หุ้นกลุ่มอุปโภค-บริโภคจีนทรุด สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจซบ

หุ้นกลุ่มอุปโภค-บริโภคจีนทรุด สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจซบ

หุ้นกลุ่มอุปโภค-บริโภคจีนทรุด สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจซบ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 48.8 สวนกระแสการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวและฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วทั้งเอเชียและยุโรปร่วงตาม

ราคาหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจจีนและถูกคาดหวังว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มที่สดใสในตลาดเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลับไม่สดใสดั่งที่คาด จึงทำให้เกิดข้อสงสัยตามมามากมายว่าเพราะเหตุใด ทั้งยังทำให้ต้องหันกลับมามองตัวเลขเศรษฐกิจจีนให้ละเอียดอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงใดของการฟื้นตัว

ยกตัวอย่างหุ้นกลุ่มบริษัทอุปโภคบริโภคชั้นนำ อย่างแบรนด์เบอร์เบอร์รี ที่สร้างรายได้ในจีนเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้โดยรวม และราคาหุ้นกรุ๊ป เอสเอบี บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ที่ผลิตเครื่องครัวทีฟาล์วในจีน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทสูญเสียมูลค่าทางการตลาดในรูปของดอลลาร์ไปแล้วกว่า 10% เมื่อเดือน พ.ค. หลังจากมีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 30% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ 

ราคาหุ้นบริษัทชิเซโด้ก็ร่วงลงไปเกือบ 7% ในเดือนนี้ หลังจากปรับตัวสูงขึ้น 5% ในระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา รวมถึงราคาหุ้นเอสเต ลอเดอร์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ดิ่งลงแรง 25% เมื่อเดือนมิ.ย. จนถึงจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี เมื่อวันพฤหัสบดี(1 มิ.ย.) หลังช่วงต้นเดือน พ.ค. บริษัทหั่นคาดการณ์ยอดขายตลอดทั้งปีนี้ลงอย่างน้อย 10% เมื่อเทียบกับปี 2565

“ฟาบริซิโอ ฟรีดา” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)เอสเต ลอเดอร์ เผยผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ช่วงนั้นว่า “เนื่องจากการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธุรกิจค้าปลีกด้านการท่องเที่ยวในเอเชียปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้เราทราบว่า ตลาดมีความเปราะบางมากกว่าที่คาดการณ์ไว้”
 

หุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภค-บริโภคต่างปรับตัวลดลงเช่นกัน อาทิ ฟอร์เตสคิว เมทัล กรุ๊ป บริษัทเหมืองแร่เหล็กสัญชาติออสเตรเลีย ที่มีรายได้จากประเทศมากจีนที่สุด และเวล บริษัทเหมืองสัญชาติบราซิล ต่างสูญเสียมูลค่าหุ้นในรูปของดอลลาร์เป็นตัวเลขสองหลักเมื่อเดือน พ.ค.

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ให้ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นกลุ่มบริษัทสินค้าอุปโภค-บริโภคไว้ 4 แห่งคือ เอสเต ลอเดอร์, ชิเซโด้, เบอร์เบอร์รี และกรุ๊ป เอสอีบี โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงสิ้นปี 2565 จนถึงสิ้นเดือนเม.ย. ปี 2566 ราคาหุ้นเอสเต ลอเดอร์ ปรับตัวลดลง 0.6% หุ้นชิเซโด้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.1% ขณะที่หุ้นเบอร์เบอร์รีและหุ้นกรุ๊ปเอสอีบีพุ่ง 33.4% และ 37.2% ตามลำดับ

ส่วนในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ปี2566 หุ้นเอสเต ลอเดอร์ ดิ่งแรง 25.4% ขณะที่หุ้นชิเซโด้ร่วงลง 6.7% และหุ้นเบอร์เบอร์รีกับหุ้นกรุ๊ปเอสอีบีดิ่ง 18% และ 18.3% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม แม้หุ้นเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่งได้รับกำไรจากการปรับตัวเข้าสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เมื่อเร็วๆ นี้ แต่ราคาหุ้นของควอลคอมม์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีตลาดสำคัญในประเทศจีน ร่วงลงราว 3% เมื่อเดือนก่อน ขณะที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างอินฟิเนียน บริษัทผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติเยอรมันกลับทำกำไรได้

หุ้นกลุ่มอุปโภค-บริโภคจีนทรุด สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจซบ

ช่วงต้นปี 2566 เกิดแรงซื้อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับหุ้นจีนจำนวนมาก เนื่องจากคาดว่า การยกเลิกมาตรการซีโร่โควิดของรัฐบาลจีนอาจช่วยกระตุ้นดีมานด์ในตลาดและรายได้ของบริษัท ทั้งยังเกิดความกังวลเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรป เพราะนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงหวังว่าจีนจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวแก่เศรษฐกิจโลกได้ แต่ข้อสันนิษฐานว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว ก็เริ่มหายไปในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตร่วง 2.7 จุด สู่ระดับ 49.2 จุดในเดือน เม.ย. ลงมาต่ำกว่าเส้นแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวที่ระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ท่ามกลางความต้องการซื้อสินค้าใหม่ซบเซาลง ยอดขายของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการใช้จ่ายด้านเงินทุนต่างชะลอตัวลงเช่นกัน

“โทโมะ คิโนชิตะ” นักยุทธศาสตร์การตลาดระดับโลก จากอินเวสโก แอสเซต แมเนจเมนต์ญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า “ตัวชี้วัดเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน เม.ย. คลาดเคลื่อนไปจากที่คาดการณ์ หลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ในจีน จะไม่ได้รับกระแสตอบรับแบบเดียวกับช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.”

นอกจากนี้ ดัชนีมาตรฐานหลายตัวยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่คล้ายกัน โดยขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น 10% และหุ้นนิกเคอิปนับตัวขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20% ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย. แต่ดัชนีซีเอสไอ 300 ที่ประกอบไปด้วยหุ้นบริษัทชั้นนำในเซี่ยงไฮ้และเมืองเสิ่นเจิ้นของจีนกลับอยู่ในแดนลบ

ช่วงปลายเดือนพ.ค. บริษัทซิตี้กรุ๊ป ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นบริษัทจีนจากเดิมเป็นหุ้นที่ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (overweight) กลายเป็นหุ้นที่ควรลงทุนในสัดส่วนเดิม (neutral)

ข้อมูลจากหน่วยงานวิจัยของซิตี้ ที่บริหารโดยเดิร์ก วิลเลอร์ กล่าวถึงการเติบโตของหุ้นจีนว่า น่าผิดหวังทั้งในด้านข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเติบโตของหุ้นจีนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ประมาณ 5% ไม่อยู่ในจุดที่อันตราย แต่การใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพไม่น่าจะได้ผลในระยะสั้น

“โป จวง” นักวิเคราะห์อาวุโส จากบริษัทลูมิส เซย์เลส อินเวสเมนต์ เอเชีย บอกว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในอดีตยังคงซบเซาอยู่ การลงทุนในภาคส่วนดังกล่าวยังไม่แข็งแรงพอ ที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นตัวเทียบเท่าการเติบโตในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

เมื่อวันพุธ (31 พ.ค.) จีนประกาศว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 48.8 สวนกระแสคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและฉุดให้หุ้นทั่วเอเชียและยุโรปปรับตัวร่วงลง

“ฮิโรยูกิ อูเอโนะ” หัวหน้านักยุทศาสตร์จากสุมิโตโมะ มิตซุย ทรัสต์ แอสเซต แมเนจเมนต์ กล่าว “เราไม่สามารถคาดหวังว่าหุ้นในตลาดจีนจะเติบโตอย่างในอดีต ซึ่งการคาดหวังแบบนั้น จะส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจีนไม่สามารถสร้างกำไรจากการเติบโตของหุ้นได้”