัทเคยโดนทักท้วงเรื่องนี้จริงเมื่อหลายปีก่อน 

ตัวแทนกฎหมายของโอเชียลเกท ยืนยันคุณลักษณะความปลอดภัยที่ “เหนือชั้น” ของไททัน ซึ่งข้อมูลที่บริษัทยื่นต่อศาลในปี 2564 ระบุว่า เรือดำน้ำไททันสร้างขึ้นตามแบบอย่างห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน แต่มหาวิทยาลัยดังกล่าวบอกว่า ห้องปฏิบัติการนี้ไม่เคยจัดการกับการออกแบบ วิศวกรรม หรือการทดสอบของไททัน

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานเมื่อวันอังคาร ว่า ผู้นำในอุตสาหกรรมเรือดำน้ำยังแสดงความกังวลเมื่อ 5 ปีที่แล้วเกี่ยวกับ “แนวทางการทดลอง” ของบริษัทในการเริ่มภารกิจดำน้ำของไททัน และการเดินทางไปไกลให้ไปถึงเรือไททานิก

เมื่อปี 2561 คณะกรรมการ Manned Underwater Vehicles of the Marine Technology Society ได้มีจดหมายถึงสต็อคตัน รัช ซึ่งเป็นซีอีโอที่หายตัวไปในเรือดำน้ำไททัน

ครั้งนั้นคณะกรรมการฯ เตือนถึง “ผลลัพธ์เชิงลบที่อาจเกิดขึ้น (ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงหายนะใหญ่) ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อทุกคนในอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ตาม โอเชียลเกท ยังไม่แสดงความคิดเห็นต่อข้อเรียกร้อง และเสียงเตือนใดๆ ก่อนหน้านี้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์